
ให้หนังสือ ‘Living will’ แทนคำพูด ออกแบบชีวิตบั้นปลายสู่การ ‘ตายดี’ สช.ระดมภาคี ‘สร้างสุขที่ปลายทาง’ เปิดเวทีร่วมแลกเปลี่ยน 15-16 ก.ย.นี้9 กันยายน 2565
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยถึงประเด็น "มาตรา 12" ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ให้สิทธิคนไทยทุกคน สามารถทำหนังสือแสดงเจตนาการดูแลตนเองในระยะท้าย หรือ Living will เพื่อให้เป็นไปตามประสงค์ความต้องการของตัวเอง สำหรับการวางแผนการรักษาในระยะท้ายของชีวิต ผ่านรายการเวทีความคิด คลื่นวิทยุ 96.5
ไฮไลท์ของการพูดคุย นพ.ประทีป ให้ภาพรวมถึงความหมายของหนังสือแสดงเจตนาฯ ที่เป็นสิทธิของคนไทยทุกคนที่สามารถเลือกความต้องการการรักษา เลือกสถานที่เสียชีวิต เลือกเพื่อให้คุณภาพชีวิตของตัวเองในช่วงท้ายของตัวเองให้ดีอย่างที่สุด
รวมถึงไปการสานความร่วมมือ เชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย และในอนาคตจะเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลของการบริจาคอวัยวะของผู้ป่วยระยะท้าย ที่แสดงไว้ในหนังสือแสดงเจตนาฯ ตามมาตรา 12 กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการรับบริจาคอวัยวะในการต่อชีวิตของผู้ป่วยรายอื่นต่อไป
‘Health Station’ ขอหยิบยกประเด็นสำคัญที่ นพ.ประทีป บอกเล่า มานำเสนอกับทุกคนให้รับรู้อีกครั้ง เพราะสิทธิการตายดี คนไทยทุกคนสามารถเลือกเองได้อย่างที่ต้องการ
หนังสือ Living will คำพูดแทนผู้ป่วย
หนังสือแสดงเจตนาการดูแลตนเองในระยะท้าย หรือ Living will อาจเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นพินัยกรรมชีวิต ที่แตกต่างจากพินัยกรรมทั่วไป แต่มีความคล้ายกันคือเป็นความประสงค์ที่จะจัดการการรักษาตัวเอง เป็นการระบุแนวทางการรักษา หรือต้องการเสียชีวิตอย่างไรในช่วงท้ายของชีวิต ให้กับผู้ให้การรักษา ทั้งหมอ พยาบาล และบุคลากรการแพทย์ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของเราดีที่สุด ทั้งต่อตัวเอง และต่อครอบครัว
"แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่การขอหมอเพื่อให้ทำการุณยฆาต แต่จะเป็นหนังสือที่บ่งบอกถึงแนวทางการรักษาในช่วงท้าย เช่น คนไข้อาจไม่ต้องการให้ใช้อุปกรณ์ สายโยงระยางต่างๆ เพื่อยื้อชีวิต หรือความต้องการที่จะเสียชีวิตที่บ้านแทนที่โรงพยาบาล ตัวอย่างเหตุผลเหล่านี้สามารถใส่ลงไปในหนังสือแสดงเจตนาได้" นพ.ประทีป ให้ข้อมูล
โดยทั่วไปแล้ว หนังสือแสดงเจตนาฯ หรือ Living will ยังเป็นหนังสือที่ใช้สื่อสารกับผู้ให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งหากมีหนังสือฉบับนี้ตั้งแต่แรก ก็จะเป็นเครื่องมือสื่อสารไปถึงแพทย์ พยาบาล หรือผู้ให้การรักษา ได้รู้ถึงจุดประสงค์ของตัวเราเอง ในกรณีที่ช่วงท้ายของชีวิตผู้ป่วยไม่อาจสื่อสารได้กับแพทย์อีกต่อไป ขณะเดียวกันหนังสือฉบับนี้ก็จะมีหน้าที่ในการบ่งบอกให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้รับรู้ถึงเจตนาของผู้ป่วยที่ได้ทำเอาไว้ สำหรับการรักษาในช่วงท้ายของชีวิตเขาเอง
นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประชาชนเริ่มเข้าใจถึงสิทธิในการออกแบบการ "ตายดี" ของตัวเองได้ผ่านการแสดงเจตจำนงในหนังสือ Living will ซึ่งสามารถทำไว้ล่วงหน้าได้ตามสิทธิเสรีภาพที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ แต่จะต้องมีพยานลงนามตามกฎกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ออกระเบียบตาม มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว นพ.ประทีป ให้ภาพว่าการมีพยานในการลงนามในหนังสือแสดงเจตนาฯ อาจทำได้ยาก เพราะผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีญาติ หรือติดต่อครอบครัวไม่ได้เลย
"แต่ประเด็นหลักของการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ คือการทำความเข้าใจของเนื้อหา สิทธิในการเลือกการรักษาของตัวเอง ซึ่งสามารถทำได้และฝากเป็นสำเนาคู่ไปกับเวชระเบียนของโรงพยาบาลที่รับการรักษาเป็นประจำ เพื่อให้อย่างน้อยเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และสื่อสารไม่ได้ หนังสือแสดงเจตนาฯ ของเราที่ทำไว้ จะทำหน้าที่สื่อสารให้แทน" นพ.ประทีป ให้คำแนะนำ
