
หยุด ‘การรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์’ ‘นพ.ฉันชาย’ ย้ำเตือนบุคลากรแพทย์ สำรวจเป้าหมายการรักษาระยะท้าย เป็นความต้องการ ‘ญาติ’ หรือ ‘ผู้ป่วย’ ?16 กันยายน 2565
การรักษาไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เสมอไป?
ประเด็นนี้กลายเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมากระตุ้นเตือน ภายในการพูดคุยของวงเสวนา “ต้องรู้อะไรบ้างเมื่อต้องรับมือกับความตาย” ซึ่งเป็นหัวข้อหนึ่งในงาน “มหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย ภายใต้แนวคิด “วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง”
เรื่องของ “การรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์” ถูกฉายภาพให้เห็นโดย นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้แนวคิดต่อบุคลากรทางการแพทย์ว่า ควรที่จะต้องให้การรักษาที่เกิดประโยชน์กับคนไข้ และหยุดการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งเป็นหลักคิดง่ายๆ แต่เป็นหัวใจสำคัญของการรักษาพยาบาล
อย่างไรก็ตาม การที่จะบอกได้ว่าการรักษาใดที่เป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ หลักการสำคัญคือ “คุณภาพชีวิต” ตั้งแต่การดูแลสุขภาพป้องกันโรคตอนที่ร่างกายยังแข็งแรง เรื่อยไปจนถึงการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ไปจนสู่ปลายทางในจุดสุดท้ายของชีวิต คือการทำให้ผู้ป่วยระยะท้ายได้มีการตายที่ดี
ขณะเดียวกันการรักษาที่ก่อให้เกิดประโชน์หรือไม่เกิดประโยชน์ ยังมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ “เป้าหมายของการรักษา” ซึ่งจะเป็นส่วนเดียวที่มีความชัดเจนมากที่สุด เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่าการรักษานั้นทำไปเพื่อใคร และเพื่ออะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการรักษาผู้ป่วยในระยะสุดท้าย
“หากการรักษาไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้แล้ว การรักษานั้นก็ไม่มีประโยชน์ หรือการรักษาที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดเวลาชีวิตออกไปไม่กี่วัน หากเป็นการทรมานผู้ป่วย และไม่ใช่ความต้องการของผู้ป่วย ญาติ หรือครอบครัว การรักษานั้นก็ไร้ประโยชน์เช่นกัน” นพ.ฉันชาย เน้นย้ำ
ทว่าหากว่าการยื้อชีวิตเอาไว้เพียงไม่กี่วันนั้น เป็นไปเพื่อให้ลูกหลานสามารถเดินทางมาร่ำลากันครั้งสุดท้ายได้ทัน ตามเจตนาความต้องการของผู้ป่วยหรือญาติที่เห็นตรงกัน การรักษานั้นก็ย่อมมีประโยชน์เช่นกัน
นพ.ฉันชาย ระบุว่า ดังนั้นแพทย์จึงไม่อาจตอบได้ว่าเป้าหมายของการรักษาคืออะไร แต่แน่นอนว่าหน้าที่ของแพทย์คือจะต้องทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และตรงกับความต้องการของตัวผู้ป่วยเอง
สำหรับการรักษาที่ก่อให้เกิดประโยชน์ จึงขึ้นอยู่กับความต้องการและเป้าหมายของคนไข้ที่แสดงเจตนาเอาไว้ก่อนที่วาระสุดท้ายจะมาถึง ที่จะบ่งบอกทั้งญาติ สมาชิกในครอบครัว รวมถึงแพทย์ที่ดูแลให้ได้เข้าใจถึงความต้องการของตัวเอง
ในส่วนการรักษาที่อยู่กับความทรมาน อยู่กับโรคที่ไม่อาจรักษาได้แล้ว แต่รักษาไปเพียงเพื่อจะยื้อความตายออกไป อย่างนี้ก็ถือว่าไม่มีประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าเมื่อโรคไม่อาจรักษาให้หายได้แล้วแพทย์จะทอดทิ้ง หากแต่ยังมีทางเลือกอื่นๆ ในการดูแลผู้ป่วย เช่น การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)
ทั้งนี้ การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care จะช่วยลดความทรมานจากการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์กับผู้ป่วย โดยเฉพาะกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต แต่ก็ยังเป็นคนละเรื่องกับการขอให้ทำ “การุณยฆาต” หรือการร้องขอความตายเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน เพราะการการุณยฆาตเป็นการเร่งความตาย
ในขณะที่ Palliative Care ตามความหมายที่ นพ.ฉันชาย อธิบาย หมายถึงการยอมรับความตาย และระหว่างที่จะไปถึงปลายทาง ก็จะได้รับการดูแลจากบุคลากรสาธารณสุขที่เพิ่มคุณภาพชีวิต ให้การดูแลที่เป็นประโยชน์ และหยุดการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อคนไข้
“ประโยชน์ที่ว่า จะต้องเป็นประโยชน์ของผู้ป่วย ไม่ใช่ของญาติ หรือของใคร ต้องขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเป็นหลัก” นพ.ฉันชาย ย้ำ
ทั้งนี้ เป้าประสงค์ของผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิต ที่จะเป็นเป้าหมายของการรักษาและการดูแลในช่วงดังกล่าว จะต้องมาจากการวางแผนการดูแลล่วงหน้า หรือ Advance Care Plan (ACP) ซึ่งจะเป็นการแสดงเจตจำนงของผู้ป่วย ว่าเมื่อวาระสุดท้ายใกล้มาถึงแล้วผู้ป่วยต้องการให้เป็นไปอย่างไร
สำหรับความสำคัญของ ACP ยังถูกกล่าวย้ำภายในเวทีเสวนาเดียวกัน โดย พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูน ที่ระบุว่า การวางแผนการดูแลล่วงหน้าจะมีความสำคัญอย่างมากต่อบุคลากรแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย เพราะจะรู้ได้ว่าผู้ป่วยต้องการอะไร และมองว่าสิ่งไหนที่ดีกับตัวเอง
“เพราะคำนิยามของคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นมีความแตกต่างกัน ในระยะสุดท้ายบางคนอาจไม่อยากรักษาแล้ว อยากให้ดูแลจนจากไปอย่างสงบ หรือบางคนอาจจะขอยื้อชีวิตเอาไว้ เพราะการจากไปอาจทำให้คนอยู่ ทำใจได้ลำบาก” พญ.นิษฐา กล่าว
ดังนั้น การวางแผนรักษาดูแลล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญของชีวิต แม้แต่การวางแผนการตายก็เช่นกัน ซึ่งในช่วงระยะสุดท้ายนี้เอง ครอบครัวและผู้ป่วยอาจต้องเริ่มพูดคุยและทำความเข้าใจในวาระสุดท้ายของชีวิตร่วมกัน เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าจังหวะเวลาของการตายจะมาหาเราเมื่อไร
“เราเคยพูดว่า ‘พรุ่งนี้กับชาติหน้า ไม่รู้อะไรจะมาถึงก่อนกัน’ และก็เชื่อได้เลยว่าทุกคนหากจะต้องตาย ก็ขอให้ตายดี ไม่ทรมาน ดังนั้นการวางแผนเมื่อมีสติ มีความพร้อม และมองเห็นความต้องการเมื่อปลายทางของตัวเองมาถึง จึงเป็นสิ่งสำคัญ” พญ.นิษฐา ทิ้งท้าย