'เด็ก-เยาวชน' 1 ใน 3 ไม่มีความสุข สธ.ชี้ปมปัญหาสุขภาพจิตวัยเรียน เตือน 'ครู-ผู้ปกครอง' หมั่นสังเกต 3 สัญญาณเสี่ยงซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย
25 สิงหาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

กรมสุขภาพจิต เผยผลประเมิน "Mental Health Check-in" พบเด็กเยาวชน 1 ใน 3 ไม่มีความสุข นักเรียนกว่า 4.3 แสนชีวิตต้องเฝ้าระวัง "สุขภาพจิต" ชี้ 3 สัญญาณเสี่ยง "เศร้า-เบื่อหน่าย-ไม่อยากไปโรงเรียน" พร้อมเปิดช่องทางปรึกษาฟรี หากพบความเสี่ยงมีทีมปรึกษาพิเศษเตรียมช่วยเหลือทันที


พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการประเมินสุขภาพจิตเยาวชนโดยระบบ Mental Health Check-in ในช่วงระหว่าง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กเยาวชนไม่ค่อยมีความสุข ด้วยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาพสังคมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน โดยเห็นได้จากข่าวสะเทือนขวัญของการฆ่าตัวตายและทำร้ายตัวเองในเยาวชนเพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ตาม ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนสามารถป้องกันได้ หากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กและเยาวชน ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู สามารถสังเกตสัญญาณเตือนแล้วให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะครูที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก สามารถดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนและเยาวชนได้ ผ่านการใช้งานระบบสุขภาพจิตโรงเรียนบนระบบดิจิทัล หรือ School Health HERO


"School Health HERO เป็นเครื่อมมือที่ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันจัดทำขึ้น เพื่อเฝ้าระวังปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ของนักเรียน และเรียนรู้วิธีให้การปรึกษาออนไลน์ หากยังไม่ดีขึ้น สามารถส่งต่อขอรับการปรึกษาจากทีมสาธารณสุขผ่านแอปพลิเคชันได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย" พญ.อัมพร กล่าว




พญ.อัมพร กล่าวว่า สัญญาณเตือนที่ชี้ว่าเด็กอาจมีปัญหาสุขภาพจิต มีภาวะซึมเศร้า จนเสี่ยงถึงการฆ่าตัวตายมีอยู่ 3 สัญญาณ คือ 1. เศร้า เครียด หงุดหงิดง่าย 2. ท้อแท้ เบื่อหน่าย และ 3. ไม่อยากไปโรงเรียน หากพบเด็กมีอาการข้อใดข้อหนึ่ง โปรดอย่านิ่งนอนใจ ต้องรีบหาทางแนะนำหรือชักชวนให้เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือเพื่อไม่ให้สายเกินแก้


ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า จากข้อมูลการใช้งานระบบ School Health HERO ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 .. 2565 มีนักเรียนที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องสุขภาพจิตมากถึง 4.3 แสนคน จากนักเรียน 7 ล้านคนทั่วประเทศ


ทั้งนี้ ในจำนวน 4.3 แสนคน มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าถึง 1.2 หมื่นคน ซึ่งภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านสุขภาพจิต ทั้งจากส่วนกลางและชุมชน ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้จัดเตรียมทีมที่ปรึกษาด้านสุขภาพ หรือ HERO consultant เพื่อทำงานร่วมกับครูในการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน เพื่อให้การช่วยเหลือ ดูแลสุขภาพจิตนักเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ขณะเดียวกัน ยังมีช่องทางให้นักเรียนที่ต้องการขอรับการปรึกษาด้วยตัวเอง โดยไม่ผ่านผู้ปกครองหรือครู สามารถเข้าใช้งานระบบ Mental Health Check-in ได้ทาง www.วัดใจ.com เพื่อประเมินสุขภาพจิตตนเอง และขอรับการปรึกษาจากบุคลากรด้านสุขภาพจิต โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


"ปัจจุบันช่องทาง Mental Health Check-in มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาใช้งานแล้วประมาณ 1.1 แสนคน ซึ่งกรมสุขภาพจิตจะติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ให้ไว้ เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป" พญ.วิมลรัตน์ กล่าว


อนึ่ง โรงเรียนที่สนใจสามารถโทรศัพท์เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในการใช้งานระบบ School Health HERO ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-0805-4738 อีเมล itsara4738@gmail.com หรือฐานข้อมูล School Health HERO โดยเลือก "ช่วยเหลือ" หรือผ่านทาง http://help.heroapp.in.th/support/home