อย่างไรก็ตาม หนังสือแสดงเจตนาฯ ก็มิใช่ว่าทำครั้งเดียวแล้วจบ ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ในกฎหมายของมาตรา 12 ยังระบุให้มีการปรับเปลี่ยน แก้ไข ปรับปรุงหนังสือแสดงเจตนาฯ ได้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยเอง
สานความร่วมมือ ผลักดันอนาคต "สิทธิการตายดี"
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะหน่วยงานที่ขับเคลื่อนสิทธิการตายดีตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ยังได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชนที่สนใจเรื่องนี้ เพื่อร่วมกันวางระบบแนวทางการวางแผนดูแลผู้ป่วยระยะท้าย รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ที่เป็นอีกส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาผู้ป่วยระยะท้ายตามเจตจำนงของผู้ป่วย
นพ.ประทีป ให้ภาพว่า สช.ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อร่วมมือจัดทำแนวทางการวางแผนดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย พร้อมทั้งกำหนดแนวทาง วิธีการดูแลผู้ป่วยช่วงท้ายของชีวิต ในแง่มาตรฐานของมนุษย์ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใด เพื่อให้โรงพยาบาล สถานบริการสาธารณสุข ได้ใช้เป็นแนวทางดูแลผู้ป่วย
รวมไปถึงมีการร่วมมือกับ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อจัดทำองค์ความรู้แบบออนไลน์ให้ประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ ได้เรียนรู้ถึงสิทธิตามมาตรา 12 ในการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ
ขณะเดียวกันความร่วมมือกับ กรมการแพทย์ ก็ยังจะพัฒนาระบบบริการ สาขาการดูแลประคับประคอง หรือ Service Plan ซึ่งได้นำมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ เข้าไปบูรณาการกับการดูแลประคับประคองด้วย และได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการนำแนวทางการวางแผนดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เป็นเกณฑ์สำหรับเบิกจ่ายค่าชดเชยบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565
"นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือ สช. กำลังร่วมกันกับหลายหน่วยงาน เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลของผู้ป่วยระยะท้ายที่แสดงหนังสือเจตนาฯ ให้เป็นข้อมูลที่เชื่อมต่อกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ในกรณีที่ผู้ป่วยระยะท้ายแสดงเจตนาว่าต้องการบริจาคอวัยวะเมื่อเสียชีวิตด้วย เพื่อให้โรงพยาบาลได้เข้าถึงข้อมูลที่จะสามารถขอรับบริจาคอวัยวะเพื่อไปรักษา และต่อชีวิตของคนไข้รายอื่น" นพ.ประทีป กล่าว
งาน "สร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4" ให้คนไทยเข้าใจสิทธิ
นพ.ประทีป ยังพูดถึงกิจกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ที่กำลังจะมีการจัดงาน "สร้างสุขที่ปลายทาง" ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการจัดต่อเนื่องมาทุกปี เพื่อให้ความรู้กับประชาชน หน่วยงานต่างๆ ที่สนใจเรื่องสิทธิการตายดี ผ่านวิทยากร นักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ และแนวทางการดูแลผู้ป่วยในระยะท้าย
สำหรับงาน "สร้างสุขที่ปลายทาง" ในปีนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ก.ย. 2565 ที่โรงแรม แกรนด์ริชมอนด์ จ.นนทบุรี โดยประชาชนทั่วไปสามารถมาร่วมงานได้ผ่านการลงทะเบียน หรือรับฟัง รับชม กิจกรรมต่างๆ ในงานได้ผ่านเพจ Facebook live "สช.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ" เพื่อร่วมกันสร้างพลังใจ พลังความร่วมมือ เพื่อสุขที่ปลายทางด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์
"การร่วมกันขับเคลื่อนให้การเดินทางของชีวิตบรรลุถึงเป้าหมายปลายทางที่ต้องการ นับเป็นเรื่องสำคัญของทุกคน แน่นอนว่าการไม่เจ็บป่วยถือเป็นลาภอันประเสริฐ แต่เมื่อเจ็บป่วยถึงระยะท้ายของชีวิตที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไร ทุกคนก็ควรมีสิทธิเลือกการรักษาที่เหมาะสมสำหรับตัวเองและครอบครัวไว้ตั้งแต่แรกได้" เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทิ้งท้าย