ออกแบบสังคมรองรับ 'ผู้สูงวัย' ทิศทางต่อไปต้องใช้เทคโนโลยี วงถกเสริมพลังคนรุ่นใหม่คิดค้น นวัตกรรมดิจิทัลเพิ่มคุณภาพชีวิต
20 กันยายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

จากข้อมูลที่ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ บอกกับสาธารณะกลางงาน “สร้างสุขที่ปลายทาง ปีที่ 4” เมื่อไม่นานที่ผ่านมา ทำให้เห็นความชัดเจนของสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ได้กระจ่างมากขึ้น ว่าในอีก 9 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ 

 

นั่นหมายความว่า เรากำลังเดินเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับ "สุดยอด" ในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า 

 

คำถามที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยจะออกแบบสังคมอย่างไร เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่คำว่าที่สุดของสังคมผู้สูงอายุ

 

รวมไปถึงบทบาทใด ที่คนในประเทศไทยทุกคนจะสามารถเข้ามามีบทบาทจัดการร่วมกัน เพราะที่ท้ายสุด ไม่ว่าคนในวัยทำงาน หรือวัยรุ่นในชั่วโมงนี้ ก็จะแก่ตัวไปเรื่อยๆ และอยู่ภายใต้สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการดำรงชีวิตในสังคมสูงวัย 

 

ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสดี ที่เราได้เห็นแสงสว่างของความร่วมมือกันจากเวทีระดมความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ในหัวข้อ "สังคมสูงวัยและอนาคตของประเทศไทย" กลางงานประกวด "นโยบายและพัฒนานวัตกรรมดิจิตอล เพื่อสุขภาพ เพื่อพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย" TYPI 2022 Pre Conference Webinar Oldie but Healthy” เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา

 

นับว่าภาคสังคมขยับตัวเร็วกับเรื่องคนสูงวัย ที่ต้องมีระบบสุขภาพที่เอื้อต่อประชากรสูงวัยที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต ด้วยการดึงเอา 4 วิทยากร มาพูดถึงสังคมสูงวัย ที่ในอนาคตจะต้องมีนวัตกรรม เทคโนโลยี เข้ามาเสริมแรงในการทำให้คุณภาพชีวิตของคนสูงวัยดีขึ้นอย่างองค์รวม



 

ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 วิทยากร เริ่มต้นเล่าว่า กทม.พยายามในการนำเทคโนโลยีมาใช้กับกลุ่มคนสูงวัย และกลุ่มอื่นๆ ด้วย โดยหนึ่งในเครื่องมือที่นำมาใช้คือ ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) แต่ก็ยังพบว่าใน กทม. มีผู้สูงวัยแค่ 30% เท่านั้นที่เข้าถึง ซึ่งเห็นได้ว่าแม้เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องดูแลได้ แต่ก็สร้างความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน

 

“ปัญหาอาจมาจาก อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. หรือ อสส. อาจจะไม่แอคทีฟมากพอ หรือ Telemedicine ไม่ได้พัฒนาต่อให้เกิดการเข้าถึงให้มากขึ้น แต่ภาพรวมทั้งหมดเกิดจากที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้วางแผนการเข้าสู่สังคมสูงวัยมากนัก โดยเฉพาะกับการให้คุณค่าต่อตัวบุคคล” รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุ

 

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มวัยก่อนสูงอายุ (Pre-aging) ที่ก็ยังไม่มีข้อมูลมากนัก เพื่อนำมาวิเคราะห์ศักยภาพ สุขภาพของคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะข้อมูลที่ระบุว่ายังสามารถทำงานได้หรือไม่  

 

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่ปฏิเสธว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนต่อสังคมสูงวัยอย่างแน่นอน แต่รองผู้ว่าฯ รายนี้ก็อยากให้คนที่พัฒนา รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาเทคโนโลยี ให้นึกถึงและเข้าใจข้อจำกัดของการเข้าถึงของคนสูงวัยในแง่กายภาพ เพราะสูงวัยบางคนหูอาจไม่ได้ยินชัด ตามองเห็นไม่เคลียร์ ก็ต้องวางแผนพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยเหล่านี้ด้วย

