จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ต้นกระแสธาร สุขภาพองค์รวม

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

“เราพูดคำว่าสุขภาพองค์รวมกันไว้มาก แต่ความหมายจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร ผมมีหน้าที่ที่จะต้องมาทบทวนคำนี้”

นี่คือคำกล่าวเปิดการปาฐกถาพิเศษของ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ ในหัวข้อ “สุขภาพองค์รวม จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่มีขึ้นในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564

นพ.วิชัย อธิบายว่า การกำเนิดขึ้นนอย่างเป็นรูปธรรมของสิ่งที่เรียกว่า “สุขภาพองค์รวม” ในประเทศไทย เป็นมรดกชิ้นหนึ่งที่มาจากแนวคิดในงานเขียนชิ้นสำคัญของ “ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์” อันมีนามว่า “คุณภาพชีวิตชาวเอเชียอาคเนย์ ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ซึ่งส่งผ่านมาเป็นหลักสำคัญของการดำเนินนโยบายสุขภาพของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน


สุขภาพองค์รวม ?

นพ.วิชัย ได้เริ่มต้นปาฐกถาครั้งนี้ด้วยการย้อนทวนไปหาความหมายที่แท้จริงของคำว่า “สุขภาพองค์รวม” เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจในตัวคำ และนำไปสู่การเข้าใจว่ามันคืออะไรและอยู่ตรงไหนในมิติด้านสุขภาพกันแน่

ความหมายของสุขภาพองค์รวม นพ.วิชัย ระบุว่า มาจากคำว่า Holistic Health” ซึ่งเราจะต้องทำความเข้าใจต่อไปว่า “Holistic” คืออะไร

พจนานุกรมจำนวนหนึ่งได้ให้ความหมายไว้ว่า Holistic หรือ Holisim คือทฤษฎีที่มองจักรวาลและธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตในลักษณะที่สิ่งทั้งมวลได้ปฏิสัมพันธ์กัน มากกว่าจะเป็นผลรวมของอนุภาคมูลฐาน และยังมีความหมายได้ถึงการศึกษาและวิธีการ “รักษา” แบบองค์รวม

คำนี้ยังสามารถให้ความหมายได้อีกว่า เป็นสิ่งสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ ทั้งหมด มากกว่าเพียงแค่การวิเคราะห์ การรักษา หรือการแพทย์องค์รวม ที่พยายามรักษาทั้งจิตใจและร่างกาย

ดังนั้น Holistic Health คือระบบหนึ่งของเวชศาสตร์ป้องกันซึ่งพิจารณาปัจเจกบุคคลโดยภาพรวม ความรับผิดชอบของบุคคลต่อสุขภาพของตน และอิทธิพลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสังคม จิตวิทยา และสิ่งแวดล้อม ที่มีผลเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ และยังรวมได้ถึงการออกกำลังกายและการผ่อนคลายด้านจิตใจ

ทั้งนี้ ประเทศไทยของเราเริ่มตื่นตัวด้านสุขภาพองค์รวมคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นเวลาที่ผู้คนตื่นตัวด้านสังคมและประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก รวมถึงช่วงเวลานั้นก็ได้มีการเริ่มขึ้นของนโยบายที่พยายามจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมากระหว่างเมืองใหญ่กับชนบท ด้วยการประกาศสร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอให้มีครบทุกอำเภอทั่วประเทศไทย และให้มีนโยบายรักษาพยาบาลผู้ยากไร้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ในเวลานั้น แวดวงการแพทย์และสาธารณสุขได้เกิดการตื่นตัวขึ้น และมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องของการแพทย์ที่มุ่งเน้นเพียงแค่การรักษามากกว่าการป้องกัน มุ่งที่จะซ่อมมากกว่าที่จะสร้างสุขภาพ และการแพทย์นั้นก็มุ่งเน้นเพียงแค่ด้านร่างกาย เห็นคนไข้เป็นเพียงวัตถุ มองข้ามมิติด้านจิตใจและสังคม

