
หลักธรรม ‘พระไพศาล วิสาโล’ ย้ำเตือนความไม่ประมาทในชีวิต รู้จัก ‘วางแผนล่วงหน้า’ ไว้ก่อนตาย มุ่งหน้าสู่บั้นปลายด้วยใจสงบ-สุข19 กันยายน 2565
เพื่อให้ “ความตาย” กลายเป็นเรื่องที่เราพูดคุยกันได้เป็นปกติ เวที Dead Talk “พูดคุยเรื่องความตาย” จึงเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของงาน “มหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4” ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง”
เป้าหมายสำคัญก็เพื่อเป็นการส่งสารไปถึงประชาชนทั่วไป รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุข ได้ร่วมกันทำความเข้าใจถึงความตายว่าไม่ได้น่ากลัว หากแต่เป็น “สัจธรรมของชีวิต” ที่ทุกชีวิตล้วนต้องเผชิญ ทว่าจะเผชิญอย่างไรให้มีความสุข ให้เกิดความงดงามขึ้นภายในจิตใจ ก่อนที่จะเดินทางไกลไปจากโลกนี้ เหล่านี้คือสิ่งที่น่าไตร่ตรอง
พระอธิการไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ คือท่านหนึ่งที่ออกมาให้แง่มุมของความตายว่าไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว แต่ความตายมีความสำคัญต่อชีวิต ยิ่งหากมีการวางแผนเตรียมตัวที่ดี การเลือกที่จะไม่ทุกข์ทรมานจากการรักษาที่ไม่จำเป็น จะมีส่วนช่วยให้ตายอย่างสงบหรือ “ตายดี” ได้
สำหรับการวางแผนเตรียมตัวเพื่อให้ระยะสุดท้ายของชีวิตเราจากไปได้อย่างสงบ บอกเจตนาล่วงหน้าถึงความต้องการของตัวเองว่าจะรักษาอย่างไร ดูแลอย่างไร เหล่านี้ยังเป็นการลดภาระให้กับลูกหลานที่ดูแลเรา โดยทำให้ลูกหลาน รวมถึงแพทย์ สามารถตัดสินใจการดูแลได้ตามที่เราต้องการ
“อาตมาเห็นว่า หากต้องการตายดี ตายสงบ และไม่ต้องการสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตัวเอง ไม่สร้างภาระให้ลูกหลาน ผู้ดูแล ก็ควรเตรียมความพร้อมเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ผ่านการแสดงเจตนาด้วยลายลักษณ์อักษร วาจา” พระอาจารย์ท่านนี้เน้นย้ำ
พระอธิการไพศาล ให้มุมมองเพิ่มว่า การวางแผนล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวตาย ยังสอดคล้องกับหลักคิดทางพุทธศาสนา ที่ชี้ให้เห็นถึง “ความไม่ประมาท” ต่อความตาย เพราะความตายเอาแน่เอานอนไม่ได้ ไม่เที่ยงใดๆ และมนุษย์ทุกคนไม่อาจรู้ได้ว่าจะตายเมื่อใด ตายอย่างไร หรือแม้แต่ตายแล้วไปไหน
หากแต่เมื่อวันนี้ที่เรายังมีสุขภาพที่ดี ก็ต้องไม่ประมาท และควรวางแผนเอาไว้แต่เนิ่นๆ ว่าเมื่อถึงระยะสุดท้ายของชีวิตแล้ว ตัวเราที่เป็นเจ้าของชีวิตอยากทำอะไรกับร่างกาย ต้องการให้ผู้อื่นช่วยดูแลเราให้สุขสบายเท่าที่จะทำได้ เมื่อใกล้ตายแล้วขออย่าให้ทุกข์ทรมาน หรือหากแม้นเกิดตายอย่างกระทันหันขึ้นมา จะมีคำสั่งเสียล่วงหน้าไว้อย่างไร
แน่นอนว่าทั้งหมดนี้คือการแสดงออกถึงความไม่ประมาทในชีวิต และยังเป็นการยอมรับความตาย
พระอาจารย์ไพศาล ยังได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ถึงการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะถึงวาระสุดท้ายของชีวิตตนเอง โดยเฉพาะการเขียน “พินัยกรรมชีวิต” ของพระอาจารย์ ที่แสดงถึงเจตนาความต้องการเมื่อเวลาสุดท้ายมาถึง
