เปิดคัมภีร์การพัฒนาเล่มใหม่ ชำแหละกันให้ถึงราก ทำไม ‘ระบบสุขภาพเขตเมือง’ ยังไปไม่ถึงไหน !!?
8 กุมภาพันธ์ 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดทำ ยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง (พ.ศ. 2561-2570)” ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็น กรอบแนวทางในการดำเนินงานในการพัฒนาระบบสุขภาพในเขตเมืองให้มีความเข้มแข็ง มีส่วนร่วม ต่อเนื่องและเชื่อมโยง เพื่อคนเมืองมีสุขภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี


ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้วิเคราะห์สถานการณ์พร้อมฉายภาพให้เห็นประเด็นสำคัญและเร่งด่วนที่ควรดำเนินการ เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพเขตเมืองและกรุงเทพมหานคร (กทม.)


สาระสำคัญในยุทธศาสตร์นี้ ได้อธิบายให้เห็นถึงข้อจำกัดหลายประการในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมืองและ กทม. อย่างมีส่วนร่วม อาทิ ความแตกต่างของนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน โครงสร้างพื้นฐานของระบบบริการสุขภาพ อันหมายถึงกำลังคน ทรัพยากร รูปแบบการจัดระบบบริการสุขภาพ ระบบส่งต่อ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน งบประมาณและการเบิกจ่าย


ที่สำคัญคือ การขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างภาคส่วนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และไม่มีเจ้าภาพหลักของระบบบริการสุขภาพเขตเมืองโดยรวม


ทั้งหมดนี้ ทำให้ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองได้รับการพัฒนาแบบแยกส่วน และไร้ทิศทางที่ชัดเจนในภาพรวม ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เขตเมืองนั้นมีความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง


สำหรับประเด็นสำคัญและเร่งด่วน ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอใน 3 ประเด็น

1. การให้บริการสุขภาพ ได้แก่ การจัดระบบบริการสุขภาพในเขตเมืองยังมีความซ้ำซ้อนระหว่างผู้ให้บริการสุขภาพ การกระจายตัวของหน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่เขตเมืองไม่ครอบคลุมประชาชนบางส่วน ขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพของบริการระดับปฐมภูมิ ทำให้ไปรับบริการสุขภาพจากโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หน่วยบริการสุขภาพในเขตเมืองยังมุ่งเน้นการจัดบริการสุขภาพในเชิงของการรักษาพยาบาลและการตั้งรับมากกว่าการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันควบคุมโรค

2. การเงินการคลังสุขภาพ ได้แก่ ระบบการซื้อบริการสุขภาพของกองทุนรัฐยังไม่สามารถทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อปท.ที่เข้าร่วมในการจัดบริการสุขภาพไม่สามารถนำเงินที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปใช้ในการจ้างบุคลากรด้านสุขภาพมาให้บริการประชาชนได้ การจัดบริการสุขภาพในเขตเมืองประสบปัญหาความไม่เพียงพอของงบประมาณในการจัดบริการสุขภาพ มาตรการทางการเงินการคลังสุขภาพยังไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมสุขภาพและการใช้บริการสุขภาพของประชากรในเขตเมือง

3. การบริหารระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม (ภาวะผู้นำและการอภิบาล) ได้แก่ การบริหารระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมของผู้ให้บริการสุขภาพที่อยู่ต่างสังกัดกันนั้น ยังมีอยู่น้อยการวางแผนและการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งด้านบุคลากรสุขภาพ ระบบข้อมูลสารสนเทศ และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาสูงยังมีน้อย

 

ยุทธศาสตร์ระบบบริการฯ ชี้ประเด็นว่า จากตัวอย่างสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตเมือง รวมทั้ง กทม. เมืองพัทยา จะเห็นได้ว่าปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงลำพัง การบริการสุขภาพในเขตเมืองดำเนินงานโดยหน่วยงานที่หลากหลาย ซึ่งขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยบริการที่เกี่ยวข้อง ขาดกลไกการเชื่อมโยง ระบบการส่งต่อ-ส่งกลับผู้ป่วยที่ชัดเจน ทำให้การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพเขตเมืองอย่างมีส่วนร่วมมีข้อจำกัด


ดังนั้น การให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการสุขภาพเขตเมือง ได้ร่วมกันกำหนดแผนยุทธศาสตร์ แนวทางการพัฒนา ตลอดจนกลไกในการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพเขตเมือง จะทำให้การจัดบริการสุขภาพสามารถรองรับความต้องการของประชาชนในเขตเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงพอ และสอดคล้องตามบริบท และความต้องการของประชาชน


ทั้งนี้ สามารถอ่าน ยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง (พ.ศ. 2561-2570)” ฉบับเต็มได้ที่นี่