การแพทย์ที่มุ่งเน้นแต่จะรักษาพียงร่างกายเป็นหลัก มีรากฐานฝังลึกมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยโบราณ ในอดีตคนมักเชื่อกันว่าอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นจากอำนาจลึกลับหรือเทพเจ้าลงโทษ เพราะผู้ป่วยกระทำผิดทำนองคลองธรรมบางประการ การเยียวยารักษาเลยเป็นการขอร้องวิงวองต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้อภัย

ในโลกตะวันตก การพัฒนาทางการแพทย์เริ่มรากฐานมาจาก “ฮิปโปเครติส” ที่เชื่อว่าอาการเจ็บป่วยเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่ผีหรืออำนาจวิเศษใด มนุษย์จึงต้องรักษาตนเอง โลกตะวันออกก็พัฒนามาด้วยความคิดใกล้เคียงกัน การแพทย์ทั้งสองโลกจึงมุ่งเน้นการเยียวยาร่างกายเป็นหลัก เรื่องโรคทางใจก็ปล่อยให้เป็นบทบาทของศาสนาแทน

นพ.วิชัย ระบุว่า ปัญหาการมุ่งซ่อมมากกว่าสร้างเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลกในไทยเอง การรักษาและป้องกันถูกแยกแขนงออกจากกันตั้งแต่ต้น เมื่อเกิดการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ 5 การสร้างโรงพยาบาลศิริราชก็มีประสงค์มุ่งเน้นแต่เพียงการ “รักษา” เท่านั้น

ความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้และสร้างสุขภาพองค์รวมจึงได้ถือกำเนิดขึ้น เช่นที่ปรากฏหลักฐานเมื่อครั้งก่อตั้งองค์การอนามัยโลกขึ้นครั้งแรก

 “ในธรรมนูญองค์การอนามัยโลก ได้เขียนนิยามคำว่า สุขภาพ ไว้ชัดเจนว่า สุขภาพ หมายถึงสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ และสังคม ไม่เพียงแต่ปราศจากโรคและความพิการเท่านั้น นิยามนี้ครอบคลุมไปในทุกมิติ ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรโลกบาลต่างๆ ที่ก่อกำเนิดในช่วงเวลาเดียวกันก็ล้วนบ่งบอกว่า เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องร่วมกันของชาวโลก ปนะชากรโลกต้องร่วมกันทำงาน ต้องสร้างสุขภาพองค์รวม” นพ.วิชัย ระบุ

หลักคิดเหล่านี้ ผู้นำของแวดวงสาธารณสุขไทยเข้าใจเป็นอย่างดีมาโดยตลอด และพยายามที่จะนำมาปฏิบัติ อย่างที่เห็นได้จากความพยายามที่จะรวมงานด้านการรักษาและการป้องกันเอาไว้ด้วยกันเรื่อยมา

 

“จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ต้นธารสุขภาพองค์รวม

นพ.วิชัย เล่าต่อไปว่า ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพียงแค่ 4 วัน ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้นำเสนอบทความต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่อง “The quality of life of Southeast Asian – a Chronicle of hope from womb to tomb” หรือก็คือ “คุณภาพชีวิตของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ซึ่งเป็นบทความที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกเวลา โดยผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงของภาคประชาสังคม

แนวคิดด้านสุขภาพที่มาจากบทความนี้ เริ่มปรากฏร่องรอยในรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 2517 โดยมีบทบัญญัติที่ส่งเสริมสุขภาพองค์รวมไว้ในมาตรา 92 โดยมีเนื้อหาวรรคที่ 1 ว่า “รัฐพึงส่งเสริมการสาธารณสุข ตลอดจนการอนามัยครอบครัว และพึงคุ้มครองสุขภาพของบุคคล และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วม”

วรรคที่ 2 มีเนื้อหาว่า “รัฐพึงให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้อยากไร้ โดยไม่คิดมูลค่า”

