
กรมการแพทย์ ย้ำไทยมาถูกทาง หนุนคนไข้วางแผนล่วงหน้า 'ACP' ให้การดูแลแบบประคับประคอง ลดทุกข์ทรมานในระยะท้ายของชีวิต19 กันยายน 2565
รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผย สธ.ขยายการดูแลประคับประคองไปหลากหลายกลุ่มโรค ไม่เฉพาะมะเร็ง ชี้ไทยมาถูกทางในการหนุนทำ “Advance Care Plan” ด้วยการดูแลประคับประคอง จะลดทอนโอกาสต้องไปรักษาตัวในห้องไอซียู ลดภาระการใช้ทรัพยากร-นำไปให้ในผู้ป่วยรายที่จำเป็น ย้ำภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนยังต้องร่วมมือกันขยายงานต่อไป
นพ.มนัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารสุข (สธ.) เปิดเผยในงาน “มหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4” จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2565 ถึงประเด็นภาพรวมของการให้บริการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) รวมถึงการวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้าหรือ Advance Care Plan (ACP) ระบุว่า สธ.ดูแลสุขภาพประชาชนทุกช่วงอายุ ทุกกลุ่มโรคอย่างองค์รวม โดยเฉพาะกับการที่ต้องมีระบบดูแลครอบคลุม Palliative care ที่สอดรับกับองค์การอนามัยโลก (WHO)
นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ หรือ Service plan ด้านการดูแลประคับประคองให้ครอบคลุมทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ โดยเฉพาะกับการดูแลระดับตติยภูมิ ที่จะมีศูนย์การดูแลประคับประคอง ซึ่งมีทีมแพทย์ พยาบาล และบุคคลการสหวิชาชีพ ขณะเดียวกันยังได้แบ่งการเข้าถึงบริการ โดยไม่ต้องส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องดูแลประคับประคองไปยังสถานบริการระดับตติยภูมิ แต่สามารถนำระบบการบริการไปถึงพื้นที่ ในชุมชน หรือระดับปฐมภูมิได้เลย
อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในการดูแลประคับประคอง ในปี 2566-2570 สธ.ได้วางเป้าหมายขยายการดูแลประคับประคองไปยังกลุ่มโรคอื่นๆ เพิ่มเติม จากเดิมที่จะดูแลในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเท่านั้น และมุ่งเน้นให้ระบบ 3 หมอในชุมชน ขับเคลื่อนบูรณาการการดูแลประคับประคองเข้าถึงระดับชุมชนให้มากขึ้น
นพ.มนัส กล่าวว่า ในส่วนของการวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า หรือ ACP ซึ่งจะสอดรับกับการดูแลประคับประคองเช่นกันนั้น จะเป็นมาตรฐานสำคัญในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในการเพิ่มเติมคุณภาพชีวิต มากกว่าการรักษาเพื่อยื้อชีวิตเอาไว้ รวมไปถึงผู้ป่วยที่วางแผน ACP ไว้ล่วงหน้า จะทำให้สื่อสารกับครอบครัว บุคลากรการแพทย์ ได้เข้าใจถึงเจตนารมย์ในการรักษาของผู้ป่วย และดำเนินการให้เป็นไปตามที่ต้องการ เพื่อลดการรักษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วย
“การทำ ACP ในประเทศไทย หากมีการวางระบบที่ดี และประชาชนเข้าใจถึงสิทธิในด้านนี้มากขึ้น จะช่วยในเรื่องทรัพยากรทางการแพทย์สำหรับนำไปใช้กับผู้ป่วยที่จำเป็น เช่น หากมีการดูแลประคับประคองที่ดี ก็จะช่วยลดผู้ป่วยที่ต้องรักษาในห้องไอซียูให้น้อยลง ซึ่งเป็นการลดการเข้าห้องฉุกเฉิน และเป็นการลดภาระทางอ้อม” นพ.มนัส กล่าว
นพ.มนัส ยังกล่าวอีกว่า จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคคุกคามชีวิตที่ได้มีการทำ ACP ไว้ล่วงหน้า และได้รับการดูแลแบบประคับประคอง จะมีแนวโน้มของการเข้ารักษาในห้องไอซียูที่น้อยกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้วางแผนเอาไว้ ในส่วนผู้ป่วยสูงอายุที่ได้รับการดูแลในชุมชน หากได้รับการจัดทำ ACP ก็จะช่วยลดโอกาสที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และการเข้าห้องฉุกเฉิน
“ประเทศไทยเดินมาถูกทิศทางแล้ว สำหรับการดูแลประคับประคอง และการทำ ACP เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียด้วยกัน ซึ่งยังเห็นโอกาสพัฒนาและขยายระบบสุขภาพในเรื่องนี้ได้อีกหลายมิติ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องผ่านการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อน” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว