สธ.ประชุมวางกรอบ 7 ข้อเร่งด่วน บำบัด-ฟื้นฟู-คัดกรอง 'ผู้เสพยา' ดึงท้องถิ่นร่วมแก้-ชุมชนเป็นฐาน เปิดวอร์ดจิตเวช-ยาเสพติดทุกรพ.
18 ตุลาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ปลัด สธ.นัดประชุมผู้บริหาร วางกรอบ 7 ข้อเร่งด่วน ตั้งศูนย์คัดกรอง "ผู้เสพยา" ระดับตำบล ประสานท้องถิ่นร่วมแก้-ให้ชุมชนเป็นฐาน พร้อมให้รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป เปิดวอร์ดบำบัดยาเสพติดทุกแห่ง


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานบำบัดผู้ติดยาเสพติด สธ. ประจำปีงบประมาณ 2566 ระบุว่า จะเร่งรัด 7 ด้าน สำหรับการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดอย่างเร่งด่วน คือ 1. ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกจังหวัดสำรวจและขึ้นทะเบียนศูนย์คัดกรองทั้งสังกัด สธ. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ครอบคลุมทุกตำบล


2. สสจ.บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ให้การบำบัดฟื้นฟูโดยชุมชนเป็นฐาน (CBTx) ให้ครอบคลุมทุกตำบล 3. เร่งตรวจสอบและขึ้นทะเบียนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้ครอบคลุมถึงระดับตำบล 4. โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้มีหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดให้ครบทุกแห่ง 5. โรงพยาบาลชุมชน ให้จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด หรือมีหน่วยงานดูแลบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดให้ครบทุกแห่ง


6. สสจ. โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สนับสนุนสถานฟื้นฟูภาคีเครือข่ายในพื้นที่ผู้ป่วยยาเสพติดแบบระยะยาว 7. ให้ สสจ. ลงทะเบียนบุคลากรผู้ใช้งานระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) ทั้งในและนอก สธ. รวมถึงกำกับการบันทึกข้อมูล คัดกรอง บำบัด ฟื้นฟู ติดตามให้เป็นปัจจุบัน






นอกจากนี้ ยังกำหนดกลุ่มผู้ที่ต้องบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มผู้ติด (สีแดง) จะให้การรักษาตามระบบผู้ป่วยใน ที่สถานพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ หรือสถานฟื้นฟูฯ ระยะยาว กลุ่มผู้เสพ (สีเหลือง) ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) หรือผู้ป่วยในระยะสั้น ที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน และกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด (สีเขียว) ให้มีการบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน


นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางของคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของรัฐบาล จะวางกรอบแนวทางขับเคลื่อนใน 5 ด้าน คือ 1. เพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด 2. สนับสนุนการบำบัด รักษา ฟื้นฟูที่มีคุณภาพมาตรฐาน 3. สนับสนุนการบำบัดฟื้นฟูโดยชุมชนเป็นฐาน (CBTx)


4. ส่งเสริมด้านวิชาการและระบบเฝ้าระวัง 5. การบริหารจัดการสู่ความเป็นเลิศ ด้วยการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรในเครือข่ายบำบัดรักษาฟื้นฟู พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบำบัดรักษาฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรด้านการบำบัด รักษา ฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