วรรคที่ 3 ระบุเนื้อหาว่า “การป้องกันและปราบปรามโรคติดต่ออันตราย รัฐจะต้องกระทำให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า” ซึ่งวรรคที่ 3 นี้เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย และมีระบุในรัฐธรรมนูญต่อมาทุกฉบับ รวมถึงฉบับ พ.ศ. 2560 อันเป็นฐานสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยบริหารจัดการโควิด-19 ได้

ในเวลาต่อมา บทบัญญัติที่ส่งเสริมสุขภาพองค์รวมก็ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มามากขึ้น เช่นในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 ที่ได้กำหนดให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสมอกันในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่มีค่าใช้จ่าย บริการของรัฐเองก็ต้องมีประสิทธิภาพ รวมถึงเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและเอกชนให้มีบทบาทด้านสุขภาพมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ในภาพรวม เป็นรูปธรรมสำคัญที่สังคมไทยได้แนวคิดมาจาก “ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” และใช้กำหนดทิศทางของประเทศเรื่อยมา จากที่เคยมุ่งเน้นแต่เพียงการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็กลายมาเป็นการมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นหลัก สามารถเห็นได้ชัดเจนจากที่แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้เริ่มถูกบรรจุอยู่ใน “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2540 ถึง พ.ศ. 2548” และฉบับต่อๆ มา

 

ระบบสุขภาพองค์รวม เพื่อทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย

นพ.วิชัย กล่าวว่า แม้ว่าจะมีเหตุการณ์รัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญอยู่บ้าง แต่การผลักดันเรื่องสุขภาพองค์รวมของไทยก็ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่นการกำเนิดขึ้นของ พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 พ.ร.บ. หลักประกันสุขภพาแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เป็นต้น

พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ พ.ศ. 2550 คือตัวอย่างที่สำคัญ เพราะเป็นกฎหมายที่เปลี่ยนหลักคิดการป้องกันโรค จากการเน้นวิธีทางสุขศึกษาให้เปลี่ยนเป็นตาม “กฎบัตรออตตาวา” (Ottawa Charter) ที่มีหลักให้สร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ การสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชน การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล และการปรับทิศทางของระบบบริการสุขภาพให้มุ่งสู่การป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งหมดนี้คือหลักการของสุขภาพองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งบุคคล ชุมชน สังคม และระบบสุขภาพ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาระบบสุขภาพให้ตอบสนองต่อหลักสุขภาพองค์รวม จากที่เดิมสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและประกันสังคม ทำเพียงแค่เฉพาะการรักษาพยาบาล พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพได้ขยายให้ครอบคลุมไปถึงการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างชัดเจน และยังพัฒนาให้ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาท รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่เสมอ

พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ยังตอบสนองต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนคนไทยอย่างชัดเจน ด้วยการกำหนดให้บริการสาธารณสุขเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน

นพ.วิชัย สรุปในตอนท้ายของการปาฐกถาครั้งนี้ว่า พวกเราทุกคนในปัจจุบัน และรุ่นต่อๆ ไป มีหน้าที่ที่จะต้องพิทักษ์รักษาและพัฒนาสุขภาพองค์รวม ให้เกิดประโยชน์สุข แก่มหาชนชาวสยาม ทั้งในแง่ปัจเจกและของประชาชนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยอย่างแท้จริง และยิ่งๆ ขึ้นไป

 “สุขภาพองค์รวมจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน จะต้องไม่เพียงพิจารณาสุขภาพกายของบุคคลเท่านั้น แต่จะต้องเป็นองค์รวมทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคมด้วย สังจะต้องไม่มองแคบแค่ครอบครัว แต่ต้องครอบคลุมถึงชุมชน ท้องถิ่น ประเทศชาติ และโลกทั้งใบโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลานี้ที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง” นพ.วิชัย กล่าว

 7 กุมภาพันธ์ 2565