บนแนวคิด รมช. ‘สาธิต ปิตุเตชะ’ ‘ความตาย’ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวต่อไป เมื่อสิทธิวาระสุดท้ายเราเลือกได้ ด้วยมาตรา 12 ‘ถอดสลักความทุกข์’
16 กันยายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

การพูดถึง “ความตาย” ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หรือกลายเป็นเรื่องอัปมงคลอีกต่อไป เพราะด้วยการขับเคลื่อนของหลากหลายหน่วยงาน ได้ชวนคนไทยได้เห็นภาพถึงบั้นปลายชีวิตของตัวเอง ที่จะต้องตายไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ความทุกข์ แต่กลายเป็นความสุขที่สวยงาม


เนื่องด้วยชีวิตในระยะสุดท้าย เราสามารถวางแผนการดูแลตัวเองตามความต้องการได้ ทั้งการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) การแสดงความไม่ต้องการใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆ หากท้ายที่สุดการรักษานั้นเป็นไปเพื่อยืดความตาย แต่ต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานจาการรักษา


การเลือกที่ตายในวาระสุดท้ายของชีวิตนี้ จึงเป็นสิทธิที่คนไทยทุกคนเลือกได้




ความหนักแน่นของคำพูดที่ว่า ความตายในบั้นปลายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถูกย้ำอีกครั้งโดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธาณสุข ที่ปาฐกถาพิเศษภายในงาน “มหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4” ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง” โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายอีก 13 องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2565


ดร.สาธิต ให้ภาพว่า ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 จะมีมาตรา 12 ที่เป็นมาตราสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ในการให้สิทธิคนไทยทุกคนเลือกได้ว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” การรักษาที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดความตายในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นทางเลือกโดยเฉพาะกับผู้ป่วยระยะท้ายและครอบครัว ในการสร้างสุขภาวะระยะท้ายของชีวิตอย่างมีคุณภาพ บนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และตรงกับความต้องการของผู้ป่วยที่อยากได้รับการดูแลรักษาแบบใด


“มาตรา 12 จะเป็นสิทธิที่ทำให้ผู้ป่วยระยะท้าย ครอบครัวของผู้ป่วยได้ ถอดสลักความทุกข์’ อย่างสมัครใจ ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้ได้เข้าใจสัจธรรมของชีวิตตามหลักพุทธศาสนา ที่ทุกชีวิตล้วนเกิดมา ตั้งอยู่ และดับไป แต่เป็นการจากไปอย่างมีคุณภาพชีวิต และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ดร.สาธิต ยืนยัน




ขณะเดียวกัน รมช.สาธารณสุข ยังให้แนวคิดกับบุคลากรด้านสุขภาพที่มาร่วมงาน ถึงแรงกระตุ้นในการผลักดันงานดูแลประคับประคองผู้ป่วยระยะท้าย ด้วยมองเห็นว่าสิทธิตามมาตรา 12 ยังเป็นความท้าทายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างความเข้าใจอันดีให้กับสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยระยะสุดท้าย เนื่องจากแต่ละครอบครัวอาจจะเข้าใจเรื่องการตายแตกต่างกัน


ฉะนั้นบุคลากรด้านสุขภาพ จะเป็นพลังสำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองในผู้ป่วยระยะสุดท้าย และสิทธิในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ และอีกด้านก็จะเป็นการลดความกดดันของบุคลากรทางการแพทย์ได้ด้วย


“การดูแลแบบประคับประคองอย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะสุดท้ายดีขึ้นก่อนจากไปอย่างสงบ หรือในบางกรณีการดูแลแบบนี้ยังช่วยยืดชีวิตออกไป หรือดำรงชีวิตได้ต่อไปอีกอย่างมีคุณภาพด้วย” ดร.สาธิต ทิ้งท้าย