
ชูวิชาชีพ 'นักกำหนดอาหาร' บทบาทสำคัญส่งเสริม-ป้องกันโรค ดูแลร่างกายด้วยการรับประทาน สร้างสุขภาพดีให้ผู้ป่วย-ประชาชน29 สิงหาคม 2565
รมช.สาธารณสุข เปิดเวทีวิชาการเพิ่มศักยภาพ "นักกำหนดอาหารวิชาชีพ-นักโภชนาการ-โภชนากร" ในการป้องกัน-ฟื้นฟู-รักษาโรค พร้อมเผยแพร่ความรู้ด้านการรับประทาน ให้ประชาชนสร้างสุขภาพดี
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2565 นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 เรื่อง “เส้นทางนักกำหนดอาหารมืออาชีพ” The Pathway to becoming a Professional Dietitian และบรรยายพิเศษ เรื่อง “นักกำหนดอาหารวิชาชีพ” : ผู้สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสุขภาพดี โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 900 คน พร้อมมอบทุนวิจัยด้านการกำหนดอาหารรวม 37 ทุน
นายสาธิต กล่าวว่า การกำหนดอาหาร เป็นบทบาทที่ช่วยส่งเสริมและฟื้นฟูภาวะโภชนาการ โดยนำความรู้ด้านโภชนาการมากำหนดปริมาณอาหารและสารอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะของร่างกาย รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ป่วยสามารถเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับสภาวะของโรค จึงมีความสำคัญทั้งในเชิงการป้องกันและการรักษาโรค รวมถึงการสร้างสุขภาพดีให้กับประชาชน
ทั้งนี้ การกำหนดอาหารได้ถูกกำหนดให้เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ ในปี 2563 ถือเป็นสาขาที่ 8 ของการประกอบโรคศิลปะ เป็นเครื่องยืนยันถึงมาตรฐานและจรรยาบรรณของนักกำหนดอาหาร ในฐานะผู้ที่ใช้อาหารเป็นยาในการบรรเทาอาการเจ็บป่วยของโรคได้เป็นอย่างดี
นายสาธิต กล่าวอีกว่า นักกำหนดอาหาร นักโภชนาการ และโภชนากร เป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญในการดำเนินงานด้านการส่งเสริม ป้องกันโรค โดยเฉพาะโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) ที่ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยบำบัดรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับอาหารชนิดพิเศษที่เหมาะสมกับโรค
"การจัดประชุมเพื่อเพิ่มศักยภาพแก่ผู้ประกอบวิชาชีพนักกำหนดอาหาร นักโภชนาการ โภชนากร และเครือข่ายจากทั่วประเทศครั้งนี้ นอกจากจะได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยแล้ว ยังสามารถถ่ายทอดให้กับประชาชนเพื่อสร้างสุขภาพดีให้กับตนเองได้อีกทางหนึ่ง" รมช.สาธารณสุข กล่าว