สธ.ถอดบทเรียน 'กระจายอำนาจ' ส่องวิธี 'ถ่ายโอนภารกิจฯ' จาก ตปท. ชี้ข้อเสนอไทยใช้แบบ 'ไว้เนื้อเชื่อใจ' ท้องถิ่นดูแลสุขภาพ-ส่วนกลางกำกับ
14 พฤศจิกายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

คณะอนุกรรมการ MIU ด้านการถ่ายโอนภารกิจฯ แจงผลศึกษาแนวทางกระจายอำนาจของต่างประเทศ พบ 4 ข้อเสนอสำหรับ "การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต." ประเทศไทย ให้ สธ.กำกับคุณภาพมาตรฐาน กระจายอำนาจบางด้านตามความพร้อมพื้นที่และเวลาที่เหมาะสม ใช้รูปแบบไว้เนื้อเชื่อใจ มีการติดตามประเมินผลเพื่อปรับสมดุลกระจาย-รวมศูนย์อำนาจ ตามบริบทที่เปลี่ยนแปลง


นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิ 11) และประธานคณะกรรมการประมวลสถานการณ์โรคโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุข (MIU) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการ MIU วิชาการและติดตามประเมินผลถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยทีมวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้ศึกษาบทเรียนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของต่างประเทศเพื่อนำมาปรับเป็นข้อเสนอในการถ่ายโอนภารกิจฯ แต่ละระยะของประเทศไทย


ทั้งนี้ จากการศึกษาบทเรียนพบว่ามี 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1. เป้าหมายของการกระจายอำนาจ ส่วนใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน เพิ่มขีดความสามารถและความรับผิดชอบของหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพิ่มนวัตกรรมบริการ เพิ่มคุณภาพบริการ และเพิ่มความเสมอภาค  2. วิธีกระจายอำนาจมี 4 ด้าน คือ ด้านการตัดสินใจ ด้านการบริหารงบประมาณ ด้านบริการ และด้านการบริหารจัดการ รวมถึงบุคลากร โดยประเทศส่วนใหญ่เลือกกระจายอำนาจเพียงบางด้าน โดยเฉพาะด้านการบริการ ซึ่งพบว่าได้ผลพึงพอใจมากที่สุด


3. กลไกการกระจายอำนาจมี 3 รูปแบบ คือ ต่างคนต่างทำ (voting with feet) ส่วนกลางไม่ควบคุม ซึ่งการพัฒนาจะขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละพื้นที่, ทำตัวติดดิน (close to ground) ส่วนกลางมอบอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจ ซึ่งจะตอบสนองปัญหาในพื้นที่ได้แต่อาจขาดเป้าหมายและความเชื่อมโยงในภาพรวม และแบบไว้เนื้อเชื่อใจ (watching the watchers) ทุกหน่วยทำงานเชื่อมโยงกัน มีระบบกำกับตามลำดับขั้นของหน่วยงาน ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารโดยยังมีหน่วยงานที่สูงกว่าคอยดูแล ทำให้เกิดความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่น 4. การกระจายอำนาจและการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง พบควบคู่กันในประเทศที่กระจายอำนาจ ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนเพื่อหาจุดสมดุลตามปัจจัยและบริบทที่เปลี่ยนไป 


นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ได้จัดทำข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย คือ 1. ควรกำหนดเป้าหมายพัฒนาระบบการทำงานของหน่วยราชการให้ยุ่งยากซับซ้อนน้อยลง มีทรัพยากรในการทำงานมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดการด้านสาธารณสุข โดยมีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำกับดูแลเรื่องคุณภาพมาตรฐาน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและระบบตรวจสอบการทำงานของ รพ.สต. และ อปท. สร้างความเสมอภาคระหว่างพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในพื้นที่


2. ควรเริ่มกระจายอำนาจบางด้านตามความพร้อมของพื้นที่และความเหมาะสมของช่วงเวลา ไม่ควรกำหนดรูปแบบเหมือนกันทุกพื้นที่ แต่ค้นหาขนาดของประชากรและลักษณะของหน่วยงานในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อให้การกระจายอำนาจมีโอกาสบรรลุวัตถุประสงค์มากที่สุด 3. พัฒนาการกระจายอำนาจไปสู่รูปแบบไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด โดย สธ.มีนโยบายและแผนระดับชาติ กำกับมาตรฐาน ติดตามประเมินผล ส่วนระดับพื้นที่เน้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดี สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในการทำงานร่วมกัน พัฒนาระบบสารสนเทศทางสาธารณสุขที่เชื่อมโยงกันได้


4. ต้องมีการกำกับควบคุมจากหน่วยงานส่วนกลาง เช่น มาตรฐาน การติดตามประเมินผล และปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการกระจายอำนาจและรวมศูนย์ตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยผลการศึกษาและข้อเสนอ ทางคณะอนุกรรมการ MIU ถ่ายโอนภารกิจฯ ได้มีการนำเสนอต่อ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการบริหารการถ่ายโอนฯ ของ สธ. ต่อไป