เรื่องเล่าของ ‘คนธรรมดา’ ที่มีขนาดของหัวใจ ใหญ่พอจะโอบอุ้มโลก4 กุมภาพันธ์ 2565
ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2564 มีการจัดเวทีบอกเล่าเรื่องราว “ดอกผลคนตื่นรู้...สู้วิกฤตสุขภาพ” โดยผู้แทนองค์กรเครือข่ายนวัตกรรมสังคมสู้วิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นคนธรรมดา แต่มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือ-สนับสนุนภาครัฐในการรับมือกับโรคระบาดครั้งประวัติศาสตร์
จากตู้เย็นถึงปากท้องคนจนเมือง
ภราดล พรอำนวย นักแซกโซโฟน ผู้ร่วมก่อตั้ง The North Gate Jazz Co-Op เล่าว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ภาพที่เราเห็นคือความเดือดร้อนขาดแคลนของกลุ่มพี่น้องคนชายขอบ คนจนเมือง ซึ่งในฐานะนักดนตรี เราได้ใช้เสียงดนตรีเป็นเครื่องนำทาง และเรารู้ว่าตัวโน้ตดนตรีที่อยู่ไกล ไม่สามารถเดินทางมาช่วยตัวโน้ตที่อยู่ใกล้ได้ เปรียบเสมือนบางครั้งที่นโยบายความช่วยเหลือของภาครัฐที่อยู่ไกล ไม่สามารถเดินทางมาช่วยเหลือความเดือดร้อนของผู้คนที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ได้ ความหวังเดียวจึงเป็นความช่วยเหลือของเครือข่ายพี่น้องประชาชนด้วยกันเอง
ภราดล เล่าต่อว่า ในช่วงของการระบาด ทีมงานเชียงใหม่พลัสได้ร่วมกันจัดตั้งครัวกลาง-ครัวงานขึ้นในชุมชน และในการระบาดระลอกหลังสุดก็ได้จัดตั้งธนาคารอาหาร หรือ Chiangmai Food Bank คือการนำอาหารส่วนเกิน ผักผลไม้ที่ไม่สวย รวมถึงอาหารทุกอย่างที่ยังกินได้จากในตู้เย็นของพวกเราทุกคน นำมาคัดแยก ก่อนส่งมอบต่อไปให้กับพี่น้องคนจนเมือง รวมทั้งภาคแรงงานที่อยู่ในแคมป์งานทั่ว จ.เชียงใหม่
“สิ่งที่เรารู้สึกภาคภูมิใจคือการที่ได้เริ่มต้นลงมือทำ ได้เข้ามาร่วมรับรู้ถึงความสุขและความทุกข์ของผู้คน และภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาชนที่ได้ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง แม้หลายครั้งที่เรารู้สึกท้อแท้สับสน แต่ก็ยังเชื่อมั่นเสมอว่าการลงมือทำคือคำตอบ เพราะเป็นความรู้สึกของการไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมให้ไฟแห่งความหวัง ไฟแห่งอุดมการณ์ของเราดับมอดลงไปแม้แต่วินาทีเดียว” ภราดล ระบุ
ภราดล บอกอีกว่า เรารู้ว่าหลายครั้งชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย แม้เราจะพยายามทำไปแล้วแต่ทุกสิ่งก็ยังพังทลายลงไป แต่เราก็เชื่อว่าตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ ยังมีชีวิตอยู่ เราจะไม่ยอมหันหลังให้กับโชคชะตา และเราจะถามตัวเองว่าได้ทำเต็มที่ ทำเต็มความสามารถ หรือเราทำมันถึงพันครั้งแล้วหรือยัง ถ้ายังเราก็จะลุกขึ้นมาและพยายามต่อไป เพราะเชื่อว่าเราทุกคนมีความฝันและอยากทำให้ความฝันเป็นจริง แต่จะดีกว่าไหมหากเรามีโอกาสมองไปรอบๆ ให้เห็นถึงความฝันของผู้อื่น แล้วมาช่วยกันทำความฝันเหล่านั้นให้เป็นจริงไปได้ด้วยกัน
ในวิกฤตการณ์ พระย่อมไม่อาจทิ้งโยม
พระมหาพร้อมพงศ์ ปภสฺสรจิตฺโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม กล่าวว่า พระไม่ทิ้งโยม...เพราะโยมไม่เคยทิ้งพระ คือภารกิจที่พระสงฆ์วัดสุทธิวราราม ลุกขึ้นมาทำศูนย์พักคอยภายในวัด เนื่องจากเห็นญาติโยมบริเวณรอบวัดที่เคยใส่บาตร ต้องติดเชื้อโควิด รอเตียง และเสียชีวิต จึงได้เปลี่ยนวัดให้เป็นโรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียวจำนวน 150 เตียง ร่วมกับกรุงเทพมหานคร กทม. สำนักงานเขตสาทร รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.สงฆ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
พร้อมกันนี้ยังได้จัดตั้งทีมพระไม่ทิ้งโยม ซึ่งเป็นจิตอาสาทั้งพระสงฆ์และฆราวาสรวมกว่า 20 ชีวิต สวมชุด PPE ทับบนจีวร เปลี่ยนเส้นทางบิณฑบาตในชุมชน ให้เป็นเส้นทางของการตรวจ ATK แยกผู้ป่วยออกจากชุมชน และจัดตั้งแนวร่วมชุมชนเข้มแข็งกว่า 30 ชุมชน ให้เป็นพลเมืองตื่นรู้เพื่อสู้กับโควิด-19 และการทำ Home Isolation (HI) ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง ส่งอาหาร น้ำดื่มต่างๆ
“ถามว่ากลัวความตายกันหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ากลัว แต่เราก้าวข้ามความกลัวนั้นได้ด้วยจิตกรุณาที่ต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะบางเคสมีเพียงเส้นขั้นบางๆ อยู่ระหว่างความเป็นและความตาย ว่าเราเลือกที่จะช่วยหรือไม่ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 100 วันที่ทีมจิตอาสาทำงานอย่างไม่มีวันหยุด เราได้ดูแลผู้คนไปมากกว่า 5,000 ราย ความท้อแท้และความเหนื่อยล้าไม่สามารถทำลายอุดมการณ์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทุกคน ทุกชนชั้น ทุกเชื้อชาติ และทุกศาสนาได้” พระมหาพร้อมพงศ์ ระบุ
พระมหาพร้อมพงศ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณประชาชนทุกคน ที่ได้สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ อาหาร เพื่อส่งต่อผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พลังที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่ลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันในภาวะวิกฤตเช่นนี้ เป็นวัคซีนให้กับทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งในวันนี้เราได้รับชัยชนะและผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ครั้งเลวร้ายที่สุดของไทยแล้ว เพราะความเสียสละและความร่วมมือของพวกเราทุกคน ทีมงานพระไม่ทิ้งโยมจึงขอกล่าวข้อความที่กลั่นออกมาจากหัวใจว่า “ยามสถานการณ์ปกติญาติโยมไม่เคยทิ้งพระ ในยามที่โยมเดือดร้อน จะให้พระทิ้งโยมได้อย่างไร”
ติดโควิดทั้งบ้าน แต่อ่อนแอให้เห็นไม่ได้
มาเรีย ป้อมดี ประธานชุมชนพัฒนาใหม่ เขตคลองเตย กล่าวว่า ภายในชุมชนคลองเตยเผชิญกับวิกฤตอย่างหนักตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. 2564 ซึ่งเป็นคลัสเตอร์แรกๆ ของการระบาด และในฐานะประธานชุมชนก็จะต้องเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอให้ลูกบ้านเห็น แม้ครอบครัวจะติดเชื้อโควิดทั้งสามีและลูก เมื่อยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วย สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการนำเชื้อออกจากบ้าน โดยประชุมร่วมกันกับคณะกรรมการชุมชนและชาวบ้านว่าจะจัดตั้งศูนย์พักคอย ก่อนส่งต่อไปรักษาตัวที่ไหนก็ได้
“การจัดตั้งศูนย์พักคอยนี้มีเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งคนในชุมชนเข้ามาช่วยกัน ทำให้เรารอดมาจนถึงทุกวันนี้ แม้มีดรามาว่าทำผิดแล้วจะโดนจับก็ไม่กลัว เพราะเราสู้ไม่ถอย และขอให้วิกฤตนี้เป็นโอกาสของคนไทยทุกคน ซึ่งเราต้องสู้อย่างเดียวจึงจะรอดวิกฤต” มาเรีย กล่าว
