บทสรุป ‘องค์การอนามัยโลก’ แม้โควิด 19 จะไม่เลือกปฏิบัติ แต่ได้บดขยี้ ‘กลุ่มเปราะบาง’ จนราบคาบ7 กุมภาพันธ์ 2565
หลายคนอาจเชื่อว่าโควิด 19 มาเพื่อทำร้ายโลก ไม่ว่ารวยหรือจนโดนผลกระทบกันทั่วหน้า แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ทุกคนได้รับผลกระทบเท่าเทียมกัน
โควิด 19 ทำให้คนตกงานหลายล้านคนทั่วโลก แต่ผู้หญิงและผู้มีการศึกษาน้อย คือกลุ่มคนที่ถูกให้ออกจากงานเป็นกลุ่มแรก
เด็กทุกคนได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนหรือการปรับมาเรียนออนไลน์ แต่เด็กจากครอบครัวที่อดมื้อกินมื้อย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวมีอันจะกิน
การเลือกปฏิบัติ การตีตรา และการเหยียดอายุ เข้ามาครอบงำสังคมทุกวันนี้ โควิด 19 ได้ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นทางเพศ อายุ เชื้อชาติ ฐานะ
องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยแพร่บทสรุปเรื่องโควิดกับความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพ ระบุชัดว่าโควิด 19 ส่งผลกระทบมากที่สุดกับประชากร 7 กลุ่ม คือ ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง แรงงานรายได้ต่ำรวมทั้งบุคคลากรทางการแพทย์ แรงงานข้ามชาติ ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านพักคนชรา ผู้ต้องขัง คนไร้บ้าน
เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลน ที่พักอาศัยแออัด ที่ทำงานไม่ปลอดภัย และเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ การรักษาพยาบาล รวมถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 WHO ได้จัดเสวนาออนไลน์เพื่อร่วมกันขบคิดในเรื่องนี้ ซึ่งนอกจากผู้แทนจาก WHO แล้ว ยังมีผู้แทนมาจาก World Bank, UNDP, และผู้แทนจากประเทศ 1 ประเทศ โดยเชิญ ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ด้วย
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจจากการพูดคุย ประกอบด้วย
1. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เพียงพอ ต้องสร้างชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้าให้กับประชาชนด้วย
2. การลงทุนเพื่อสร้างระบบคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน จึงเป็นจุดเน้นใหม่หลังโควิด 19
3. การป้องกัน เตรียมพร้อมและรับมือต่อการระบาดครั้งใหญ่ ควรมองในเชิงอภิบาลระบบสุขภาพ ที่เน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
4. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแก้ปัญหาวิกฤติ เป็นการสร้างวัคซีนให้กับสังคมจำเป็นต้องมีเครือข่าย และกลไกประสานระดับชาติ
5. บทบาทของรัฐบาลส่วนกลางและรัฐบาลท้องถิ่นมีความสำคัญ ต้องเพิ่มศักยภาพการทำงานให้กับภาครัฐ
6. การเก็บและรวบรวมข้อมูลที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ยังเป็นจุดบอดที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อพัฒนาระบบติดตามให้มีประสิทธิภาพขึ้น
แหล่งข้อมูล : COVID-19 and the social determinants of health and health equity: WHO evidence brief