 

“การใช้เทคโนโลยีดีแน่นอน ทำไปเลย เพราะเทคโนโลยี นวัตกรรมจะทำให้เกิดการเข้าถึงมากขึ้น แต่อย่าลืมคนกลุ่มน้อยที่ยังเข้าไม่ถึงด้วย โดยเฉพาะกับคนสูงวัย” ดร.ทวิดา ทิ้งท้าย

 

---- ผู้สูงวัย เข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้นผ่านแอปฯ เป๋าตัง’ ---- 


รุ่งรุจี ปาลอนันต์กุล จาก Krungthai Digital Health Platform หรือธนาคารกรุงไทย ในฐานะหนึ่งในทีมพัฒนาแอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ได้ให้ความเห็นต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีของคนสูงวัย โดยพบว่า แอปฯ “เป๋าตัง” ที่มาจากนโยบายของภาครัฐ แสดงผลที่ได้เห็นคือ ผู้สูงอายุเข้าถึงแอปฯ ผ่านสมาร์ทโฟนได้มากขึ้น เกิดการใช้งานที่เยอะมากขึ้น

 



เมื่อผู้สูงอายุเข้าใจระบบของแอปฯ ด้วยการเริ่มทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ได้ ทางทีมพัฒนาจึงมองต่อไปด้วยการเพิ่มออปชั่นการใช้งานมากขึ้น นำไปสู่ฟังก์ชั่น “กระเป๋าสุขภาพ” ที่ทำไว้เพื่อผู้สูงอายุ และกลุ่ม Pre-aging แต่คนทุกช่วงวัยก็สามารถเข้ามาใช้งานได้

 

“สำหรับผู้สูงอายุ ฟังก์ชั่นกระเป๋าสุขภาพ เราพยายามให้เข้าถึงสิทธิทางสุขภาพมากขึ้นผ่านการใช้งานแอปฯ โดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพที่เน้นการส่งเสริม ป้องกันก่อนเกิดโรค หรือดูแลตัวเองก่อนที่จะป่วย รวมถึงถูกใช้เป็นช่องทางในการลงทะเบียนทำกิจกรรมสุขภาพ หรือนัดหมายเพื่อรับวัคซีนจากหน่วยบริการภาครัฐได้” รุ่งรุจี กล่าว

 

นอกจากนี้ ในอนาคตฟังก์ชั่นกระเป๋าสุขภาพ ในแอปฯ เป๋าตัง ยังจะเพิ่มเติมระบบแทรกกิ้งผู้สูงอายุ ติดตามสุขภาพ ที่สามารถเชื่อมไปยังสมาร์ทวอช รวมถึงวางระบบการเชื่อมต่อไปยังสถานพยาบาลหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งอนาคตอาจสามารถไปถึงจุดนั้นได้

 

“มองถึงเทคโนโลยีแล้ว ผู้สูงอายุมีความเข้าใจมากขึ้นกับการใช้งานอย่างง่ายๆ ใช้เป็น และมีการทำรายการมากขึ้น โดยเฉพาะกับการซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์ ที่เรามองว่าหากซื้อได้ ก็รับกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนสูงวัยได้เช่นกัน” เธอระบุ

 

รุ่งรุจี ย้ำอีกว่า วันนี้เทคโนโลยีอาจดูล้ำมาก แต่ในอนาคตคนจะเข้าใกล้และเข้าใจมากขึ้น สิ่งที่ล้ำๆ ในวันนี้ เมื่อถึงวันนั้นอาจจะมีกระบวนการเข้าใจ และปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เข้าใจและใช้งานเทคโนโลยีนั้นได้ เพียงแต่ขอให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ คิดใหญ่และทำออกมา เราก็จะเป็นอีกคนหนึ่งที่รอใช้นวัตกรรมที่เหมาะกับวัยของเรา เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้เรามีประสิทธิภาพในการอยู่ในสังคมร่วมกันอย่างยั่งยืน

