
เกี่ยวดอง 'แผนสุขภาพท้องถิ่น' สอดรับ 'แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ' 'ชาญเชาวน์' แนะหลักคิด อปท. เชื่อมประสานงบ-งานจากส่วนกลาง22 สิงหาคม 2565
หนึ่งในหัวใจของการอบรมหลักสูตร “การจัดการระบบสุขภาพท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม” เพื่อพัฒนาศักยภาพกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รองรับการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย ระหว่างวันที่ 19-21 ส.ค. 2565 คือการถ่ายทอดแนวทางการทำ “แผนงานด้านระบบสุขภาพ” เมื่อ อบจ. จะต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการ บริหารระบบบริการสุขภาพมูลฐาน เนื่องจากจะต้องรับการถ่ายโอน รพ.สต. ที่เป็นสถานบริการที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมาบริหารจัดการ ด้วยว่าท้องถิ่นคือหน่วยงานที่ทรงพลัง และอยู่ใกล้ชิดประชาชนที่ต้องดูแลทุกมิติ เพื่อให้คุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น
สำหรับ “แผนงานด้านระบบสุขภาพ” เป็นอีกหนึ่งกลไกที่หากมีการสร้างแนวทางเครื่องมือที่ถูกต้อง ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะกับจุดแรกเริ่มจากคนชุมชน ท้องถิ่นที่เข้มแข็ง สถานบริการสุขภาพมีประสิทธิภาพ ทุกอย่างจะนำไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้ในทุกมิติ
แต่กระนั้น “แผนงานด้านระบบสุขภาพ” จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ” ในการสร้างความยั่งยืน เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงาน รวมถึงงบประมาณร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐได้ เพื่อให้เป้าหมายการทำให้ทั้งประเทศมีความยั่งยืนได้เกิดขึ้นจริง
เพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนของแผนสุขภาพระดับท้องถิ่น ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะมีส่วนร่วม ให้เชื่อมไปยังแผนพัฒนาประเทศให้ได้ ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ และยังเป็นประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 15-16 พ.ศ. 2565-2566 ได้ออกมาถ่ายทอดแนวทางผ่านหัวข้อ “โอกาสและความท้าทาย การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติกับการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาสุขภาพในระดับท้องถิ่น”
ชาญเชาวน์ เริ่มต้นให้ความรู้ว่า การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้ อบจ. จะมีเครื่องมือที่สำคัญคือ “การทำแผนสุขภาพท้องถิ่น” ที่ อปท. จะมีบทบาทในการสานพลังกับประชาชน ให้ได้บ่งบอกถึงความต้องการด้านสุขภาพที่ครอบคลุมทุกมิติในท้องถิ่นของตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม แผนสุขภาพของท้องถิ่นนี้ จะต้องโยงไปหาแผนพัฒนาของประเทศให้ได้ เพราะจะเป็นหัวใจหลักในการบูรณาการทำงานทุกด้านของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งของประเทศจากฐานราก ก็คือท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้มีความยั่งยืน
ด้วยว่าแต่เดิมก่อนที่จะมียุทธศาสตร์ชาติ ท้องถิ่นต้องจะทำงานอย่างยากลำบาก งบประมาณจากส่วนกลางลงมาไม่ถึง หรือไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการให้คนในท้องถิ่นมีสุขภาวะที่ดี รัฐบาลจึงปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่เพื่อให้การตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนในท้องถิ่น จะต้องเกิดจากท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับประชาชน
แต่กระนั้น การสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจน และขณะเดียวกันรัฐก็ต้องการเห็นแนวทางความต้องการ การแก้ปัญหาในพื้นที่ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะของประชาชนด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เพื่อที่ว่ารัฐจะได้เห็นถึงปัญหาของพื้นที่ และเกิดการเชื่อมโยงการทำงานจากท้องถิ่น ไปหากระทรวงต่างๆ ที่ต้องสนับสนุน บูรณาการงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่นที่เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการให้ได้ หรือเรียกอีกอย่างว่า ทุกกระทรวงจะต้องมาช่วยกันให้รากฐานของประเทศ คือ “ท้องถิ่น” เข้มแข็ง และประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมา
