WHO แนะรัฐบาลทั่วโลกใช้ประโยชน์ ต่อยอดมหกรรม ‘งานแข่งขันกีฬา’ สู่การสนับสนุน ปชช.ออกกำลังกาย ลดโรค-พัฒนาฐานข้อมูลการเล่นกีฬา7 ตุลาคม 2565
การประชุม World Innovation Summit for Health (WISH) ที่ระดมผู้นำด้านสุขภาพกว่า 80 ประเทศ ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีข้อสรุปร่วมกันด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานด้านกีฬาของแต่ละประเทศ เพิ่มการลงทุนในการจัดการ “แข่งขันกีฬา” ซึ่งจะช่วยให้เกิดแรงกระตุ้น แรงบันดาลใจให้กับชุมชน ท้องถิ่น เพื่อให้เล่นกีฬา มีกิจกรรมทางกาย หรือออกกำลังกายกันมากขึ้น
ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการ WHO เปิดเผยว่า การแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่ในแต่ละประเทศที่เกิดขึ้น จะเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมการเล่นกีฬา ออกกำลังกายให้หมู่ประชาชน ซึ่งการแข่งขันกีฬาจะมอบมรดกแรงบันดาลใจให้กับคนแบบรุ่นต่อรุ่น
สำหรับสิ่งสำคัญของรัฐบาล คือการต่อยอดจากการจัดการแข่งขันกีฬา เพื่อสนับสนุน รณรงค์ให้คนในประเทศหันมาสนใจการออกกำลังกายและเล่นกีฬามากขึ้น
ทั้งนี้ การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคเบาหวาน มะเร็ง อีกทั้งยังช่วยป้องกันมวลน้ำหนักของร่างกายเกินเกณฑ์ ไม่อ้วน และการเล่นกีฬายังช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นตามมาเช่นกัน
สำหรับข้อมูลการออกกำลังกายของผู้คนทั้งโลก พบว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น เฉลี่ยแล้วกลุ่มวัยรุ่น-ผู้ใหญ่ มีสัดส่วนออกกำลังกายกันถึง 70-75% ซึ่งก็ถือว่าเพิ่มขึ้นในระยะหลัง แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้คนออกกำลังกายที่ค่อนข้างช้าก็ตาม
แถลงการณ์ข้อเรียกร้องจาก WISH สะท้อนด้วยว่า การลงทุนจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก จะสามารถดึงดูดผู้คนนับล้านคน และมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมาก แต่ในอีกด้านก็ยังสามารถเป็นการกระตุ้นให้เกิดการออกกำลังกายของผู้คนในประเทศได้อย่างดีด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนถึงแนวปฏิบัติว่า เมื่อมีการแข่งขันกีฬาระดับโลก หรือกีฬาขนาดใหญ่ในประเทศนั้นๆ จะมีการต่อยอดให้เกิดความต่อเนื่องในการเล่นกีฬากับประชาชนได้อย่างไร เพื่อให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อผู้คนในระยะยาว
“หลายเมืองที่มีการจัดงานกีฬาขนาดใหญ่ มีแผนใหญ่ที่จะยกระดับและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่างๆ จากมหกรรมกีฬาที่เกิดขึ้น แต่ถ้ามองมาถึงจุดเชื่อมต่อที่สามารถทำให้เกิดการออกกำลังกาย สร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนทั้งประเทศ หากทำได้ รัฐบาลประเทศนั้นๆ ก็จะได้ข้อมูลการเล่นกีฬา ออกกำลังกายของประชาชน ที่จะสามารถปรับปรุง ออกแบบให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพทางกายให้ดียิ่งขึ้น” ดีดี้ ทอมป์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย WISH กล่าว
สำหรับแผนปฏิบัติการทั่วโลกของ WHO เกี่ยวกับการออกกำลังกายในปี 2561-2573 จะมุ่งเน้นให้แต่ละประเทศได้ส่งเสริมสังคมให้เกิดความกระตือรือร้นในการออกกำลังกาย เล่นกีฬา เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืนร่วมกันทั่วโลก ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการมีกิจกรรมทางกายของผู้คนได้ให้ 15% ภายในปี 2573
อีกหนึ่งเหตุผลที่ WHO ต้องมากระตุ้นการออกกำลังกายในนานาประเทศ เพราะการเสียชีวิตจากโรค NCDs มีมากถึง 74% ในแต่ละทุกปี ซึ่งการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จะเป็นการสร้างภาระให้กับระบบสุขภาพ และชุมชนในประเทศนั้นๆ โดยหากไม่มีการส่งเสริมการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายที่ไม่ดีพอ จะทำให้เกิดความสูญเสียทางสุขภาพ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลกได้มากถึง 47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,645 ล้านบาท ภายในปี 2573 เลยทีเดียว
ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาประเด็น “การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge : CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model)” ซึ่งเตรียมที่จะบรรจุเป็นร่างระเบียบวาระในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ธ.ค. 2565 โดยมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาฉันทมติร่วมกันจากทุกภาคส่วนของสังคม ให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะในเรื่องของการจัดเก็บข้อมูลการเล่นกีฬา ออกกำลังกายของคนไทยต่อไป