‘ที่อยู่อาศัย’ เป็นอย่างไร ‘พันธุกรรม’ ก็จะเป็นอย่างนั้น เรื่องแปลกแต่จริง อ้างอิงงานวิจัย
4 กุมภาพันธ์ 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

เราอาจเคยคิดว่าการอาศัยอยู่ใน “เมืองใหญ่” ที่ดูแสนจะวุ่นวาย คือหนึ่งในต้นตอของปัญหาด้านสุขภาพจิต อย่างเช่น โรคจิตเภท ซึ่งมีที่มาจากความเครียดต่างๆ นานา หากแต่ในเวลานี้ดูเหมือนว่านั่นอาจไม่ใช่เพียงเหตุผลที่มาจากความวุ่นวายของสภาพแวดล้อมอีกต่อไป

นั่นเพราะขณะนี้เหล่าบรรดานักวิจัยกำลังชี้ให้เห็นว่าปัจจัยของ “ที่อยู่อาศัย” อาจส่งผลไปถึงมนุษย์ในระดับ พันธุกรรม (Genetics) อันจะไปเป็นสาเหตุของปัญหาด้านสุภาพจิตอีกทอดหนึ่ง

ในวารสาร JAMA Psychiatry ได้เผยแพร่งานวิจัยจาก National Institute for Health Research (NIHR) Maudsley Biomedical Research Centre เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2564 ซึ่งท้าทายความเชื่อที่ว่า “สภาพแวดล้อมของเมือง” ทำให้ผู้คนมีปัญหาทางจิต

หากแต่อันที่จริงแล้วไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะพวกเขาพบว่าการเลือกที่อยู่อาศัย ส่งผลกับ “พันธุกรรม” ในตัวมนุษย์ อันไปก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตต่างหาก

เจสซี่ แม็กซ์เวล หนึ่งในทีมวิจัย อธิบายว่า งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง “ยีน” ในร่างกายของมนุษย์จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ซึ่งต่อมาก็จะพัฒนาตัวเองจนไปส่งผลต่อสุขภาพจิต

เขามองว่าความเกี่ยวข้องกันในจุดนี้ ทำให้เราได้รู้อีกหนึ่งต้นตอของปัญหา และนำไปใช้ในการสร้างรูปแบบของการพยากรณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางจิตของผู้คนได้

“ในบรรดากลุ่มตัวอย่างที่เรานำมาศึกษา พบว่าพวกเขาไม่เคยเข้ารักษาหรือบำบัดเกี่ยวกับสุขภาพจิตมาก่อน ซึ่งนั่นทำให้เรามั่นใจว่าพันธุกรรมที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม มีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้” นักวิจัยรายนี้ วิเคราะห์

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ใช้ข้อมูลพันธุกรรมจากผู้คนกว่า 385,793 ราย ทั่วสหราชอาณาจักร ช่วงอายุระหว่าง 37 – 73 ปี มาคำนวณ Polygenic Risk Score (PRS) ซึ่ง PRS จะทำการประเมินความเป็นไปได้ของพันธุกรรมผู้คนทั้งร่างกาย

ในส่วนของที่อยู่อาศัย ทีมวิจัยได้ใช้หลักของ “ที่อยู่ปัจจุบัน” และ “ที่อยู่เดิมที่พวกเขาย้ายมา” เพื่อทำการประเมินความเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม โดยใช้ข้อมูลระหว่างปี ค.ศ. 1931-2011

สิ่งที่ทีมวิจัยค้นพบก็คือ พันธุกรรมจะพัฒนาจนไปมีผลต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคจิตเภท อาการไบโพลาร์ ภาวะไร้ความอยากอาหารหรือไม่สามารถรับประทานอาหารได้ (Anorexia) ไปจนถึงโรคออทิซึม (Autism) ในกลุ่มผู้คนที่ทำการย้ายที่อยู่จากพื้นที่ “ชนบท” ที่มีความหนาแน่นต่ำ หรือมีความเป็นเมืองไม่มากนัก ไปสู่พื้นที่ “เมือง”

เอวานเจลอส วาสซอส อีกหนึ่งสมาชิกทีมวิจัย ได้อธิบายว่าหลักฐานที่พวกเขาค้นพบ คือการพัฒนาพันธุกรรมในร่างกายของคนเรานั้นเกิดจากที่อยู่อาศัย และจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต การเลือกที่อยู่อาศัยจึงมีผลอย่างมากเมื่อดูจากสถิติ

อย่างไรก็ดีนักวิจัยรายนี้ได้เสริมว่า การค้นพบนี้ไม่ได้หมายความว่าตัวแปรของสภาพแวดล้อม (ที่ไม่เกี่ยวกับพันธุกรรม) จะไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางจิต หากแต่สิ่งที่พวกเขากำลังพยายามอธิบายคือ แทนที่สภาพแวดล้อมจะส่งผลกับสุขภาพจิตโดยตรง หากแต่สภาพแวดล้อมได้ไปส่งผลถึงพันธุกรรม ก่อนที่จะไปส่งผลให้กับสุขภาพจิตอีกต่อหนึ่ง ทำให้การรักษาหลังจากนี้จะต้องบูรณาการให้มากกว่าเดิม

“ที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือปัญหาของโรคสมาธิสั้น (ADHD) ผู้คนที่มีพันธุกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอาการสมาธิสั้นมักจะมีพฤติกรรมย้ายไปสู่เมืองใหญ่ ซึ่งนั่นทำให้พันธุกรรมสามารถพัฒนาไปสู่การเกิดอาการขึ้นมาได้จริงๆ นี่จึงตอกย้ำว่าพันธุกรรม ที่อยู่อาศัย และสุขภาพจิต ทั้งหมดเกี่ยวข้องกัน” เอวานเจลอส อธิบาย

แม้ว่าเราจะยังไม่สามารถบอกได้ว่าสาเหตุใด “เมือง” จึงส่งผลต่อ “พันธุกรรม” และเป็นสิ่งที่ยังต้องศึกษากันต่อไป หากแต่อย่างน้อยที่สุดแล้ว นี่เป็นการไขความลับของปัญหาสุขภาพจิตที่ก่อปัญหาให้กับผู้คนจำนวนมากทั่วโลก และเป็นความหวังที่จะสามารถต่อยอดไปสู่การรักษาที่ตรงจุด เพื่อให้ผู้คนได้กลับมามีชีวิตที่สดใสอีกครั้งหนึ่ง

ฟากฝั่งประเทศไทย ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 เมื่อปี 2559 เรื่อง “การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ” ก็ได้แสดงความกังวลถึงข้อจำกัดและสภาพปัญหาในการจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาวะภายในชุมชนและเมือง ซึ่งมีความซับซ้อนรุนแรงและขยายตัวมากขึ้นทุกด้าน ทำให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจ คุณภาพชีวิต สภาพแวดล้อม ความมั่นคงปลอดภัย

ในครานั้น สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จึงได้มีฉันทมติร่วมกันที่จะให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง รวมถึงมีกลไกในการขับเคลื่อนแผนงานด้านที่อยู่อาศัยในแต่ละระดับ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะในทุกกลุ่มต่อไป

อ้างอิง
https://neurosciencenews.com/genetic-mental-health-living-area-19551/
https://www.eurekalert.org/news-releases/932676
https://jamanetwork.com/journals/jamapsychiatry/article-abstract/2785027
https://www.sciencedaily.com/releases/2021/10/211027121940.htm