 

---- ‘แสนสุข สมาร์ทซิตี้ ใช้เทคโนโลยีสร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ---- 

 

ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี อีกหนึ่งวิทยากร บอกเล่าถึงการทำให้เทศบาลแสนสุข กลายเป็นเมืองที่สุขจริงๆ สำหรับผู้สูงวัย ผ่านการใช้เทคโนโลยี โดยระบุว่า จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลของเทศบาลแสนสุข ทำให้ได้พบผู้ป่วยติดเตียงในกลุ่มสูงวัย ที่เกือบทั้งหมดจะมีอาการหนัก และการที่จะทำให้อาการป่วยหรือสุขภาพดีขึ้นก็เป็นเรื่องยาก แม้ว่าจะมีบริการสุขภาพสาธารณะมากขึ้นก็ตาม โดยส่วนหนึ่งน่าจะมาจากปัญหาองค์ความรู้ที่ไปไม่ถึงชุมชน และขาดการเข้าถึงสถานบริการในภาพรวม



 

ทั้งนี้ เทศบาลแสนสุข จึงนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยและพัฒนาระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงทางสุขภาพของผู้สูงอายุที่ป่วยอยู่แล้ว และกลุ่มที่กำลังจะป่วยหนักมากขึ้น รวมไปถึงกลุ่มสูงวัยที่อยู่บ้านคนเดียว เพราะลูกหลานต้องออกไปทำงาน เพื่อไม่ให้สุขภาพของพวกเขาย่ำแย่ไปมากกว่านี้

 

สำหรับระยะแรกของการนำเทคโนโลยีมาใช้ เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างเทศบาลแสนสุข และมหาวิทยาลัยบูรพาเมื่อ 8 ปีก่อน ด้วยการตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยมากขึ้น โดยทำรีโมทควบคุมการเปิด-ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ประจำในบ้าน รวมถึงติดระบบปุ่มกดสัญญาณไซเรน ที่จะส่งเสียงเพื่อให้ครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน ได้รับทราบว่าเกิดปัญหาขึ้นภายในบ้าน อาจจะหกล้ม หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็จะสามารถขช่วยเหลือในเบื้องต้น หรือประสานทีมแพทย์ฉุกเฉินได้ทันที

 

กระทั่งต่อมาได้มีภาคเอกชนเข้ามาเสริมแรง และพัฒนาจนทำให้เกิดเทคโนโลยีให้สามารถใส่ข้อมูลของผู้ป่วย พร้อมกับระบบที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติสำหรับผู้สูงวัยในบ้านหรือนอกบ้าน ผ่านซิมการ์ด ที่มีอินเตอร์เน็ต

 

นายกเทศมนตรีแสนสุข เสริมอีกว่า หากเกิดอุบัติเหตุหรือล้มป่วยทั้งในบ้านและนอกบ้าน ข้อมูลและสัญญาณระบุพิกัด จะส่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบที่มีหน้าที่ช่วยเหลือทันที หรือการส่งต่อให้กับสถานพยาบาล ทำให้แพทย์ที่ต้องรักษาได้เห็นข้อมูล และช่วยให้วินิจฉัยโรคได้อย่างทันที และแม่นยำมากขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงอีกด้านสำหรับคนสูงอายุ

 

“ขณะนี้ก็พยายามให้เทคโนโลยีเข้าไปสู่กลุ่มผู้สูงวัยที่ป่วยติดเตียง หรืออยู่ที่บ้านลำพังให้มากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เทคโนโลยีทำงานให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เหลือมล้ำกัน ยอมรับว่ายุ่งยากมากกับระบบในช่วงแรก แต่มีความมุ่งมั่นกระทั่งเห็นผลสำเร็จ จึงกล้าพูดได้ว่าเทศบาลแสนสุข เป็นสมาร์ทซิตี้พื้นที่แรกที่ทำได้ และเป็นตัวอย่างให้กับอีกหลายท้องถิ่นได้ดำเนินตาม” ณรงค์ชัย ย้ำ

 

---- ความเห็น-ไอเดียคนรุ่นใหม่ ขอผู้ใหญ่รับฟัง-ต่อยอด ---- 

 

ไอซ์ ธวัฒชัย ปาละคะมาน หนึ่งในตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ร่วมวงเสวนา และยังเป็นนักวิจัยที่ทำงานด้านระบบที่จะพัฒนาสังคมเพื่อสุขภาวะของคนสูงวัยในหลากหลายองค์กร บอกเล่าความเห็นถึงพลังของเยาวชนขณะนี้ ในการออกมามีส่วนร่วมออกแบบสังคมกับภาคส่วนอื่นๆ ระบุว่า เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน เสียงของเยาวชนที่เป็นความเห็นเรื่องจัดการบ้านเมือง ค่อนข้างมีระยะห่างที่เสียงนั้นไปไม่ถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เยาวชนจึงได้แต่บ่นปัญหาต่างๆ ในโลกออนไลน์



 

 “หลายๆ วงที่พูดคุยกันในประเด็นสังคม ไม่เพียงแค่เรื่องสุขภาพ ที่มักจะได้ยินเสมอว่าอยากได้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมวง มาร่วมทำงาน แต่ถามว่าช่องทางมีมากแค่ไหน หรือเอื้อต่อเยาวชนมากแค่ไหน โดยเฉพาะกับสภาเมือง ในการเมืองท้องถิ่น” ไอซ์ ตั้งคำถาม

 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเสียงของเยาวชนมีพลังมากขึ้น มีการกระจายพลังไปถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น รวมไปถึงเครื่องมือ พื้นที่กลาง ที่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมา รวมถึงความเห็นของพวกเราก็เริ่มมีน้ำหนักที่มากขึ้นเช่นกัน

 

ขณะเดียวกันเขามองว่า สิ่งที่เยาวชนจะต้องพยายาม คือหาช่องทางในการได้ใช้พื้นที่แสดงศักยภาพ แสดงความคิดเห็นของพวกเขาในฐานะ “พลเมือง” รวมไปถึงไอเดียต่างๆ ที่เห็นว่าจะมีประโยชน์ต่อสังคม เพื่ออย่างน้อยไอเดียของเขาก็จะถูกรับฟัง หรือถูกนำไปมีส่วนร่วมในการต่อยอดเพื่อสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมสูงวัย  

 

ขณะที่ผู้ใหญ่เอง หรือผู้ที่มีอำนาจต่อการกำหนดนโยบาย หรือตัดสินใจเรื่องต่างๆ ก็อย่าเพิ่งหวังว่าเยาวชนจะเข้ามาช่วยบริหารบ้านเมือง เพราะแต่ละคนก็จะมีหน้าที่ของตัวเอง แต่เยาวชนเป็นพลเมืองที่มีสิทธิในการเฝ้าระวัง สังเกตการณ์ มีสิทธิที่จะสะท้อนความเห็น เสนอไอเดียให้ถึงคนที่มีบทบาทในการทำงาน 

 

“คนที่ทำงานก็ต้องทำหน้าที่ไป แต่อยากให้ฟังเสียงของเยาวชนด้วยบ้าง ไม่ใช่แค่การฟังแล้วจบไป แต่อยากให้ช่วยคิด หรือผลักดันไอเดียของเยาวชน เสนอช่องทางที่จะช่วยเหลือพวกเขาให้ทำงานได้ด้วย หรือหยิบไอเดียมาเป็นประโยชน์ ต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมดีๆ ในสังคมร่วมกัน ซึ่งก็เป็นความหวังที่ดีให้กับเยาวชน ที่จะมีสิทธิได้ร่วมออกแบบสังคมที่พวกเขาอยู่ร่วมกัน” ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ทิ้งท้าย