
'นพ.ประทีป' ตอกย้ำเป้าสำคัญ 'ธรรมนูญระบบสุขภาพฯ' ฉบับ 3 ขับเคลื่อนระบบสุขภาพที่เป็นธรรม กลไกสนับสนุน-ติดตามต้องชัดเจน25 สิงหาคม 2565
“นพ.ประทีป” ย้ำ 3 สาระสำคัญใน “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” กำหนดทิศทางสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ชี้ความท้าทายใหม่ ต้องร่วมกันสร้างกลไกติดตามการขับเคลื่อน วัดผลความสำเร็จระบบสุขภาพที่พึงประสงค์
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ บรรยายพิเศษในการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ตามร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ในระดับพื้นที่ เขต 8 ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 8 ที่ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2565
นพ.ประทีป กล่าวตอนหนึ่งถึงกรอบความคิด เป้าหมาย และมาตรการสู่การขับเคลื่อนระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ตามร่างธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ที่ระบุถึงสาระสำคัญ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนที่มีความสำคัญ คือ 1.สถานการณ์และปัจจัยที่มีผลต่อระบบสุขภาพในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางด้านสุขภาพของประเทศไทยในอนาคตที่ต้องร่วมกันดำเนินการ
2. กรอบแนวคิด ปรัชญา และเป้าหมายร่วมของระบบสุขภาพในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฯ และ 3. มาตรการสำคัญสู่เป้าหมายระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ ซึ่งจะครอบคลุมแนวทางการวัดผลสำเร็จของระบบสุขภาพที่ประชาชนต้องการด้วย
ทั้งนี้ การทำงานอย่างมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการสร้างสุขภาวะที่ดี ที่มีทิศทางการดำเนินการจากร่างธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 จะมีความท้าทายที่สำคัญคือ การตั้งกลไกสนับสนุนและติดตามการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ฉบับนี้ เพราะการขับเคลื่อนต่อไปจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน
“เป้าหมายการขับเคลื่อนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 จะต้องมีความชัดเจน มีการระบุเป้าหมายการทำงาน พร้อมทั้งมีแผนการขับเคลื่อนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมที่ชัดเจนเช่นกัน” นพ.ประทีป กล่าว
นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฯ เป็นเครื่องมือจากการมีส่วนร่วม ที่ถูกใช้เป็นเข็มทิศสำหรับสังคมไทย เพื่อกำหนดทิศทางด้านสุขภาพท่ามกลางการเปลี่ยนเปลงของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และมีเป้าหมายสำคัญคือให้ทุกคนในสังคมไม่ถูกทอดทิ้งจากปัญหาทางสังคมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
“ปัจจุบันร่างฯ ดังกล่าวกำลังเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้เห็นชอบ จากนั้นจะนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อให้ได้รับทราบ และคาดว่าจะมีการประกาศใช้ได้ภายในปี 2565 นี้” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว
นพ.ประทีป ยังกล่าวถึงบทบาทสำคัญของ กขป. ที่จะเป็นกลไกสานพลังการทำงานในระดับเขตพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อบูรณาการหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพที่สอดคล้องกับนโยบายด้านสุขภาพของรัฐบาล และเชื่อมโยงกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฯ
“ต้องอาศัยทุกภาคส่วนในสังคม ในการช่วยกันทำให้เกิดการให้บริการสุขภาพที่มุ่งสร้างคุณภาพชีวิต ให้ประชาชนทุกพื้นที่มีสุขภาวะที่ดีขึ้น ทั้งสุขภาพกาย ใจ และปัญญา ซึ่งภาพรวมจะนำไปสู่เป้าหมายที่คนไทยทุกคนมีสุขภาพดีอย่างเท่าเทียม เข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างมีคุณภาพ และเป็นธรรม” นพ.ประทีป กล่าว