เตรียมตัวให้พร้อม จัดทำ ‘แผนการดูแลล่วงหน้า’ ในวันที่ยังสามารถ ‘ตัดสินใจ’ ได้ด้วยตัวเอง
8 กุมภาพันธ์ 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ก่อนจะหมดความสามารถในการตัดสินใจ เราควรเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

 

นี่คือการอธิบายคอนเซ็ปต์อย่างง่ายของ การวางแผนการดูแลล่วงหน้า หรือ Advance Care Plan (ACP) ซึ่งกระบวนการวางแผนดูแลสุขภาพที่ทำไว้ก่อนที่ผู้ป่วยจะหมดความสามารถในการตัดสินใจ หรือเข้าสู่ระยะท้ายของชีวิต

 

การวางแผนการดูแลล่วงหน้าถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย โดยเราสามารถทำได้ทั้ง ทางการ และ ไม่เป็นทางการ

 

หัวใจสำคัญอยู่ที่การใช้กระบวนการสนทนาปรึกษาร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ครอบครัว และทีมบุคลากรสุขภาพ หรือผู้ป่วยอาจทำได้ด้วยตนเอง หรือปรึกษาสมาชิกครอบครัว หรือปรึกษาบุคลากรสุขภาพก็ได้

 

การวางแผนการดูแลล่วงหน้า ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งในกระบวนการการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care)

 

ในแง่ของข้อกฎหมายนั้น การวางแผนการดูแลล่วงหน้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสื่อสารในการรักษาพยาบาล ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 8 และ มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

 

ในอดีต เมื่อพูดถึงการวางแผนการดูแลล่วงหน้า จะพบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวปฏิบัติและการตีความที่แตกต่างกันออกไป ไม่มีการกำหนดแนวทางที่เป็นมาตรฐานกลางในการปฏิบัติ

 

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย กลุ่ม Peaceful death และภาคีเครือข่ายในเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง จัดทำมาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย (Thai Standard Advance Care Plan Form) และ แบบฟอร์มมาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย (Standard operation procedures : SOP) ขึ้น

 

แบบฟอร์มดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการใช้งานอย่างง่าย

 

ศ.คลินิก สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานคณะทำงานจัดทำแนวทางการวางแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย อธิบายว่า มาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้า จะประกอบด้วยแบบฟอร์มเพื่อกรอกข้อมูลความประสงค์ และ SOP หรือคู่มือแนวทางที่ให้ผู้ป่วย ญาติ รวมถึงบุคลากรการแพทย์ มีความรู้ความเข้าใจที่ตรงกัน ทำให้ผลของ ACP เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายต้องการ ซึ่งการจัดทำแบบฟอร์มและคู่มือนี้จะไม่ใช่เพียงครั้งเดียวแล้วเสร็จ แต่จะมีการประเมินและปรับปรุงเป็นระยะให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ต่อไป

 

ในส่วนของแบบฟอร์มฯ จะประกอบด้วย ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ทำ การแสดงเจตจำนงหรือความปรารถนา และแผนการดูแลล่วงหน้าที่ต้องการ รวมไปถึงการมอบหมายผู้ตัดสินใจแทน ซึ่งจะทำหน้าที่เมื่อผู้ป่วยหมดความสามารถในการตัดสินใจเเล้ว เป็นต้น ส่วน SOP จะมีการให้หลักการเหตุผล วัตถุประสงค์ ตลอดจนขั้นตอนการทำ และการใช้แผนฯ เป็นต้น

 

“ข้อกำหนดเหล่านี้จะเป็นหลักการกลาง ที่เราสามารถนำมาเป็นแนวทางได้ แต่สุดท้ายแล้วการตัดสินใจจริงนั้นจะอยู่กับบุคลากรหน้างานที่อยู่กับผู้ป่วยและญาติ ดังนั้นเราอาจต้องบันทึกเหตุผลเพิ่มเติมไว้เพื่อให้คนมาทีหลังจะเข้าใจได้ว่าการตัดสินใจเช่นนั้นเป็นไปเพราะอะไร จึงดีใจที่การทำงาน Palliative Care ขณะนี้มีผลสัมฤทธิ์ จนกำลังเกิดคู่มือหรือแนวทางกลางในการทำงานให้ทุกฝ่ายสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้”
ศ.คลินิก สุพรรณ ระบุ

 

การพัฒนามาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทยฉบับนี้ จะส่งผลให้เกิดองค์ความรู้และมาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้าของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับจากทุกหน่วยงาน สามารถนำไปใช้เป็นมาตรฐานในการสื่อสารของบุคลากรด้านสุขภาพในแต่ละวิชาชีพ และสอดคล้องกับบริบทของระบบบริการสุขภาพในด้านการดูแลแบบประคับประคองของประเทศไทยต่อไป

 

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) หรือบอร์ดสุขภาพของประเทศ ซึ่งมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้ เห็นชอบในหลักการ ในเรื่องนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว