
ฟังมุมมองนักเภสัชวิทยา เมื่อเรา ‘ติด’ กัญชา กาย-ใจ-ปัญญา เสื่อมถอย นับถอยหลังสู่ ‘โรคจิต’ ได้?18 สิงหาคม 2565
กว่า 2 เดือนที่ “กัญชา” ในประเทศไทยถูกปลดปล่อยให้ได้รับอิสระ มีเสรีในการใช้ (เพื่อการแพทย์) แต่ความกังวลจากสังคมต่อการใช้กัญชาในหมู่ชน ยังคงมีมาต่อเนื่อง
หากว่ากันตามตรง การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ อาจจะไม่ใช่เรื่องเดียวที่คนส่วนใหญ่มองมากนัก แต่การ “สูบ” เพื่อความบันเทิง ความสนุกสนาน และสร้างความผ่อนคลาย ดูอาจกลายเป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสนใจมากกว่า
เมื่อการเข้าถึงเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น อุปกรณ์การสูบต่างๆ สามารถหาได้ทั่วไป และที่สำคัญคือข้อกำหนดการใช้กัญชาที่เอื้อมากขึ้น องค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายกว่าที่เคย และอาจกระตุ้นให้คนอยากใช้ “กัญ” มากขึ้น
ความหวั่นวิตกของการเข้าถึงกัญชาที่ดูเหมือนว่าจะง่ายเกินไปนี้ เมื่อเข้าถึงง่าย ก็จะทำให้เกิดการใช้กัญชาบ่อยครั้ง มากครั้งขึ้นตามมา ซึ่งอีกประเด็นที่ถูกละเลยจากคนใช้กัญชา และนำไปสู่ความกังวลอย่างจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ ของทุกภาคส่วนที่ห่วงใย คือผลกระทบของการใช้กัญชาต่อร่างกาย
เพราะด้วยความสนุก ความบันเทิง ความผ่อนคลายจากฤทธิ์ของกัญชาที่มอบให้กับร่างกาย จึงทำให้มองข้ามผลกระทบแง่ร้ายที่ร่างกายจะได้รับจากกัญชาด้วยเช่นกัน
รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ จากภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือผู้หนึ่งที่ออกมาให้ความรู้พื้นฐานด้านการใช้กัญชาให้กับประชาชน ผ่านเวทีอบรมด้วยระบบทางไกลเรื่อง "กัญชากับการนอนหลับ" ซึ่งจัดโดยสมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย และศูนย์โรคการนอนหลับ โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2565
อาจารย์จุฑามณี ให้ภาพว่า กัญชาในบ้านเราที่นิยมปลูกกันมานาน จะเป็นสายพันธุ์หางกระรอก ปลูกง่าย โตเร็ว ซึ่งสายพันธุ์นี้ ส่วนของช่อ ดอก จะให้สาร THC ในสัดส่วนที่สูงอย่างมาก
ทั้งนี้ ในกัญชาจะมีสารที่เรารู้จักกันดีที่เรียกว่า THC และ CBD ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายได้รับจากการใช้กัญชาผ่านวิธีต่างๆ ทั้งการสูบ การหยดใต้ลิ้น หรือการกินขนม-อาหารที่ส่วนผสมกัญชา และสารนี้จะมีผลกระทบต่อร่างกาย โดยเฉพาะกับประสาทส่วนกลาง
สาร THC ในกัญชามีผลต่อระบบทางจิตประสาท และมีฤทธิ์ในทางการรักษา เช่น ต้านอาเจียน กระตุ้นความอยากอาหาร หรือแก้ปวด ส่วนสาร CBD จะไม่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท แต่จะมีผลต่อการรักษาซึ่งช่วยในการรักษาโรคลมชัก หรือลดอาการเกร็งของร่างกาย