ทั้งนี้ เมื่อเจ็บป่วยในระยะท้ายและตัดสินใจไม่ได้ด้วยตัวเอง พระอาจารย์ไพศาลได้มีคำขอเอาไว้ คือ 1. ห้ามผ่าตัดใหญ่ 2. ห้ามใช้เครื่องช่วยหายใจ 3. ไม่ปั๊มหัวใจหากหัวใจหยุดเต้น 4. ห้ามใช้เทคโนโลยีเพื่อยื้อชีวิต หากการรักษานั้นไม่ได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
พร้อมกันนี้ยังมีการมอบหมายให้บุคคล 3 ท่าน ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนาดังกล่าว หรือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ก็ให้ทั้ง 3 ท่านได้ตัดสินใจร่วมกัน นั่นคือพินัยกรรมชีวิตพระอาจารย์ไพศาล
พระอาจารย์ให้คำยืนยันด้วยว่า ลูกหลานจะไม่ผิด ไม่บาป หากว่าไม่ยื้อชีวิตให้กับผู้ป่วยที่เป็นญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต เมื่อการยื้อชีวิตนั้นมีแต่ความทุกข์ทรมาน แต่หากการยื้อชีวิตแล้วทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้อยู่นานขึ้นอย่างสุขสบาย ไม่ทุกข์ทรมาน แบบนี้พระอาจารย์ก็เห็นด้วยว่าน่าทำ
หากแต่เมื่อยื้อชีวิตไปแล้วต้องแลกมาด้วยความทุกข์ทรมานของร่างกาย เกิดการเจ็บปวด รังแต่จะทำให้คนอยู่เกิดความทุกข์ใจ และมีโอกาสซึมเศร้าเมื่อสุดท้ายญาติผู้ใหญ่ของเราต้องจากไปอยู่ดี
“ทำไมถึงซึมเศร้า ก็เพราะเสียใจ ที่เห็นเขาทุกข์ทรมาน และรู้สึกผิดที่ต้องเห็นการยื้อชีวิตคนที่เรารักผ่านการรักษา ทั้งเจาะคอ ผ่าตัด หรือปั๊มหัวใจ แล้วสุดท้ายก็ต้องตาย แต่หากเป็นการดูแลแบบประคับประคอง ญาติก็ทำใจไว้ล่วงหน้าได้ว่าสุดท้ายคนที่เรารักจะได้ตายอย่างสงบ สุดท้ายคนที่อยู่ก็จะได้ยิ้มทั้งน้ำตา น้ำตาที่มาจากความเศร้า กับรอยยิ้มที่ได้เห็นญาติจากไปด้วยความสงบ” พระไพศาล ให้แง่มุม
พระอาจารย์ท่านนี้มองอีกว่า การที่ครอบครัว ญาติ ลูกหลาน ช่วยให้พ่อแม่หรือสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตได้จากไปอย่างสงบ หลังจากที่ได้ดูแลแบบประคับประคองอาการไปแล้ว จึงไม่ใช่การทำบาป และห่างไกลจากคำว่า “ลูกหลานไม่ดูแล ไม่ยื้อชีวิต” เพราะหากตายก็คือการตายเพราะโรคภัย แต่ไม่ใช่ลูกหลานที่ไปเร่งการตาย
“ไม่ว่าจะเป็นการยื้อ หรือการเร่งความตาย ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีทั้งคู่” พระอาจาย์ไพศาล ให้ข้อคิด
อีกหนึ่งประเด็นที่พระอาจารย์ไพศาลได้ให้ความรู้กับสาธารณะ คือการเตรียมตัวเองให้พร้อมกับการจากไป จะต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้เป็นไปโดยสงบ ซึ่งข้อแนะนำถึงสิ่งที่สามารถทำได้ คือ 1. นึกถึงพระ โดยหากเป็นพุทธศาสนิกชนก็ให้นึกถึงพระรัตนตรัย หากเป็นชาวคริสต์ก็ให้นึกถึงพระผู้เป็นเจ้า หรือหากเป็นชาวมุสลิมก็ให้นึกถึงพระอัลเลาะห์ เป็นต้น
2. ละทุกสิ่ง ปล่อยวางทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน คนรัก หรือความนึกคิดว่าตายไปแล้วไปไหน เพราะเรารู้ไม่ได้ ทุกอย่างจึงอยากให้วางทั้งหมด
“หากเราเตรียมพร้อมดี บั้นปลายของชีวิตก็จะดีไปด้วย หากดำเนินชีวิตดี ละเว้นความชั่ว ทำความดี เอาไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เมื่อถึงเวลาป่วย ถึงเวลาใกล้ตาย สิ่งที่เราทำดีมาก็จะช่วยให้เราไปดีได้ ขอเจริญพร” พระอาจารย์ไพศาล ทิ้งท้าย