เตรียมความพร้อมก่อนตาย โปรเจก ‘The Last Photo’ เมื่อ ‘รูปสุดท้าย’ เราได้เลือกเอง

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

งานใหญ่ครั้งสุดท้ายในชีวิตของเรา คงหนีไม่พ้นงานศพ

แต่รูปสุดท้ายที่เราจะใช้ในงานศพ กลับแทบไม่มีใครเคยได้เลือกเอง

และอาจไม่เคยกระทั่งการมีรูปดีๆ ที่ชื่นชอบ เอาไว้ใช้ในงานสุดท้ายของตัวเอง

....


ฉากหลังสีดำ ชุดไฟ และกล้องถ่ายรูป พร้อมกับคนหลังเลนส์ที่คอยบันทึกภาพให้กับผู้ที่สนใจอยากจะเก็บภาพถ่ายของตัวเองเอาไว้ หากแต่นี่ไม่ใช่ภาพถ่ายทั่วไปธรรมดา แต่เป็นภาพที่จะสะท้อนตัวตน สะท้อนชีวิตที่ผ่านมา และทุกคนก็สามารถที่จะเลือกเก็บภาพนี้เอาไว้เพื่อใช้ในงานสำคัญของชีวิต นั่นคืองานศพ...อันเป็นงานสุดท้ายของตัวเอง

 

บูธถ่ายภาพที่ฟังดูเศร้า หากแต่เต็มไปด้วยรอยยิ้มนี้ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้ที่เข้ามาร่วมงาน “มหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4 ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดขึ้นเมื่อกลางเดือน ก.ย. 2565

 

พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรแห่งนี้ ดูแปลกตากว่างานเสวนาวิชาการทั่วไป มันจึงดึงความสนใจของผู้มาร่วมงานได้อย่างคับคั่ง



 

ธำรงรัตน์ บุญประยูร หรือ พี่ตุ่ย คือผู้ที่อยู่หลังเลนส์ ช่างภายในวัย 64 ปี ที่ถ่ายรูปด้วยรอยยิ้ม คอยพูดคุย แนะนำท่าทางให้กับคนที่เข้ามาถ่ายรูป เพื่อให้เป็นภาพที่พวกเขารู้สึกรักมากที่สุด สะท้อนการเป็นตัวเองมากที่สุด และอาจถูกนำไปใช้เป็น “ภาพสุดท้าย” หากเจ้าตัวเลือกที่จะใช้ภาพนี้เป็นภาพจำของตัวเองในวันที่จากไป

 

ระยะเวลากว่าชั่วโมงของการพูดคุยร่วมกับพี่ตุ่ย กองบรรณาธิการ Health Station มั่นใจได้ทันทีว่าเขาคือช่างภาพรุ่นเก๋า ที่พกพามุมมองอันทันสมัย เข้าใจผู้คน เข้าใจสังคม และเข้าใจถึงวัฏจักรของชีวิต โดยเฉพาะกับความสุข และความตาย ซึ่งพี่ตุ่ย เลือกถ่ายทอดมุมมองความตายอันสวยงาม ผ่านโปรเจกของเขาที่เรียกว่า “The last photo – ภาพทรงจำ”

 

พี่ตุ่ย เล่าให้ภาพถึงโปรเจกของตัวเองคือ The Last Photo หรือชื่อภาษาไทยคือ ภาพทรงจำ แม้ความจริงแล้วเขาอยากใช้คำว่าภาพสุดท้าย แต่มองว่ามันอาจแรงไปสำหรับสังคมวงกว้าง ซึ่งการนำบูธถ่ายรูปเข้ามาในงานมหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง ปีที่ 4 ก็เพื่อเอางานศิลปะมาสู่วงเสวนาบ้าง ไม่ให้ภาพรวมของงานนั่นแห้งจนเกินไป

 

หลักคิดสำคัญของ The Last Photo คือการตอกย้ำว่า “ชีวิต” กับ “ความตาย” เป็นของคู่กัน มันแยกจากกันไม่ได้

 





“มันเริ่มจากว่า เมื่อก่อนคนมองว่าไม่อยากถ่ายรูป เชื่อว่ามันดูดวิญญาณ เป็นลางไม่ดี ทำให้คนไม่กล้าถ่ายรูป พูดให้สุด ตอนนี้ก็ยังมีคนเชื่อแบบนั้น พอคนไม่กล้าถ่ายรูป ก็ไม่มีรูปดีๆ รูปที่เราชอบไว้ใช้กับงานศพ งานสุดท้ายของตัวเอง ภาพจึงต้องนำมาจากบัตรประชาชนบ้าง และเกือบทั้งหมดคือเป็นภาพที่ไม่ได้เลือกเอง...”

