
ยกระดับ 'Advance Care Plan' สช.ย้ำสำเร็จได้ด้วยพลังรัฐ-ปชช. ชูไอเดีย 'ประกันฯประคับประคอง' เพิ่มทางเลือกดูแลชีวิตระยะท้าย20 สิงหาคม 2565
รองเลขาฯ คสช. ย้ำยกระดับ Advance Care Plan ให้สำเร็จต้องสานพลังภาครัฐ-ประชาชน ชูแนวคิดประกันสุขภาพ-ประกันชีวิต เพิ่มแพ็กเกจการดูแลแบบประคับประคองตามเจตนา เป็นทางเลือกให้ประชาชน
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยตอนหนึ่งในการประชุมวิชาการนานาชาติ Khon Kaen International conference in Palliative Care ที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2565 ถึงประเด็นก้าวต่อไปของประเทศไทย กับการวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า หรือ Advance Care Plan (ACP)
นพ.ปรีดา ระบุว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ ACP เกิดผลสำเร็จกับประชาชน จะต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานของรัฐ และภาคประชาชน ซึ่ง สช.ได้ช่วยบริหารจัดการให้เกิดพื้นที่กลาง เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มาแลกเปลี่ยนความเห็นและเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อให้มีข้อเสนอที่จะช่วยยกระดับการวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้าให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในส่วนการรับรู้ของบุคลากรสาธารณสุข และนักศึกษาแพทย์ ส่วนใหญ่จะทราบว่าผู้ป่วยมีสิทธิในการวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า รวมไปถึงสิทธิในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่รับรองสิทธิของประชาชนในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ซึ่งทั้งหนังสือแสดงเจตนาฯ และการวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า เป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care
ทั้งนี้ จากการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคลากรสาธารณสุข เห็นตรงกันว่าประชาชนหรือผู้ป่วย ก็ต้องได้ใช้สิทธิในการวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า หรือการใช้หนังสือแสดงเจตนาฯ ซึ่งก็เป็นอีกความท้าทายที่ต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า จะส่งผ่านความรู้ในสิทธิดังกล่าวไปสู่ประชาชนได้อย่างไร
นพ.ปรีดา กล่าวอีกว่า กลุ่มธุรกิจประกันสุขภาพอาจจะหันมาสนใจในเรื่องนี้ ในการจัดชุดสิทธิประโยชน์ หรือข้อเสนอที่เป็นทางเลือกอื่นๆ ให้กับประชาชนที่สนใจทำประกันสุขภาพ หรือประกันชีวิต ที่มีความเหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วย เช่น มีชุดแพ็กเก็จปรับเปลี่ยนจากการรักษาผู้ป่วยระยะท้ายในห้องไอซียู มาเป็นรักษาแบบประคับประคองที่บ้านตามเจตนาของผู้ป่วย หรือจัดแพ็กเก็จประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับความต้องการ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยในช่วงท้ายของชีวิต
“ปัจจุบันคนุร่นใหม่มองความตายเป็นเรื่องที่ไม่น่ากลัว สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มีชุดความรู้เพื่อให้เตรียมการไว้ก่อน ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีในการสร้างความรอบรู้ด้านสิทธิในการจัดการสุขภาพของตัวเอง” นพ.ปรีดา กล่าว