ความสุขของการที่ได้ใช้ชีวิตเพื่อผู้อื่น
นายคริส โปตระนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย กล่าวว่า ชีวิตเราในแต่ละวันที่ตื่นขึ้นมาไปทำงาน เสร็จก็กลับบ้าน พอวันหยุดก็มีเวลาไปเดินห้าง ไปเที่ยว เป็นวัฏจักรของคนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่จะเป็นแบบนี้ คือมีแต่กู กู และกูตลอดเวลา แม้การใช้ชีวิตเพื่อตัวเองจะไม่ได้ผิด หากแต่คุณอาจกำลังพลาดความสุขอะไรบางอย่าง นั่นคือความสุขของการที่ได้ใช้ชีวิตเพื่อผู้อื่น ซึ่งความจริงแล้วการทำเพื่อผู้อื่นนั้นไม่ต้องการอะไรมาก เพียงแค่ทำเฉพาะในความสามารถหน้าที่เราเท่าที่ทำได้ หรือทำอะไรในสิ่งที่คิดว่าตัวเองทำได้ดีและมาช่วยเหลือคนอื่น เท่านั้นก็เพียงพอ
“คนบอกเส้นด้ายทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ช่วยเหลือคนไปกว่า 2 แสนคนได้อย่างไร เราไม่มีอะไรไปมากกว่าความตั้งใจที่จะทำมัน อยากให้กลุ่มเสี่ยงได้ตรวจ คนติดเชื้อได้รักษา ซึ่งเราไม่ได้บอกให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยในเรื่องของโควิด เพียงแต่ไม่ว่าคุณจะทำอะไรในหน้าที่ตัวเอง ก็ทำให้เต็มที่และใส่ใจลงไป ถ้าเป็นครูก็ตั้งใจสอนเด็กให้เป็นคนดีและฉลาด เป็นตำรวจก็ตั้งใจทำคดีเพื่อประชาชน หรือเพียงการขับรถแล้วเบรคให้คนเดินข้ามบนถนน เท่านั้นคุณก็ได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้างแล้ว” คริส ระบุ
แพทย์ชนบทเคลื่อนทัพช่วยคนกรุง
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในระลอกที่ 3 นั้นหนักหนา แต่ก็ได้แสดงให้สังคมเห็นว่าเราสามารถฝ่าวิกฤตไปได้ แม้จะไม่เป็นกระบวนท่า ต้องล้มลุกคลุกคลาน แต่ภายใต้ความชุลมุนนั้นเราได้เห็นตัวละครมากมายที่มาร่วมแรงร่วมใจกันโดยที่ไม่ต้องร้องขอ เช่นเดียวกับความร่วมมือของทีมแพทย์ชนบท ซึ่งมีอาสาสมัครจาก 6 โรงพยาบาล ประมาณ 50 ชีวิตเข้าร่วมในการมาบุกกรุงครั้งแรก แต่ในการบุกกรุงครั้งที่ ๓ ซึ่งเป็นช่วงพีคที่สุดของการระบาดใน กทม. ได้มีเครือข่ายแพทย์ชนบทจาก 40 โรงพยาบาล รวมกว่า 500 กว่าชีวิต ที่มาร่วมกับทีมโควิดชุมชน กลุ่มอาสาสมัคร ภาคเอกชน รวมทั้งพลังของคนในชุมชนที่มาช่วยกันอย่างสุดหัวใจ
“ประชาชนกว่า 2 แสนคนได้รับการตรวจ ATK และเราพบผู้ติดเชื้อกว่า 2 หมื่นคน แม้ตอนนั้นจะไม่มีโรงพยาบาลให้นอนเพียงพอ แต่การทำให้เขาได้รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ ก็มีส่วนอย่างมากในการช่วยยุติการระบาดให้เร็วขึ้น นับเป็นปฏิบัติการที่สร้างรูปแบบการกู้วิกฤตให้สังคมเห็น ว่าหากเราเชื่อมั่นในปฏิบัติการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และเริ่มด้วยการลงมือทำ ก็จะช่วยทำให้วิกฤตโควิดผ่านพ้นไปได้” นพ.สุภัทร กล่าว
นพ.สุภัทร กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ใน อ.จะนะ จ.สงขลา เริ่มมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. 2564 และเมื่อมาถึงกลางเดือน ต.ค. พื้นที่ อ.จะนะ เพียงอำเภอเดียวมีผู้ติดเชื้อถึงวันละ 250 คน มากกว่าบางจังหวัดทั้งจังหวัด ซึ่ง รพ.จะนะ ที่มีขนาด 60 เตียง และขยายเตียงโควิดไปแล้ว 140 เตียง รวมทั้งโรงพยาบาลสนามที่มี 400 เตียงก็ยังรองรับไม่เพียงพอ แต่สุดท้าย อ.จะนะ ที่ไม่มีรีสอร์ท ไม่มี Hospitel กลับได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนต่างๆ ยื่นมือเข้ามาช่วย เกิดเป็น รพ.สนาม อีก 9 แห่ง รวมจำนวนกว่า 1,250 เตียง ได้ในเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์ และทำให้พื้นที่สามารถผ่านวิกฤตไปได้