 

“รูปมันก็เฉา คนมางานก็ยิ่งเศร้าไปอีก งานศพก็เศร้า แต่ถามว่าก่อนเราจะตาย เรารู้สึกอย่างนั้นหรือเปล่า รู้สึกเหมือนรูปที่เศร้าเสียใจ หรือตอนมีชีวิตอยู่ เราเป็นคนมีความสุขนะ เป็นคนสนุก ร่าเริง แต่รูปงานศพมันเศร้าจัง หากมีรูปดีๆ ที่สะท้อนตัวเองได้ในงานศพ คุณว่าไง มันก็สวยงามกว่าอยู่แล้ว” พี่ตุ่ย ธำรงค์รัตน์ บอกเล่าแนวคิด

 

ขยายความต่อถึงมุมมองงานศพของพี่ตุ่ย ที่เขาเห็นและอยากให้ทุกคนที่มาถ่ายรูปกับเขาได้เห็นเช่นกัน คือการตั้งคำถามว่า ทำไมเราตายไปแล้ว ยังต้องเศร้าอีก?

 

ในเมื่อชีวิตที่ผ่านมาก่อนจะตายไปมีหลายเรื่องราวที่ดี และไม่ดี แต่ทุกคนชอบเรื่องอะไรที่ดีๆ ในชีวิต ก็ควรนำมาให้คนที่มาร่วมงานศพได้เห็นด้วย ว่าก่อนตายเรามีชีวิตที่มีความสุขดี ให้เห็นว่านี่คือสิ่งสุดท้ายที่อยากทำ

 

ส่วนกลไกการทำงานของ The Last Photo เขาอธิบายกับเราว่า คนที่มาถ่ายรูป จะถูกเรียกว่า “เพื่อนร่วมงาน” เพราะต้องมานั่งพูดคุยกับช่างภาพ ซึ่งก็คือพี่ตุ่ย เพื่ออย่างน้อยได้มาคุยกันก่อน ได้สะท้อนตัวตนกัน โดยเขาจะเป็นคนค้นหาความสุขภายใต้ใบหน้าเหล่านั้นเอง

 

“มานั่งคุยกันสัก 5-10 นาที มองความสุขคืออะไรในชีวิตร่วมกัน เล่าให้กันฟัง ผ่อนคลายร่วมกัน ผมจะให้เพื่อนร่วมงานของผมคนนี้ ได้นึกถึงเรื่องราวที่เขามีความสุข แล้วรอยยิ้มที่เป็นธรรมชาติที่สุดจากตัวเองมากที่สุด มันจะค่อยๆ เผยให้ได้เห็น และผมจะลั่นชัตเตอร์เมื่อเห็นว่าแบบของผม มีความสุข”



    


บรรยากาศการทำงาน The Last Photo จากที่ได้เห็น ธำรงรัตน์ บอกเล่าพูดคุยกับผู้ที่มาถ่ายรูปด้วยรอยยิ้มอยู่เสมอ ถ่ายไป คุยไป ดูบุคลิกกันไปกับเพื่อนร่วมงานของเขา เมื่อถ่ายรูปเสร็จก็มาดูกัน และเกือบทั้งหมด ระหว่างช่างภาพอย่างเขา กับคนที่มาถ่ายรูป ก็ได้เลือกรูปเดียวกันอย่างใจตรงกัน เหมือนสะท้อนกลายๆ ว่าเขาเห็นความสุขร่วมกันในช่วงเวลานั้น

 

เสมือนสะพานเชื่อมระหว่างการถ่ายภาพ และความสุขของคน 2 คนที่ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน

 

พี่ตุ่ย บอกอีกว่า การถ่ายภาพ The Last Photo คือการหยุดเวลาเอาไว้ หยุดเวลาที่คิดว่าเป็นตัวเอง เป็นตัวตนที่มีความสุขมากที่สุด ไม่ใช่ว่าถ่ายรูปเพราะอยากให้รูปสวย อยากได้รูปที่ผอมๆ แต่ไม่ใช่ตัวเอง หรืออยากรูปตัวเองให้ดูเด็กที่สุด

 

