นักวิจัยประเมินพลัง ‘โซเชียลมีเดีย’ ย้ำประสิทธิภาพเทียบเท่าเดินขบวน พื้นที่กลาง ‘กดดัน-เรียกร้อง’ ออนไลน์ กระตุ้นรัฐบาลแก้ไขปัญหาได้อย่างดี
12 ตุลาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

เดิมทีเมื่อเผชิญกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ มลพิษที่เต็มไปทุกอณู ประชาชนพลเมืองอเมริกัน มักจะเลือกเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ซึ่งนั่นก็ทำให้เกิดความพยายามของภาครัฐ ในการเข้าควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ 

 

นับตั้งแต่ก้าวแรกที่พลเมืองได้ร่วมกันย่ำเท้า เดินขบวนเพื่อกดดันเรียกร้องเรื่องของสิ่งแวดล้อมกับรัฐบาลของพวกเขา ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ราว ..1970 มาถึงปัจจุบันเกิดคำถามที่น่าสนใจว่า การเรียกร้อง การเดินขบวน ซึ่งถูกเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ไปอยู่ในโลกของสื่อออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย อันถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมตัวของผู้คนทั้งโลก

 

พื้นที่กลางที่เป็นพื้นที่สาธารณะอย่างโซเชียลมีเดียนี้จะมีอิทธิพล มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

 

ทีมนักวิจัยจากหลายประเทศ ได้ทำการวิเคราะห์ในเรื่องนี้ โดยพุ่งเป้าไปที่คำถามว่าหากเป็นเช่นนั้นแล้ว แรงกดดันของพลเมืองประเภทใดในโซเชียลมีเดียที่จะส่งผลดังกล่าว จะเป็นแรงกดดันส่วนตัว หรือการรวมตัวสร้างแรงกดดันแบบสาธารณะ

 

สำหรับสารตั้งต้นของการวิจัยเกิดขึ้นในประเทศจีน เมื่ออาสาสมัครที่ร่วมโครงการได้ส่งข้อความเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเข้าจัดการ ดำเนินการหลังพบว่าเกิดการละเมิดกฎหมายโรงงานอุตสาหกรรม โดยข้อความบางส่วนถูกส่งแบบส่วนตัวผ่านสายด่วนของรัฐบาล หรือแพลตฟอร์มการส่งข้อความออนไลน์

 

ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ถูกส่งผ่านเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ของจีนที่ได้รับความนิยมอย่าง “Weibo” เพื่อหาความแตกต่างระหว่างกัน

 

ไมเคิล กรีนสโตน นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (EPIC) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยนี้ เปิดเผยว่า จากการทดลองดังกล่าว ทีมวิจัยพบว่าโซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ ที่สามารถถูกกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้เหมือนกับการเดินขบวน หรือการประท้วงในพื้นที่สาธารณะจริงๆ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการโพสต์ข้อความต่างๆ ทางสังคมออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มความกดดันให้กับรัฐบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ยิ่งต้องดำเนินการให้ได้ตามข้อเรียกร้องอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

 

ไมเคิล และทีมวิจัย ยังค้นพบด้วยว่า แรงกดดันจากการรวมตัวกันของพลเมืองในโซเชียลมีเดียตามช่องทางต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องราวปัญหาในสังคม จะมีประสิทธิภาพและทำให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไข โดยพบว่าจำนวนปัญหาการละเมิดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมลดลงถึง 60% ขณะที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ รวมถึงมลพิษในน้ำได้ 12.2%

 

ด้วยแรงกดดันจากภาคประชาชนที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ผลการทดลองจึงพบด้วยว่าหน่วยงานของรัฐบาลจีน มีแนวโน้มที่จะตอบสนองข้อเรียกร้องต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย ที่มียอดไลค์และยอดแชร์จำนวนมาก ถึงกว่า 40% และมีแนวโน้มสำหรับการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบตามข้อร้องเรียนมากถึง 65% ด้วยเช่นกัน

 

การศึกษานี้สอดรับกับแนวทางการวิจัยของ ผศ.เชาดา หวัง นักวิชาการจาก Harris School of Public Policy ที่ระบุด้วยเช่นกันว่า การโพสต์ข้อร้องเรียนต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ในโซเชียลมีเดีย เป็นอีกช่องทางที่ง่ายดาย และมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภาครัฐ

 

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะสิ่งนี้สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าในปัจจุบัน มีโอกาสอีกมากมายที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล และเป็นเจ้าของร่วมในทรัพยากรท้องถิ่น ในการเรียกร้องให้เกิดการรับผิดชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากว่ามีการดำเนินการที่มีผลกระทบต่อประชาชนนักวิชาการรายนี้ระบุ

 

อ่านรายละเอียดการศึกษาเพิ่มเติมได้ทาง:

https://epic.uchicago.cn/working_papers/does-the-squeaky-wheel-get-more-grease-the-direct-and-indirect-effects-of-citizen-participation-on-environmental-governance-in-china/