ต้นแบบการเรียนรู้ ‘บ้านห้วยอีค่าง’ สร้าง ‘ธนาคารอาหารชุมชน’ : Food Bank ด้วยน้ำพักน้ำแรง - ความกลมเกลียวชุมชน ใช้การมีส่วนร่วมนำ – วิชาการสนับสนุน
"ชุมชนบ้านห้วยอีค่าง" หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาของ ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมพลังของผู้คนหลากหลายภาคส่วนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ชุมชนแห่งนี้มีต้นทุนทรัพยากรที่สมบูรณ์ มีผืนป่ากว้างขวางขนาด 6,000 ไร่ มีพันธุ์พืชไม่ต่ำกว่า 275 ชนิด ตลอดจนพืชท้องถิ่นสำหรับใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการเกษตรและบริเวณครัวเรือนกว่า 98 ชนิด
นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา พื้นที่แห่งนี้ได้ร่วมกันจัดการตนเองผ่านการใช้เครื่องมือและกลไกจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลมีหัวใจหลักคือ กระบวนการการมีส่วนร่วมโดยมีวิชาการเป็นฐาน ซึ่งสอดรับกับหลักการสำคัญใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่มุ่งสู่การสร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นจริง
ที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้ร่วมกันจากชุมชนบ้านห้วยอีค่าง คือมิติความยั่งยืนทางอาหาร ผ่านกระบวนการการจัดทำ “ธนาคารอาหารชุมชน” หรือ Food Bank ซึ่งถูกยกให้เป็นต้นแบบการเรียนรู้
สำหรับ Food Bank หรือโครงการธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำรินั้น เริ่มจากการสร้างแหล่งอาหารในป่า โดยการปลูกพืชที่สามารถเป็นอาหารทั้งของคนและสัตว์ กินสิ่งใดปลูกสิ่งนั้น เพื่อให้สามารถนำไปบริโภคได้อย่างเพียงพอในแต่ละวัน
มากไปกว่านั้น หากมีเหลือจากการบริโภคและแลกเปลี่ยนกันในชุมชนแล้ว ยังสามารถนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย เมื่อคนในชุมชนมีรายได้ก็จะก่อให้เกิดความหวงแหนในการช่วยกันดูแลผืนป่าและแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อย่างเกื้อกูลกัน
ฝ่ายวิชาการ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ได้เข้ามาสนับสนุนพื้นที่ "ชุมชนบ้านห้วยอีค่าง โดยการนำเอาโครงการวิจัยและพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเป็นธนาคารอาหารชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งน้อมนำหลักการของโครงการธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำริ หรือ “Food Bank” เป็นแนวทางในการดำเนินงาน
ดร.จารุณี ภิลุมวงค์ นักวิจัย สวพส. อธิบายว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนบ้านห้วยอีค่าง เป็นชุมชนต้นแบบ Food Bank ที่มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูพืชท้องถิ่นและมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน จะมีปัจจัย 4 ด้านที่ขับเคลื่อนงานไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย
1. ปัจจัยด้านวิถีชีวิต ประเพณี และความเชื่อ ชุมชนบ้านห้วยอีค่าง เป็นชนเผ่าปกาเกอะญอ มีวิถีชีวิตพึ่งพาอาศัย และอยู่ร่วมกับป่ามายาวนาน ทำให้ชาวบ้านรู้จักพันธุ์พืช การใช้ประโยชน์ การดูแล และรักษาป่าเป็นอย่างดี หากพื้นที่ไหนมีความอุดมสมบูรณ์ หรือ เป็นป่าต้นน้ำ ชาวบ้านจะทำการอนุรักษ์ โดยมีพิธีที่เรียกว่า “หลื่อป่า” เป็นการไหว้เจ้าป่า เจ้าเขา ให้ช่วยปกปักษ์ รักษา ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ห้ามใครบุกรุก ทำลาย หรือ ล่าสัตว์ เด็ดขาด ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนจะเกิดสิ่งที่ไม่ดีกับตนเองและครอบครัว
นอกจากนี้ ยังมีการสอดแทรกการสร้างจิตสำนึก ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ ในนิทาน เรื่องเล่า และพิธีกรรมต่างๆ เช่น สมัยก่อนเมื่อมีเด็กเกิดในหมู่บ้าน พ่อ/แม่จะต้องนำรกเด็กมาใส่กระบอกไม้ไผ่ผูกกับต้นไม้ไว้ ต้นไม้ต้นนั้นจะเป็น”เดปอ” (ขวัญ) ของลูก ต้องอนุรักษ์ไว้ชั่วชีวิต
2. ปัจจัยความเข้มแข็งและกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เกิดการลาดตระเวนป้องกันการลักลอบการตัดไม้ในฤดูฝน และการเกิดไฟป่าในฤดูร้อน การทำแนวกันไฟ การตั้งคณะกรรมการ และกฎระเบียบในการใช้ประโยชน์ป่าชุมชนร่วมกัน และยังมีการต่อยอด เช่น การถ่ายทอดภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์พืชท้องถิ่นจากผู้รู้ สู่เยาวชนเด็กรุ่นใหม่ การแปรรูปพืชอาหาร พืชสมุนไพร และ พืชสีย้อมธรรมชาติ เป็นต้น
3. ปัจจัยบทบาทผู้นำของชุมชน การมีผู้นำที่มีจิตใจเป็นนักพัฒนา มีความรู้ ความสามารถในการสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจ เป็นตัวอย่างที่ดีในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้นำยังต้องสามารถชักนำให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มองการณ์ไกล สามารถประสานงานกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี
4. ปัจจัยการสนับสนุนและการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาคีเครือข่ายจะช่วยสนับสนุนการทำงานร่วมกันทั้งในด้านงบประมาณ สำหรับบริหารจัดกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน รวมถึงสนับสนุนเครื่องมือต่างๆ และที่สำคัญคือการรวมกันขององค์ความรู้ในภาคีเครือข่ายสำหรับการทำงานร่วมกันในทุกมิติ
ปัจจุบันชุมชนบ้านห้วยอีค่าง เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพในระดับชุมชน เป็นตัวอย่างให้กับชุมชนอื่นๆ ได้เรียนรู้ ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ดิน น้ำ ป่าไม้ และผู้คน ที่สอดรับกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางอาหาร หรือให้เกิดธนาคารชุมชนจากทรัพยากรธรรมชาติ พืชท้องถิ่น รวมไปถึงเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพ
"องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนเป็นความยั่งยืน เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชน ให้มีสุขภาพกาย และสุขภาพใจที่ดีขึ้นได้ และที่สำคัญคือ ประโยชน์ที่ชุมชนได้รับมา ก็เกิดจากความร่วมมือของชุมชนเอง ซึ่งเป็นการร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกัน" ดร.จารุณี กล่าวทิ้งท้าย