“จะบ้าเหรอ อายุ 60 แล้วยังอยากเด็ก แน่นอนว่ามันแต่งรูปได้ แต่จะไม่ใช่กับ The Last Photo เพราะมันไม่ใช่ตัวตนของตัวเอง แต่เป็นภาพทรงจำที่สะท้อนความสุขอันเป็นความจริง” เขาย้ำหลักคิด

 

จากอดีตที่ถ่ายภาพโฆษณา ถ่ายภาพบุคคลทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง หลากหลายผู้คนในแวดวงสังคม พี่ตุ่ยเล่าว่าถ่ายจนเอียน จนขอเกษียนตัวเอง เพราะชีวิตการถ่ายภาพที่รับจ้างทำงาน ไม่ใช่ความสุขสำหรับช่างภาพรายนี้อีกต่อไป

 

“มันมาถึงจุดที่ผมไม่รับงานแล้ว ต้องเปิดทางให้เลือดใหม่ได้ทำงานบ้าง แน่นอนว่าเงินดีมากๆ แต่ละวันเคยรับหลายหมื่นบาท แต่ความสุขมันเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ...”



 

“ขณะเดียวกัน มันก็มีความฝันที่เพิ่มขึ้น คืออยากให้คนไทยมีความสุขกับภาพของตัวเองบ้าง มันจึงออกมาเป็นภาพทรงจำ หรือ The Last Photo อยากให้ทุกคนมองว่า การตายจากไป ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวนะ ไม่ใช่เรื่องน่าเสียใจ เพราะมันคือการเดินทางอีกอย่างของผู้คน...”

 

“คนตายไปก็ไม่เจ็บปวด ไม่ทรมานแล้ว ส่วนคนอยู่ที่ร้องไห้เพราะเสียใจที่เราไม่ได้อยู่กับเขาอีกแล้ว ไม่ใช่เสียใจเพราะเราตาย มันก็คือการเอาเปรียบกับคนตายหรือเปล่า...”

 

“แม่ผมตายไป หลับ หยุดหายใจ ผมเห็นว่ามันโคตรสวยงามเลยนะ แม่ไม่เจ็บปวดแล้ว แม่เดินทางต่อ มันสวยงามมาก” วรรคตอนเหล่านี้คือมุมมองที่ พี่ตุ่ย กล่าวถึงความตายด้วยรอยยิ้ม




เมื่อเราถามต่อว่า แล้วเขาได้อะไรกลับมาบ้างจากโปรเจกนี้ ชื่อเสียง... เงินทอง... หรือสิ่งใด? 

 

“ผมมีความสุขมาก แฮปปี้เลยที่เห็นเจ้าของรูปมีความสุข เขาได้มองรูปตัวเองปราศจากการปรุงแต่ง ไม่ได้แอคอาร์ทอะไรมาก เอาตัวเองออกมาเลย เขายิ้ม เขาหัวเราะ ผมเห็นแล้วนั่นแหล่ะความสุขของผม สุขที่ผมได้ทำงานร่วมกันกับผู้คน ผมได้สิ่งนั้นกลับมา...”

 

“มันเป็นสิ่งที่ได้ไปได้มา คุณให้ผม ผมให้คุณ เราให้กัน ทำงานด้วยกัน สร้างความสุขด้วยกัน ผมได้การทำงานที่ไม่ใช่ลูกค้า ไม่ใช่คนรับจ้างถ่ายรูป แต่เป็นคนที่มาทำงานด้วยกัน คุยชีวิตกันไป คุยความสุขกันไป ถ่ายรูปกันไปบนความอบอวลของความสุข ความทรงจำ ผมก็มีความสุขนะ...”

 

“ส่วนคนที่ได้รูปไป เป็นรูปความทรงจำ จะเอาไปใช้อะไรก็แล้วแต่ หรือเอาไปใช้ในงานสุดท้ายเพื่อให้เกิดความสุขกับตัวเอง หรือต่อให้อยู่ได้อีกสัก 10 ปี หรือ 20 ปี ก็อยากให้รู้สึกว่าในเมื่อใกล้งานสุดท้ายแล้ว อยากให้ใช้รูปที่ตัวคุณเอง มีความสุขที่สุด สะท้อนตัวเองได้มากที่สุด เพราะมันคือช่วงหนึ่งของคุณ ที่มีความสุขกับชีวิตจริงๆ” พี่ตุ่ย ธำรงรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

 28 กันยายน 2565