กลไก 'กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ' ตัวอย่างการดูแลจาก 3 อบจ. เพิ่มคุณภาพชีวิต 'สูงวัย-ผู้พิการ' เชื่อมโยงสุขภาพจากต้นน้ำถึงปลาย
15 สิงหาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

3 อบจ.ใช้กลไก "กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ" ดูแลกลุ่มเป้าหมาย "สูงวัย-คนพิการ-ผู้ป่วยพึ่งพิง" ได้ผล โคราช สานพลังปรับปรุงบ้าน ตั้งศูนย์สุขภาพใจใกล้บ้าน สระบุรี ปั้นนักฟื้นฟูชุมชนดูแลบริการชุมชน ด้านสงขลา เครือข่ายเข้มแข็ง ทำงานบนฐานข้อมูลเดียวกัน


การประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ปี 2565 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การพัฒนากองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 3 แห่ง นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ประกอบด้วย อบจ.สระบุรี อบจ.นครราชสีมา และ อบจ.สงขลา ถึงการใช้กลไกดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีภาวะพึ่งพิงในแต่ละพื้นที่ เพื่อตัวแทนอบจ.ทั่วประเทศได้นำแนวคิดกลับไปพัฒนาจังหวัดต่อไป


นายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม รองนายกอบจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดนครราชสีมา เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งดำเนินการตามที่ สปสช.กำหนดในภาพรวม คือ จัดตั้งศูนย์ซ่อมกายอุปกรณ์ ตั้งศูนย์ยืมคืนอุปกรณ์ทางการแพทย์


อย่างไรก็ตาม กองทุนฟื้นฟูฯ ยังมีกลไกที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายดีขึ้น อาทิ ตั้งแต่ปี 2558 ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายพื้นที่ ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมเป็นคณะทำงานคัดเลือกผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้มีภาวะพึ่งพิงและผู้ป่วยระยะกึ่งเฉียบพลัน ที่ต้องปรับปรุงสภาพบ้าน โดย กองทุนฟื้นฟูฯ สนับสนุน 5 หมื่นบาท/หลัง ทำให้ปัจจุบันมีการปรับสภาพบ้านไปแล้ว 1,504 หลัง


นอกจากนี้ ยังมีโครงการใหม่ๆ ที่เพิ่มเติม เช่น การจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสุขใจใกล้บ้าน ทำหน้าที่เชื่อมโยงการดูแลสุขภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือเป็นสถานีสุขภาพ ทำหน้าที่คัดกรองสุขภาพของคนในชุมชน โรงเรียนเบาหวาน โรงเรียนผู้สูงอายุ และเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังและกลุ่มที่ต้องการฟื้นฟูสุขภาพ ปัจจุบันมี 9 แห่ง ซึ่งในปี 2566 จะตั้งเป้าให้มีศูนย์ดังกล่าวครบทุกอำเภอ


"โครงการต่างๆ ได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดีสำหรับการใช้ประโยชน์จากกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายดีขึ้น และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพใจก็ยังช่วยเสริมสุขภาวะในชุมชน" นายวีระชาติ กล่าว


ด้าน นายธนกฤต อัตถะสัมปุณณะ รองนายก อบจ.สระบุรี กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดสระบุรี เริ่มตั้งแต่ปี 2556 โดยกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานกองทุน คือ การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย มีการบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนในรูปแบบของคณะกรรมการและอนุกรรมการ ตั้งแต่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลและ รพ.สต. ในแต่ละพื้นที่ เทศบาล และ อบต. หน่วยงานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) องค์กรผู้พิการ ตลอดจน องค์กรภาคเอกชนต่างๆ ทำให้ผลการบูรณาการออกมาค่อนข้างชัดเจน


สำหรับโครงการสำคัญของกองทุนฟื้นฟูฯจังหวัดสระบุรี มีหลายโครงการ อาทิ โครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เริ่มตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันปรับสภาพบ้านได้ 470 หลังคาเรือน โครงการจัดหากายอุปกรณ์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ ปัจจุบันสามารถผลิตหรือจัดหาได้กว่า 40 รายการ เช่น เตียง รถเข็น ที่นอน ฯลฯ และมอบให้ผู้ที่ต้องการใช้ ยืมไปใช้แล้วกว่า 1,500 ราย


"นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ เช่น ศูนย์ร่วมสุข .สระบุรี ดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันมี 72 ศูนย์ทั่วจังหวัด และยังตั้งศูนย์ต้นแบบเพิ่มอีก 14 ศูนย์ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการแบบใกล้บ้านใกล้ใจ มีนักกายภาพบำบัดลงพื้นที่ไปให้บริการ ตลอดจนอบรมนักฟื้นฟูชุมชนให้บริการดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ โดยสรุปในภาพรวมแล้วสิ่งที่เราทำนั้นเห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์และเกิดความสุขกับประชาชนจังหวัดสระบุรี ดังนั้นจึงอยากอยากเชิญชวน อบจ. ในทุกๆจังหวัด ให้ความสำคัญและเข้ามาร่วมกันดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูฯ "นายธนกฤต กล่าว


ขณะที่ นายอับดลรอหมาน กาเหย็ม รองนายก อบจ.สงขลา กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสงขลา เริ่มดำเนินการปี 2558 โดยเน้นการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคม ปัจจุบันมีกว่า 800 เครือข่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานของกองทุน และกระบวนการส่งเสริมความเข้มแข็งในการทำงานโดยให้ อบจ. เป็นศูนย์กลาง ประสานการทำงานและแสวงหาหุ้นส่วนในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างกลไก เป้าหมายกลางในการทำงานร่วมกัน


รวมทั้งการบูรณาการฐานข้อมูลกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจับมือกับ 11 องค์กรเครือข่าย บูรณาการระบบฐานข้อมูลกลางร่วมกัน โดยมี อบจ.สงขลาเป็น Center บริหารจัดการข้อมูล ซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนทำงานบนฐานข้อมูลเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนและลดช่องว่างในการทำงาน นอกจากนี้ ยังเน้นการการจัดทำแผนงานโครงการแบบบูรณรการร่วมกันกับองค์กรเครือข่าย การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่ ตลอดจนเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน


ขณะเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนมีการสร้างความยั่งยืน จึงมีการประกาศข้อบัญญัติท้องถิ่นเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ..2559 และข้อบัญญัติเรื่องศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ ..2559 ทำให้ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารไปเป็นชุดใหม่ แต่กองทุนฟื้นฟูฯยังคงได้รับการดูแล นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแผนการดำเนินงาน แผนอัตรากำลัง กำหนดนโยบายและจัดสรรทรัพยากร วางแนวทางพัฒนากองทุนอย่างมีระบบ สอดคล้องกับแผนพัฒนาท้องถิ่นระยะ 5 ปี เป็นหลักประกันว่ากองทุนนี้จะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่


ด้าน นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ประเทศไทยเปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นจุดสำคัญในการดำเนินภารกิจสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพต่างๆ นอกจากนี้ ในอนาคตการทำงานในระดับพื้นที่จะเป็นคำตอบในการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนในจังหวัด ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน