บาดแผลฉกรรจ์ จากอุบัติการณ์ ‘น้ำมันรั่ว’ ว่าด้วยมิติ ‘สุขภาพ’ ที่ควรเรียนรู้ตั้งแต่ 8 ปีก่อน
8 กุมภาพันธ์ 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

เกือบ 2 สัปดาห์ หลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ที่ จ.ระยอง นับตั้งแต่ช่วงกลางดึกของวันที่ 25 ม.ค. 2565 แม้สถานการณ์ขณะนี้จะค่อยๆ ทุเลาความรุนแรงลง โดยในเชิงปฏิบัติการก็กำลังเดินหน้าเข้าสู่ระยะของการฟื้นฟูเยียวยา

 

ทว่าในเชิงของวิชาการและการเรียนรู้จากวิกฤตการณ์ ยังคงต้องเดินหน้าต่ออย่างเข้มข้น

 

ภาคส่วนหลักที่กำลังเดินหน้าในเรื่องนี้ คือองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) และมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ได้ร่วมมือกันวางแผนติดตามผลกระทบกรณีน้ำมันรั่วไหล ทั้งในมิติที่จะเกิดขึ้นทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และสามารถประเมินผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้

 

ช่วงที่ผ่านมาเหล่าคณาจารย์และนักวิจัยของ ม.บูรพา ได้ทยอยลงพื้นที่เพื่อสำรวจคราบน้ำมัน พร้อมทั้งตรวจสอบผลกระทบที่ โดยมหาวิทยาลัยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานจากหลายคณะ ได้แก่ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคโนโลยีทางทะเล คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ คณะการจัดการการท่องเที่ยว คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

 

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565 รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา และ ปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง ได้ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการติดตามผลกระทบกรณีน้ำมันรั่วไหล โดยแบ่งประเด็นปัญหาและขอบเขตการศึกษาออกเป็น 3 ส่วนหลัก

 

1. การศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทางทะเล 2. การศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม 3. การจัดทำแผนการป้องกันและรับมือเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่การศึกษาถึงผลกระทบจากน้ำมันรั่วครั้งแรก เพราะเหตุการณ์นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรก หากแต่ย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 เคยมีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล ณ อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง มาแล้ว โดยคราวนั้นก็ได้มีการศึกษาและถอดบทเรียนของเหตุการณ์ในมิติเชิงสุขภาพ ซึ่งดำเนินการโดย โรงพยาบาลระยอง และเพิ่งได้รับการเผยแพร่ออกมาเมื่อปี 2564

 

เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ถอดบทเรียน 5 ปีน้ำมันดิบรั่วไหล จังหวัดระยอง” ที่จัดทำโดย จันทร์ทิพย์ อินทวงศ์ กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม รพ.ระยอง และ ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมคณะ ได้วิเคราะห์เหตุการณ์เมื่อปี 2556 พร้อมกับให้ข้อเสนอแนะหลายส่วนที่น่าสนใจ

 

โดยเฉพาะการเน้นไปที่ประเด็นสุขภาพของผู้เข้าระงับเหตุ ทำความสะอาด เก็บกวาด เก็บกู้และกำจัด

สารเคมีหรือสารปนเปื้อนเหล่านั้น

 

คณะผู้จัดทำได้ให้ข้อเสนอแนะถึงสิ่งที่ควรดำเนินการไว้หากมีกรณีคล้ายกันนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต (ซึ่งก็เกิดขึ้นอีกจริงๆ) ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุไปจนหลังเกิดเหตุ

 

เริ่มจากลำดับแรกคือ การเตรียมความพร้อมก่อนการเกิดเหตุ ต้องมีการซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินอย่างสม่ำเสมอ สร้างภาคีเครือข่ายภาควิชาการเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการสนับสนุนข้อมูลการจัดการ รวมทั้งทราบหรือเข้าถึงฐานข้อมูลสารเคมีที่มีผลิตหรือใช้ในพื้นที่ เพื่อเตรียมสารต้านพิษ (antidote) ที่จำเพาะหรือเหมาะสมไว้เผื่อต้องใช้

 

ลำดับถัดมาคือ การประเมินความเสี่ยง ลดการสัมผัส และสื่อสารความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูลสารที่รั่วไหล ช่องทางเข้าสู่ร่างกาย การเกิดพิษ การแก้พิษ ฯลฯ ประเมินการสัมผัสสิ่งคุกคามสุขภาพ และอาจพิจารณาจัดกลุ่มผู้สัมผัสหรือกลุ่มเสี่ยงเพื่อประโยชน์ในการติดตามเฝ้าระวัง สื่อสารให้ผู้ปฏิบัติงานทราบถึงอันตรายจากสิ่งที่จะสัมผัส และวิธีป้องกัน ลดผลกระทบต่อสุขภาพ

 

จากนั้นต้อง ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ ในกลุ่มผู้สัมผัสหรือกลุ่มเสี่ยง โดยขอข้อมูลประวัติส่วนตัวและวิธีการติดต่อ ติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสหรือกลุ่มเสี่ยงผ่านสื่อดิจิตัลต่างๆ เช่น แอปพลิเคชัน หรือโซเชียลมีเดีย พร้อมพิจารณาจ่ายเงินทดแทนหรือชดเชยเยียวยาผู้ที่มีผลเสียต่อสุขภาพจากการทำความสะอาด เก็บกวาด เก็บกู้ ตามกฎหมายที่เหมาะสมต่อไป

 

ลำดับสุดท้ายคือ การทำวิจัย โดยอาจพิจารณากลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงต่างกันเป็นลำดับ หรือทำวิจัยโดยขออนุญาตเก็บชีววัตถุ เช่น ซีรัม พลาสมา ปัสสาวะ ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ไว้ เพื่อในอนาคตหากคนเหล่านี้เจ็บป่วยด้วยโรคที่เข้าได้กับสารอันตรายที่ได้รับสัมผัส อาจสามารถตรวจประเมินตัวชี้วัดชีวภาพที่บ่งชี้การรับสัมผัส (biomarker of exposure) เพื่อวิเคราะห์แบบ case-control ได้

 

“การจัดการทำความสะอาดเก็บกวาด เก็บกู้ และกำจัดน้ำมันที่รั่วไหล มีบุคคลจำนวนมากที่อาจได้รับสารอันตรายต่อสุขภาพที่มีอยู่ในน้ำมันดิบเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ รับสัมผัสทางผิวหนัง รวมถึงอาจกินอาหาร ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนโดยตรง หรือน้ำมันดิบปนเปื้อนมาที่ใบหน้า จมูก ปาก แล้วเข้าสู่ร่างกายโดยอ้อม หนังสือนี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อทบทวนเหตุการณ์ และวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ควรจะดำเนินการหากมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น” คณะผู้จัดทำ ระบุ

 

จากอุบัติการณ์ทั้งสองครั้งที่เกิดขึ้น คำถามอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์บ้าง นั่นเพราะเราเคยเรียนรู้ร่วมกันมาแล้ว

 

ดังนั้นคำถามตัวโตที่ต้องร่วมกันตอบก็คือ เราเคยนำบทเรียนเหล่านี้มาใช้ เพื่อวางแผนรับมือวิกฤตการณ์ซ้ำรอยนี้หรือไม่ และหากเกิดเหตุการณ์ครั้งที่สามขึ้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผลกระทบจะถูกจำกัดวงให้แคบลง หรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด

 

อ่านรายงาน  “ถอดบทเรียน 5 ปีน้ำมันดิบรั่วไหล จังหวัดระยอง” ฉบับเต็มได้ทาง

http://rayonghospital.go.th/RayongOilSpill/Online/index.html