อาจารย์จุฑามณี บอกอีกว่า หากแต่สิ่งที่คนไทยให้ความสนใจกันจริงๆ เมื่อว่าตามตรง คือการได้รับสาร THC จากกัญชา ควบรวมไปกับวิถีการเสพกัญชาของคนไทย ที่นิยมใช้การสูบนั้น สาร THC จากกัญชาจะวิ่งเข้าสู่ปอดผ่านการเผาไหม้ และจากนั้นจะวิ่งเข้าสู่สมองอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีผลต่อการยับยั้งการหลั่งของ “สารสื่อประสาท” ที่เป็นระบบสั่งการของสมองไปยังประสาทต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดความช้า ง่วงซึม และมีผลต่อความจำ และการทำงานของสมอง
เธอย้ำว่า สาร THC ที่ได้จากกัญชานั้น แม้จะทำให้มีความเมา มึน อารมณ์ดี เคลิ้ม รู้สึกผ่อนคลายกับผู้ใช้ แต่อีกด้านเราอาจจะไม่รู้ว่า ร่างกายจะเสื่อมถอย สุขภาพจิตที่เคยตัดสินใจด้วยสติและปัญญา พร้อมสัมปชัญญะด้วยการกำหนดจิตให้ตั้งแม่นแน่วแน่ สิ่งเหล่านี้ก็จะช้าลงด้วยเช่นกัน
ด้วยว่าเมื่อเสพมากๆ ไม่ว่าจะวิธีการใด ทั้งมวนสูบ สูบบ้อง หรือหยดน้ำมันใต้ลิ้น หากใช้ระยะยาว ใช้ต่อเนื่อง เพิ่มปริมาณไปเรื่อยๆ กระทั่งเป็นอาการที่เรียกว่า "ติด" แล้ว จะต้องระวังอย่างมาก เพราะพุทธิปัญญา พฤติกรรมจะผิดเพี้ยนชนิดไม่กลับคืน และที่สำคัญคือมีโอกาสเป็นโรคจิตได้จริงๆ
ผลกระทบที่ว่าจะมีน้ำหนักมากขึ้น หากเสพกัญชาเข้าไปเยอะจนเกินไป เพราะการสั่งการของสมองจะมีปัญหาตามมาทันที ทำให้พูดไม่รู้เรื่อง นึกอะไรไม่ออก เรียบเรียงคำพูดไม่ได้ เพราะสมองได้รับการกระทบกระเทือน จนไม่อาจสั่งการไปยังประสาทส่วนอื่นๆ ได้เลย
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่มากขึ้นสำหรับการป่วยอาการทางจิต ควบรวมด้วยอาการหวาดระแวง มีอาการหลอนเกิดขึ้น อีกทั้งสติปัญญาที่ใช้สำหรับการตัดสินใจจะช้าลงหมด ทั้งความจำบกพร่อง การสั่งการกล้ามเนื้อก็จะช้าลง ประสิทธิภาพ สมรรถนะถดถอยไปกว่าเดิม
“ขณะที่ผลกระทบต่อร่างกายเมื่อใช้ปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้หลอดเลือดสมอง-หัวใจ หดตัวแบบผันกลับ หัวใจจะเต้นช้าลง หลอดเลือดขยาย ความดันต่ำ หรืออาจเหนี่ยวนำให้หลอดเลือดบางส่วนหดตัวง่าย เหนือไปกว่านั้น สาร THC มีผลกระตุ้นการเกาะกลุ่มกันของเกร็ดเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการทางสมองขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน” รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี ถ่ายทอดข้อเสียจากการใช้กัญชาที่มากจนเกินไป
เธอขยายความอีกว่า ข้อเสียของกัญชาที่มีผลต่อร่างกายหากใช้ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้อง จึงนำไปสู่ข้อห้ามที่ไม่ให้ขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล รวมถึงคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการบรรยาย ให้ความรู้ ที่จะมีผลกระทบเช่นกัน เพราะการทำงานของสมองจะลดประสิทธิภาพลงในการสั่งการไปยังปลายประสาทส่วนต่างๆ ของร่างกาย
