
กรรมการสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ หนุน ส.ส.ร่วมกันให้ความเห็นชอบ ผ่านร่างกม. 'สมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต' ยกระดับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์7 กันยายน 2565
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์หนุน "สภาผู้แทนราษฎร" ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมาย "สมรสเท่าเทียม-รับรองคู่ชีวิต" โดยยึดหลักการความเสมอภาค เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ ลงวันที่ 6 ก.ย. 2565 เรื่อง กสม. สนับสนุนสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และกฎหมายรับรองคู่ชีวิต โดยยึดหลักการความเสมอภาค เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
สำหรับเนื้อหาในแถลงการณ์ดังกล่าว ระบุว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่) พ.ศ. … จำนวน 2 ฉบับ คือ ฉบับที่เสนอโดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ และฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี
และ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และที่เสนอโดย นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ มีกำหนดเสร็จสิ้น เพื่อเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 ก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภานี้ นั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่า โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการเลือกคู่ครองและสร้างครอบครัวของคนทุกเพศ สอดคล้องกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคล ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 2 ข้อ 23 และข้อ 26 ซึ่งเป็นพันธสัญญาที่ประเทศไทยให้การรับรอง รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการยอกยาการ์ตา (The Yogyakata Principles) ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ
"จึงสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และขจัดการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศในประเทศไทย อีกทั้งจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในการสร้างครอบครัวตามแบบที่ต้องการ" ตอนท้ายของแถลงการณ์ ระบุ