3 ปี 'สมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ' 6 ฉันทมติยกระดับสุขภาวะชาว กทม.

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.


มาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 กำหนดให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ หรือสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อเป็นเวทีกลางให้ทุกภาคส่วนได้มาปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เริ่มกระบวนการสมัชชาสุขภาพพื้นที่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา และมีการให้ฉันทมติร่วมกันไปแล้วรวม 6 ระเบียบวาระ

• สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 พ.ศ.2563
แนวคิด "ร่วมสร้างอนาคตกรุงเทพมหานคร: เมืองแห่งสุขภาวะ และวิถีชีวิตของผู้คนที่หลากหลาย"

- มติ "ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร"
สร้างกติกาหรือข้อตกลงร่วมกันใน กทม. เป็นครั้งแรก ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะในมิติต่างๆ อาทิ ฝุ่นควัน การขนส่งสาธารณะ หาบเร่แผงลอย เศรษฐกิจ ระบบหลักประกันสุขภาพ และการเข้าถึงบริการสาธารณสุข

- มติ "การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร"
วางเป้าหมายการจัดการหาบเร่แผงลอยภายใน 5 ปี โดยคำนึงทั้งในแง่ของประโยชน์ การเป็นแหล่งอาหาร แหล่งรายได้ ตลอดจนเสน่ห์ของ กทม. และในแง่ของปัญหา เช่น การจัดระเบียบ การสัญจร พื้นที่สาธารณะ

• สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ.2564
แนวคิด "พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ร่วมสร้างมหานครสุขภาวะวิถีใหม่"

- มติ "การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของชุมชน"
เรียกร้องให้พื้นที่สาธารณะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ตอบสนองต่อความต้องการและบริบทของพื้นที่ โดยให้ทุกคนในชุมชนมีโอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึง เป็นพื้นที่กิจกรรมหรือพักผ่อนในภาวะปกติ รวมไปถึงใช้เพื่อรองรับภาวะวิกฤต

- มติ "การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับภาวะวิกฤติ"
ใช้บทเรียนจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อแก้ไขปัญหาข้อจำกัดของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิใน กทม. ที่ประชาชนจำนวนมากประสบปัญหาเข้าไม่ถึงบริการพื้นฐาน ขณะที่ระบบก็ขาดการเชื่อมโยงกัน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการดูแลที่ครอบคลุมและต่อเนื่อง

• สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 พ.ศ.2565
แนวคิด "กรุงเทพฯ เมืองแห่งสุขภาวะ ปลอดภัย เศรษฐกิจดี...สร้างได้!"

- มติ "พื้นที่เศรษฐกิจ ปลอดภัย ภายใต้ความหลากหลาย"
ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาชีพ พื้นที่ทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การยอมรับความหลากหลาย และกระบวนการมีส่วนร่วม โดยมุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มคนทำงานเศรษฐกิจฐานราก เช่น ผู้ทำการผลิตที่บ้าน หาบเร่แผงลอย ผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ

- มติ "สุขภาพดีทุกช่วงวัยด้วยระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่เน้นคุณค่า"
แก้โจทย์ความท้าทายของปัญหาสุขภาพในสังคมเมือง ที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งหน้าทำมาหากิน ขาดการออกกำลังกาย รวมถึงปัญหาทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนการขาดความรู้ความเข้าใจการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง

 7 ธันวาคม 2565