ฝนตกไม่ทั่วฟ้าที่ 'ภูเก็ต' เมื่อโปรเจกต์ 'แซนด์บ็อกซ์' อาจเข้าไม่ถึงคนตัวเล็ก บทเรียนจากการประเมิน ‘HIA'
16 สิงหาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

"ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่โด่งดังมากที่สุดของรัฐบาล ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อกลางปี 2564 ที่ผ่านมา เนื่องด้วยความต้องการเม็ดเงินเข้าประเทศจากการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับข้อเรียกร้องของภาคธุรกิจใน จ.ภูเก็ต ที่ต้องการมีการเปิดพื้นที่ ภายหลังรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยวของจังหวัดหายไป แล้วความซบเซากลับเป็นฝ่ายที่ย่างกรายเข้ามาในภูเก็ตแทน


การเรียกร้องที่นำไปสู่การเปิดพื้นที่ จ.ภูเก็ต ให้นำร่องการท่องเที่ยวกลางสถานการณ์โควิด-19 แม้ภาพรวมอาจจะมองเรื่องของรายได้จากการท่องเที่ยว การกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย แต่อีกด้านที่ต้องเรียนรู้จากโครงการนี้ คือ ผลสะท้อนด้านคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ที่ต้องศึกษาและประเมินนโยบายของภาครัฐว่าโปรเจกนี้ ได้สร้างผลดี หรือทิ้งผลเสียในเรื่องใดบ้าง


นับเป็นโอกาสดีที่งานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ "HIA Forum" ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 8-9 ส.ค. 2565 มีเวทีแลกเปลี่ยนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ของภาคีเครือข่ายในระดับต่างๆ จากภาคีเครือข่ายหลายพื้นที่


สำหรับ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการหยิบยกถึงผลต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากนโยบาย โดยเฉพาะกับประเด็นที่ว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างรายได้กระจายได้ทั่วถึงผู้คนทั้งเกาะภูเก็ต หรือมีผลกระทบใดๆ บ้างหรือไม่


ดร.ศิริพร เพ็งจันทร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี หนึ่งในทีมคณะทำงานประเมิน HIA จากนโยบายภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ให้ภาพว่า การทำงานครั้งนี้เป็นการฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายชนิดที่เรียกว่า “มากที่สุด” โดยใช้วิธีการประเมิน HIA ที่เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการ “ฟัง” เพื่อถอดออกมาเป็นผลการประเมิน


ทั้งนี้ คณะทำงานได้ทบทวน กำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินโครงการ ก่อนนำไปสู่สาธารณะโดยมีเป้าหมายคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่มีหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อเก็บข้อมูลทุกด้านของโครงการ กระทั่งนำไปสู่การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และร่วมกันตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อประเมินแนวทาง รูปแบบ และความเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะที่หากเกิดขึ้นอีกในอนาคต


ดร.ศิริพร สะท้อนถึงรายละเอียดจากการประเมินผลกระทบว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์วางเป้าหมายจะต้องมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1 แสนคน ซึ่งในความเป็นจริงมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 5.9 หมื่นคน ส่วนรายได้เข้าประเทศนั้น มีรายได้จากนักท่องเที่ยว 4,260 ล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียนในภูเก็ตช่วง 120 วัน ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ก่อเกิดการจ้างงานอีก 1.3 หมื่นคน


ขณะเดียวกันข้อมูลจากเอกสารที่ได้ทำการประเมิน พบว่า กลุ่มโรงแรม 5 ดาวมีอัตราจองเข้าพักเต็มหมด เนื่องจากมีการลดราคาห้องพัก กระตุ้นการเข้าพัก รวมถึงคนใน จ.ภูเก็ต กล้ากลับมาใช้จ่ายมากขึ้น บางส่วนกลับมามีรายได้ ซึ่งทิศทางของนโยบายพุ่งไปในทางที่ดีขึ้น


แต่กระนั้น เมื่อมองลึกลงไปถึงรายได้จากนักท่องเที่ยว คณะทำงานที่ประเมินผลกระทบก็ได้รับเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่ รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจรายเล็กว่า “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” เพราะถึงแม้จะมีเงินสะพัดหลายพันล้านบาท แต่ในจำนวนนี้มีประชาชนเพียงแค่ 27% เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์


ในขณะที่ส่วนที่เหลือ กลับพบปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่ครอบคลุมผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงคนในระดับชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ที่เป็นคนตัวเล็ก


ดร.ศิริพร ยังถ่ายทอดประสบการณ์ประเมินภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในแง่ผลกระทบต่อสังคม โดยให้ภาพว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์อาจจะสร้างรายได้ แต่อีกด้านกลับพบว่าความลำบากในการใช้ชีวิตของผู้คนในช่วงดังกล่าว ยังไม่ได้รับการแก้ไข


เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้น ไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิต ทั้งมาตรการเข้า-ออก จ.ภูเก็ต ที่เข้มงวด การตรวจโควิด-19 สำหรับคนภูเก็ตที่ต้องการเข้าพื้นที่ที่มีราคาแพง หรือกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มองว่าถูกทอดทิ้งจากนโยบายภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพราะมาตรการของรัฐดูเหมือนว่าให้ประโยชน์กับภาคกับธุรกิจท่องเที่ยว ผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่า


แรงงานนอกระบบ หรือคนในภูเก็ตที่เป็นรายเล็ก เสียโอกาสรับเงินชดเชย 3,500 บาท ในระยะเวลา 2 เดือน เพราะส่วนราชการไม่สามารถประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เนื่องจากมีนโยบายภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ หรือเงื่อนไขการเข้าถึงสัญลักษณ์ SHA+ ที่เป็นมาตรฐานรับรองความปลอดภัยโควิด-19 ซึ่งก็ไม่ได้วางระบบให้กับผู้ประกอบการทุกระดับให้เข้าถึงได้” ดร.ศิริพร กล่าว


นอกจากนี้ ภาพการประเมินยังสะท้อนถึงความต้องการของคนในพื้นที่ผ่านโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่อยากให้มีการเชื่อมต่อ และสานชุมชนเข้าไปกับโครงการของรัฐ เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลกันระหว่างชุมชน ภาคเอกชน ที่ได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกัน และได้กระจายรายได้อย่างทั่วถึง และเป็นธรรมระหว่างกัน


ภูเก็ตคือเมืองระดับโลก การกระตุ้นต่างๆ เพื่อให้เกิดรายได้จากพื้นที่นี้ก็พุ่งไปยังผู้ประกอบการขนาดใหญ่ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการสานเข้ากับชุมชน อาจจะเป็นการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนมาสู่การท่องเที่ยว หรือการหาวัตถุดิบอาหารของโรงแรมใหญ่ที่มุ่งมาหาชุมชนมากขึ้น หรือการเชื่อมการท่องเที่ยวไปสู่ผู้ประกอบการรายเล็ก สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์สำหรับอนาคตที่ต้องมองด้วยเช่นกัน ซึ่งหากทำได้จะลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคมได้ในระยะยาว” ดร.ศิริพร กล่าวในตอนท้าย