“คนเลือกสูบกัญชาเพราะผ่อนคลาย แต่ระยะยาวสารในกัญชาจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด แต่หลายคนอาจมองแค่ว่าสนุกสนาน นอนหลับดีเมื่อใช้ แต่ไม่ได้นึกถึงข้อเสียอื่นๆ ของกัญชาที่จะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว” นักเภสัชวิทยารายนี้ย้ำ
รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี บอกอีกว่า ขณะเดียวกัน อีกส่วนหนี่งก็เลือกใช้กัญชาเพื่อระงับอาการเจ็บปวดของร่างกาย ซึ่งหากว่ากันตามจริง กัญชาก็ไม่ได้มีฤทธิ์ที่ช่วยลดอาการปวดได้มากกว่ายาแผนปัจจุบันเท่าใดนัก แต่กระนั้น หากใช้กัญชาตามที่แพทย์แนะนำ มีปริมาณความเข้มข้นของสาร THC อย่างเหมาะสม ก็ช่วยเสริมการรักษาอาการต่างๆ ของร่างกายได้
“คนไทยอาจจะชอบกันมาก ยิ่งเสรี และไม่ผิดกฎหมายด้วย บวกกับความเชื่อดั้งเดิมว่ากัญชาก็คือสมุนไพรนะ แต่จริงๆ แล้วสมุนไพร พืช ก็มีสารเคมีเช่นกัน กัญชาก็เป็นพืชที่ดูดซับสารพิษได้อย่างรวดเร็วมาก แต่หากอยากใช้จริงๆ ก็ควรไปคลินิคกัญชาทางการแพทย์จะดีกว่า เพราะหมอเองก็จะได้แนะนำ และตรวจวินิจฉัยกันก่อนว่า สาเหตุที่ต้องใช้เพราะอะไร และควรใช้ในปริมาณเท่าใดที่จะเหมาะสมกับร่างกายแต่ละคน” อาจารย์เภสัชฯ รายนี้ ระบุ
รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สำทับลงไปอีกว่า ที่สำคัญผู้สนใจจำเป็นจะต้องรู้โรคประจำตัว ยาที่ใช้เป็นประจำเพื่อรักษาอาการ จากนั้นควรไปพบแพทย์ที่คลินิคกัญชาที่มีความรู้ ผ่านการอบรมการใช้กัญชาอย่างถูกวิธี ผ่านองค์ความรู้ และผ่านการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้การใช้กัญชาควบคู่ไปกับการใช้ยาประจำตัว มีประสิทธิภาพที่ดีต่อร่างกายมากที่สุด
อีกสิ่งที่สำคัญคือ หากสาร THC และ CBD ในกัญชามีปริมาณความเข้มข้นที่ไม่เหมาะสม เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปลดประสิทธิภาพ และทำลายยาอื่นที่ร่างกายได้รับ เช่น หากคนไข้กินยาความดันหรือยาเบาหวานอยู่ แต่เมื่อใช้น้ำมันกัญชาเข้าไปด้วย น้ำมันกัญชาจะเข้าไปลดการทำงานของยาความดัน หรือยาเบาหวาน หรือเร่งการทำงานของยา ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน
เธอระบุว่า ในส่วนของคนที่ใช้อยู่แล้วก็อยากให้เลิกถ้าทำได้ ซึ่งหลายหน่วยงานออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน และมาช่วยกันหลายหน่วยงาน ก็จะเป็นเรื่องดีมากๆ เพราะหากเด็ก เยาวชนไปใช้กัญชากันตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะติดได้ง่าย มีผลกระทบต่อพัฒนาการ การเจริญเติบโตของสมอง และทำให้ไอคิวของเด็กลดลง
“ถ้าจะใช้กันจริงๆ ทางออกเดียวเลย คือไปคุยกับหมอให้เข้าใจ เพราะเจตนาการใช้กัญชาในบ้านเราก็เพื่อทางการแพทย์อย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่ก็ใช้กันเพื่อผ่อนคลาย สันทนาการ ซึ่งหากเลิกได้ ก็ควรจะเลิก เพราะสาร THC มันน่ากลัวกว่าที่คิด” รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี ทิ้งท้าย