สานความร่วมมือพัฒนา 'งานวิจัย' ยกระดับ 'บริการสุขภาพ' จ.น่าน ปั้น 'Tele-health' พื้นที่ห่างไกล ดูแลกลุ่มชาติพันธุ์-กลุ่มเปราะบาง
17 สิงหาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สวรส.-สสจ.น่าน สานความร่วมมือ เน้นพัฒนาระบบ Tele-health สู่การบริการสุขภาพ ทั่วถึง-เท่าเทียม-มีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างงานวิจัย-นักวิจัย ตอบโจทย์การใช้ประโยชน์ได้จริง


สถานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน (สสจ.น่าน) ลงนามบันทึกความร่วมมือพัฒนาระบบสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายร่วมกันในการร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้ดีขึ้น ตลอดจนร่วมมือพัฒนาเชิงระบบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ที่มีความคล้ายคลึงกัน


นายธีรธัช กันตามระ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวรส. เปิดเผยว่า งานวิจัยจะแก้ปัญหาและใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลในพื้นที่นั้นๆ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ทฤษฎีบางอย่างอาจใช้ไม่ได้เสมอไป บางสถานการณ์อาจต้องมีการผสมผสานกับการใช้องค์วามรู้ของภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่นร่วมด้วย


นายธีรธัช กล่าวว่า สวรส.ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ที่มาจากการเรียนรู้ร่วมกันกับคนในพื้นที่ พร้อมทั้งสนับสนุนการสร้างความรู้ และการสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ ซึ่งบุคลากรด้านสาธารณสุขของ .น่าน มีความรู้ความสามารถเป็นทุนอยู่แล้ว ซึ่งการพัฒนานักวิจัยและการสร้างงานวิจัยร่วมกันจะช่วยเติมเต็มให้สามารถนำความรู้มาใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการทำงานร่วมกับประชาคมจังหวัดน่านที่มีความเข้มแข็ง




ด้าน ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2560 นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง สวรส. และ สสจ.น่าน ซึ่งมีกระบวนการทำงานร่วมกันทั้งการสร้างความรู้ โดยการสนับสนุนงานวิจัยที่เป็นโจทย์วิจัยเพื่อตอบสนองปัญหาในพื้นที่ เช่น การพัฒนาสุขศาลาพระราชทาน การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน กรณีมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ประเทศลาว ฯลฯ และการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย


ดร.จุไรรัตน์ กล่าวอีกว่า เชื่อว่างานวิจัยจะเป็นองค์ความรู้เชิงประจักษ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และช่วยแก้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยพื้นที่ .น่าน มีประเด็นความร่วมมือสำคัญ ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบ Tele-health เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ มาใช้ให้เกิดการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของกลุ่มประชากรในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มเปราะบางต่างๆ


2. การประเมินผลกระทบ/ความคุ้มค่าและส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เช่น โครงการวิจัยสุขศาลาพระราชทาน โครงการส่งเสริมพัฒนาการและสร้างวินัยเชิงบวกในเด็กปฐมวัยโดยครอบครัวมีส่วนร่วม โครงการลดอุบัติเหตุทางถนน ฯลฯ และ 3. การพัฒนาโจทย์วิจัยใหม่และนักวิจัยหน้าใหม่


ด้าน นพ.วรินทร์เทพ เชื้อสำราญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน กล่าวว่า ประชากรน่านส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของ .น่าน จึงให้ความสำคัญกับการบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ ซึ่งเป็นการให้บริการสุขภาพพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต 


อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่าง สสจ.น่าน และ สวรส. จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนางานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ด้วยความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข โดยใช้วิธีคิดเชิงระบบ และกระบวนการวิจัยมาปรับใช้และพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น