โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลง ประเทศของเรากำลังเปลี่ยนไป คนไทยอายุเฉลี่ย 75 ปี เด็กเกิดน้อย - วัยรุ่นลดลง
9 กุมภาพันธ์ 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรกับทิศทางการพัฒนาประชากรในอนาคต คือประเด็นการพูดคุยในเวทีทิศทางอนาคตประเทศไทย ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 ซึ่งมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นแม่งานใหญ่ โดยสาระสำคัญได้มีการพูดถึงร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว พ.ศ. 2565 2580

สำหรับข้อมูล-ข้อเสนอภายในเวที สอดคล้องกับที่ รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สธ.) ระบุว่า การทำสำมะโนประชากรครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2503 และทำต่อเนื่องเรื่อยมาทุก 10 ปี จนล่าสุดในปี 2563 นั้นทำให้เห็นชัดเจนว่าโครงสร้างทางประชากรของประเทศไทยนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

ประเทศไทยจากเดิมที่เคยมีกลุ่มประชากรวัยทำงานจำนวนมากกลับมีจำนวนลดลง ขณะที่กลุ่มวัยพึ่งพิง อันได้แก่ ประชาวัยเด็กและผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น โดยล่าสุดมีผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีหรือมากกว่า จำนวน 11 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15.7 ของประชากรไทยที่มีประมาณ 70 ล้านคน

ถือได้ว่าเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) แล้ว ขณะนี้คนไทยมีอายุเฉลี่ยที่ 75 ปี และอายุคนไทยเฉลี่ยจะมีแนวโน้มยืนยาวถึง 85 ปี ในปี 2568

ขณะที่จำนวนเด็กและวัยรุ่นนั้นได้ลงลงจาก 17.2 ล้านคน เหลือเพียง 15.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 23.3 ของประชากรทั้งหมด ต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ และยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จนอาจจะเหลือเพียง 13.7 ล้านคนในปี 2573

ที่น่าวิตกคือจำนวนเด็กเกิดลดน้อยลง ในปี 2554 มีเกิดมากกว่า 8.5 แสนคน และลดลงอย่างรวดเร็วล่าสุดในปี 2564 โดยพบว่ามีเด็กเกิดใหม่น้อยกว่า 5.5 แสนคน นั่นทำให้จำนวนประชากรเกิดต่ำกว่าจำนวนตาย

รศ.ดร.ธีระ แนะรัฐบาลว่า ต้องคลอดนโยบายเอื้อการมีบุตรและต้องเริ่มทันที ที่สำคัญสุดในขณะนี้คือต้องปรับเปลี่ยน mindset เป็น มีลูกไม่เท่ากับมีภาระจากเดิมที่เข้าใจกันว่า ลูกมากยากจน

สิ่งที่สามารถทำได้และหลายประเทศได้ทำไปก่อนหน้าแล้ว เช่น การมีนโยบายส่งเสริมการเกิดผ่านมาตรการจูงใจทางภาษี การสนับสนุนให้มีบุตรโดยรัฐดูแลค่าใช้จ่ายในการคลอดและสงเคราะห์บุตร การให้ทุนการศึกษา การให้สิทธิการเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับเงินเดือนทั้งพ่อและแม่ การส่งเสริมการสร้างสัมพันธ์ทำความรู้จักก่อนเข้าสู่การทำงาน เป็นต้น