วิกฤตอาหารทะเล ‘ระยอง’ หลังคราบน้ำมันบดบัง ‘ความเชื่อมั่น’ กับเสียงเพรียกหา ‘HIA’ เครื่องมือการันตีความปลอดภัย
4 กุมภาพันธ์ 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

“ข้อค้นพบหนึ่งที่เราเห็นชัดเจน คือการพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วมของพี่น้องชาวบ้านในการร่วมกำหนดนโยบายใหญ่ นำมาซึ่งการสร้างผลกระทบกับคนเล็กคนน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเกิดมลพิษจากการจัดการที่ไม่ดีก็ส่งผลกระทบที่ต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้าขาย การประมง ไปจนถึงเรื่องของอาหาร”

...

เหตุการณ์น้ำมันรั่ว จ.ระยอง ที่เกิดขึ้นซ้ำรอยภายในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี นับตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2556 และล่าสุดเมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา นำมาสู่การตั้งคำถามและการทวงถามความรับผิดชอบจากผู้ก่อมลพิษ

 

แน่นอนว่า ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งผูกติดชีวิตไว้กับภูมิลำเนา คือเหยื่อของเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ซึ่งต้องอยู่ร่วมกับมลพิษและผลกระทบในระยะยาว

 

คำถามตัวโตก็คือ นับจากนี้เราจะมีมาตรการหรือแนวทางใดที่จะเข้ามายับยั้ง หรือลดทอนความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

มานพ สนิท ผู้ประสานงานเครือข่ายชายฝั่งทะเลบูรพา 5 จังหวัด หนึ่งในเครือข่ายภาคประชาชนที่คลุกวงในกับปัญหานี้มาโดยตลอด เล่าว่า นับจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 ได้ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำหลายชนิดที่เป็นตัวชี้วัดของระบบนิเวศหายไปจากพื้นที่ โดยเฉพาะ “เคย” ที่ใช้ทำกะปิ ซึ่งได้หายไปจากชายหาดระยองมาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี

 

“จนกระทั่งช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ชาวบ้านพบว่า เคย รวมถึงสัตว์ทะเลอื่นๆ เริ่มกลับมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจเป็นเพราะช่วงโควิดที่ทรัพยากรธรรมชาติหลายๆ แห่งเริ่มฟื้นฟู และชาวบ้านเพิ่งเริ่มกลับมาจับเคยกันได้อีกครั้ง จนกระทั่งมาเจอเหตุการณ์น้ำมันรั่วอีกในครั้งนี้” มานพ อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น

 

ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่เขาได้ระบุถึงคือควรนำเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งก็คือ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) เข้ามาใช้ในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อให้เห็นความสำคัญของมิติทางสุขภาพที่ตีออกมาเป็นมูลค่าได้มากขึ้น

 

สำหรับการทำ HIA ในพื้นที่ระยอง มานพเล่าว่า เคยมีการศึกษาช่วงหนึ่งเมื่อประมาณปี 2558 ซึ่งในครั้งนั้นได้ผ่านเหตุการณ์น้ำมันรั่วมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังเป็นช่วงที่มีสถานการณ์จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ที่จะมีการถมทะเลกว่า 1,000 ไร่ ฯลฯ อยู่

 

“ข้อค้นพบหนึ่งที่เราเห็นชัดเจน คือการพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วมของพี่น้องชาวบ้านในการร่วมกำหนดนโยบายใหญ่ นำมาซึ่งการสร้างผลกระทบกับคนเล็กคนน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเกิดมลพิษจากการจัดการที่ไม่ดีก็ส่งผลกระทบที่ต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้าขาย การประมง ไปจนถึงเรื่องของอาหาร

 

“นอกจากนี้ยังพบว่าแหล่งจับปลาของพี่น้องประมงพื้นบ้าน มีการปนเปื้อนทั้งน้ำมันรั่ว มลพิษทางน้ำ เศษเถ้าจากถ่านหิน รวมถึงภัยพิบัติที่เกิดจากการกัดเซาะชายฝั่ง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนำมาสู่การต่อสู้เพื่อกำหนดการมีส่วนร่วม มีกลไกการต่อรองที่เชื่อมกับหลายส่วนได้ มีภาคราชการเข้ามารับฟังมากขึ้น แต่ยังขาดกลไกที่จะผลักดันต่อเพื่อให้มีกระบวนการลดผลกระทบเหล่านี้” มานพ ระบุ

 

เขา เล่าต่อว่า การประเมินในครั้งนั้นได้มีข้อเสนอจากภาคประมงพื้นบ้าน ที่ต้องการเห็นการจัดการมลพิษทางน้ำ อย่างการเสนอให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษ รวมถึงสิ่งที่มีการพูดถึงหลายครั้งคือการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูทรัพยากรในระยะยาว โดยเป็นการสมทบจากภาคอุตสาหกรรม และให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตามสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้น

 

มานพ มองว่าในขณะนี้ HIA จึงน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีและควรหยิบยกขึ้นมาใช้ เพื่อลดปัญหาทางสุขภาพในอนาคต โดยเฉพาะขณะนี้ที่มีความห่วงกังวลในเรื่องของการบริโภคอาหารทะเลในระยอง ที่เริ่มมีปัญหาความไม่ไว้วางใจทั้งจากคนในพื้นที่ รวมถึงนักท่องเที่ยว

 

“HIA จะช่วยสะท้อนผลกระทบเหล่านี้ได้ ทั้งมิติที่สอดคล้องกับฐานทรัพยากร มิติสุขภาพ มิติเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกันหมด ดังนั้นจึงควรใช้เครื่องมือ HIA เข้ามาสร้างกระบวนการต่อ เพื่อให้พี่น้องในพื้นที่ได้รับความชัดเจนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ จะใช้เวลาฟื้นฟูนานเท่าใด และจะนำไปสู่การออกแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาเชิงพื้นที่ที่เหมาะสมด้วยมานพ ระบุ