“กระทรวงสาธารณสุข กับกระทรวงมหาดไทย จะทำงานลำพังไม่ได้ ทำไม่สำเร็จแน่นอน รัฐบาลจึงปรับวิธีการใหม่ที่ทั้ง 21 กระทรวง 166 กรม ทุกแห่งต้องทำหน้าที่พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน แต่ทุกกระทรวงจะเห็นภาพของปัญหาได้อย่างไร ก็ต้องหวังท้องถิ่นที่จะชี้เป้าให้เห็นถึงปัญหา และความต้องการของประชาชนผ่านแผนสุขภาพระดับท้องถิ่น เพื่อบูรณาการงบประมาณลงไปในท้องถิ่น ได้มีพลังขับเคลื่อน ตัดสินใจแก้ปัญหา และส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ” ชาญเชาวน์ ระบุ
เขาขยายความว่า ขณะนี้รัฐบาลต้องการคนชี้เป้า ซึ่งก็คือ อปท.แต่ละแห่ง เพื่อให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชน รวมไปถึงสิ่งที่ท้องถิ่นต้องการจัดการ ส่งเสริม ดูแล ซึ่งคนชี้เป้าก็คือคนทำแผนระดับท้องถิ่น ที่ต้องตรงจุด แม่นยำ และตรงกับความต้องการของประชาชน เพื่อให้ส่วนกลาง หรือคนในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ในระดับบริหารได้เห็นถึงปัญหา และได้ใช้อำนาจหน้าที่ เครื่องมือ ในการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นที่ต้องการการสนับสนุน ได้ทำงานเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งจากท้องถิ่นเอง นั่นคือจุดประสงค์หลักรัฐบาล
“กระทรวงลงไปหาประชาชนไม่ได้ เพราะไม่มีใครชี้เป้า และประเทศกำลังต้องการการทำงานแบบบูรณาการ ใช้งบประมาณแบบบูรณาการ การกระจายอำนาจ งบประมาณลงไป ก็ต้องเห็นแผนจากท้องถิ่นมาก่อน และนำแผนมัดรวมเป็นแผนระดับจังหวัด ขึ้นสู่แผนพัฒนาระดับภาค ทั้งหมดจะมาเชื่อมกับแผนพัฒนาของกระทรวง ที่เราเรียกว่าการประสานแผน ที่จะเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศทั้งหมด” ชาญเชาวน์ ให้ภาพ
ในฐานะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ เขาระบุว่า การทำแผนสุขภาพท้องถิ่นไม่ได้ยากอย่างที่คิด รัฐบาลได้ทำแนวทางการทำแผนที่ง่าย เพียงแค่เติมเต็มความต้องการของประชาชนที่ผ่านการระดมความเห็นอย่างมีส่วนร่วมและตกผลึกมาด้วยกัน แต่หัวใจหลักคือท้องถิ่นจะต้องมองให้ออกว่า การทำแผนสุขภาพท้องถิ่นนั้น มีส่วนไปเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาประเทศได้อย่างไร เพื่อจะเกี่ยวเอาแรงสนับสนุนจากกระทรวงต่างๆ มาร่วมทำงานให้กับประชาชน
ชาญเชาวน์ กล่าวอีกว่า การชี้เป้าสำคัญมาก ข้างบนไม่สามารถแก้ปัญหาให้ระดับท้องถิ่นได้ ความสำคัญของการมีส่วนร่วม และการประสานแผนจึงต้องเกิดขึ้นให้ได้ตามแนวทางการกระจายอำนาจ ซึ่งหัวใจของการประสานแผนจะอยู่ในวิธีคิด ที่ท้องถิ่นจะต้องเกี่ยวแผนใหญ่ของยุทธศาสตร์ชาติ มาเชื่อมโยงกับแผนระดับท้องถิ่นให้ได้ เพื่อให้อำนาจหน้าที่การแก้ไขปัญหาสุขภาพให้กับประชาชนจาก 21 กระทรวง ได้เข้ามาทำงาน ใช้งบประมาณ บูรณาการในระดับพื้นที่อย่างตรงจุด และตรงกับความต้องการของประชาชน
“แผนคือเครื่องมือ คือการบริหารงานภาครัฐแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ นั่นหมายความว่า เรามีเครื่องมือทั้ง 21 กระทรวง 166 กรม ที่พร้อมทำงานให้ แต่แผนจากท้องถิ่นกับแผนระดับชาติจะต้องมาเชื่อมโยงกัน ไม่เช่นนั้นประชาชนจะอยู่ดี กินดี ไม่ได้เลย เพราะการสอดประสานระหว่างท้องถิ่นกับระดับบน จะไม่เกิดขึ้น” เขาระบุ
ชาญเชาวน์ เสริมด้วยว่า โครงสร้างการจัดการของภาครัฐกำลังมุ่งเป้ามาในทิศทางที่ต้องการให้ท้องถิ่นเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน และต้องการปิดจุดอ่อนจากปัญหาการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ซึ่งท้องถิ่นอาจไม่ได้รับการสนับสนุนมาก เพราะลำดับชั้นของการสั่งการที่เป็นแบบ “บนลงล่าง” จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการใหม่ ที่ให้ท้องถิ่นเป็นก้าวแรกของการพัฒนาประเทศ
“การบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ เป็นหัวใจของการจัดการภาครัฐในยุคนี้ และมองว่าท้องถิ่นเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่กรุงเทพมหานครที่เป็นระดับนโยบายอย่างเดียวคือคณะรัฐมนตรี ส่วนท้องถิ่นคือวิธีการแก้ปัญหาให้กับประชาชน ตัดสินใจแก้ปัญหาได้เองตามความต้องการของประชาชนอย่างมีส่วนร่วม” เขากล่าวเสริม
ชาญเชาวน์ ทิ้งท้ายและย้ำกับตัวแทนทั้ง 76 อบจ.อีกว่า ต้นน้ำของการพัฒนาประเทศไม่ได้อยู่ที่กรุงเทพมหานคร หากแต่อยู่กับท้องถิ่น ที่เป็นหัวใจหลักในการชี้เป้าให้คนส่วนกลางได้เห็นถึงปัญหา ได้เห็นถึงวิธีแก้ไขปัญหาของประชาชน ดังนั้นการที่จะทำให้งบประมาณไหลลงมายังท้องถิ่น ให้ทุกกระทรวงใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่นได้จริง ก็ต้องการการบริหารจัดการภาครัฐทุกหน่วยที่มีแผนงานที่ถูกต้อง เชื่อมโยงกัน และนำงบประมาณไปใช้อย่างตรงจุดกับความต้องการของประชาชน