นพ.สุภัทร กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญคือความร่วมมือของผู้คนในสังคมที่จะเข้ามาช่วยกันตามกำลังความสามารถ อันจะทำให้เราออกจากวิกฤตได้เสมอ อย่างไรก็ตามสิ่งที่คาดหวังคือได้เห็นการปรับระบบสุขภาพของเมืองหลวงอย่าง กทม. ซึ่งน่าจะเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของประเทศ ที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ว่าราชการคนใหม่จะต้องช่วยกันทำให้สำเร็จ เพื่อให้เรารับมือกับวิกฤตสุขภาพในอนาคตได้ดีกว่าเดิม
เริ่มต้นจากแรงสั่นสะเทือนข้างใน
บุหงา ลิ้มสวาท หัวหน้าพยาบาลระบบไทยแคร์ กล่าวว่า แม้ตนจะกลายเป็นอดีตพยาบาลเพราะความเจ็บป่วย แต่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เมื่อมองไปรอบข้างและได้เห็นเพื่อนพยาบาล บุคลากร รวมทั้งประชาชนต่างลุกขึ้นมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดเป็นแรงสั่นสะเทือนว่าตนเองจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ในวันที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยอดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้เห็นผู้ที่ขอความช่วยเหลือผ่านสื่อออนไลน์ จึงตัดสินใจหยิบโทรศัพท์และโทรไปพูดคุย ผลปรากฏว่ารายนั้นเป็นผู้ป่วยวิกฤต จึงได้เร่งช่วยเหลือประสานนำตัวส่งโรงพยาบาล จนช่วยให้รอดชีวิตได้
“เราได้รู้สึกขึ้นมาทันทีว่าการที่เราอยู่บ้านก็ช่วยชีวิตคนได้ และความรู้ที่เรามีก็ช่วยเหลือได้ จึงลุกขึ้นมาชวนเพื่อนๆ เริ่มทำ จากนั้นก็มีความช่วยเหลือที่หลั่งไหลเข้ามาโดยไม่รู้ตัว ทั้งโปรแกรมเมอร์ที่มาช่วยเขียนโปรแกรมจนเกิดเป็นเครือข่ายไทยแคร์ ที่ช่วยดูแลคนไข้ได้กว่าหลักหมื่นรายให้รอดชีวิต พร้อมทั้งแพทย์ พยาบาล ประชาชน นักศึกษา ที่อาสาเข้ามาช่วย” บุหงา ระบุ
บุหงา เล่าว่า สำหรับการทำงานของไทยแคร์ ได้วางเป้าหมายกันไว้ว่าจะต้องเป็นการวิดีโอคอลให้เห็นหน้าคนไข้ เพื่อสอบถามว่าอาการเป็นอย่างไร เพราะการที่ได้เห็นหน้ากันช่วยทำให้ความเป็นมนุษย์กลับมา ได้ร่วมทุกข์ไปด้วยกัน โดยมีเคสหนึ่งที่พบว่าผู้ป่วยถึงขั้นบอกลาทางบ้านแล้ว และหมดสติคาโทรศัพท์ในระหว่างพูดคุย แต่สุดท้ายก็ได้ช่วยประสานจนเข้าไปช่วยเหลือนำตัวผู้ป่วยออกมาได้ทันเวลา
“ตอนคนไข้รายนี้อยู่ใน รพ.สนาม เขาก็ลุกขึ้นมาเป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่นั่น เราจึงเห็นว่าความหวังมันถูกส่งต่อ จากคนที่สิ้นหวังรู้สึกว่าต้องตายอย่างโดดเดี่ยว กลับมีความรู้สึกที่จะลุกขึ้นมาดูแลผู้อื่น ดังนั้นสุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำให้เรายังทำงานต่อ เพราะคิดว่าชีวิตไม่ใช่แค่ตัวเลขที่รายงานว่าวันนี้ยอดเท่าไร แต่ 1 คนที่ป่วยหรือตายอาจเป็นพ่อ แม่ ปู่ ยา ตา ยายของใคร และ 1 ชีวิตนั้นก็คือความหมายของการมีชีวิตอยู่ เพื่อผ่านโควิดนี้ไปด้วยกัน” บุหงา กล่าว