'พื้นที่ปลอดภัย' ในโลกออนไลน์ หนุนใช้ 'เกม' อย่างถูกต้อง สร้างความรู้เท่าทันแก่เด็ก-เยาวชน
9 กุมภาพันธ์ 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

การรับมือกับผลกระทบบนโลกออนไลน์ที่จะมีต่อเด็กและเยาวชน เป็นสิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญและมีความพยายามเดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโครงการล่าสุดของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ได้มีการประสานความร่วมมือกับ บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 เพื่อร่วมกันสร้างสังคมออนไลน์สีขาวที่ปลอดภัยต่อเด็กและเยาวชน

โครงการที่ใช้ชื่อว่า "Game On: Digitally Safe and Sound" มีเป้าหมายที่จะให้ความรู้และความเข้าใจกับเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง ในการสร้างสังคมออนไลน์สีขาว โดยใช้ "เกม" และ "บอร์ดเกม" เป็นสื่อกลางการสื่อสารไปสู่เยาวชน รวมถึงเป็นตัวกลางสร้างพื้นที่แห่งการสนทนาในครอบครัว มุ่งเน้นให้ครอบครัวเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้เยาวชนสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภายใต้โครงการดังกล่าว ทางกรมสุขภาพจิต และบริษัท การีนา ออนไลน์ ได้ร่วมกันพัฒนาบอร์ดเกมที่มีชื่อว่า “The.Net Threat เกมกลโลกไซเบอร์” ซึ่งได้มีการจัดงาน Play Test ไปเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยแผนการดำเนินการถัดไปนั้นทางบริษัทจะดำเนินการผลิตบอร์ดเกม เพื่อส่งต่อให้กรมสุขภาพจิตนำไปเผยแพร่ให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยกระจายสู่เด็กและเยาวชนต่อไป

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า สิ่งที่กรมสุขภาพจิตและบริษัท การีนา ออนไลน์ ร่วมกันนำเสนอ จะสร้างเสริมให้เกิดสังคมที่มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นในประเทศไทย ตรงกับเป้าหมายของ สธ. ที่ต้องการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สานสัมพันธ์ครอบครัวให้พร้อมรับมือผลกระทบบนโลกออนไลน์

ทั้งนี้ จะมุ่งไปที่การสร้างความตระหนักเรื่องนี้ในสังคมผ่านทุกครอบครัว เพราะผู้ปกครองเองก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนเยาวชน และการเชื่อมโยงสมาชิกในครอบครัวที่ต่างวัยให้รู้จัก “เปิดใจ ศึกษา และขยับเข้าหา” ก็จะเป็นรากฐานสำคัญของครอบครัวในการเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างปลอดภัย

"เด็กและเยาวชนคือตัวแปรที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติ ในอนาคตการพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนให้พวกเขาสามารถเติบโตได้อย่างมีความสุข และสามารถพัฒนาศักยภาพได้สูงสุด จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก พื้นที่ปลอดภัยบนสังคมออนไลน์จึงกลายเป็นภารกิจเร่งด่วนของทุกคนที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้น เนื่องจากเด็กและเยาวชนในปัจจุบันสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ตลอดเวลา และใช้ชีวิตส่วนมากอยู่บนโลกออนไลน์" พญ.อัมพร อธิบาย

ขณะที่ตัวแทนภาคเอกชน มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) เชื่อว่าครอบครัวเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้เยาวชนสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการปลูกฝังให้เยาวชนมีภูมิคุ้มกันและเข้าใจการใช้สื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในครอบครัวที่ควรช่วยกันปลูกฝังในเรื่องนี้

สำหรับโครงการ Game On: Digitally Safe and Sound จะให้ความรู้และความเข้าใจกับเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง ในการสร้างสังคมออนไลน์สีขาว โดยใช้เกมเป็นสื่อกลางการสื่อสารไปสู่เยาวชน รวมถึงเป็นตัวกลางสร้างพื้นที่แห่งการสนทนาในครอบครัว เพื่อช่วยกันป้องกันและลดปัญหาหรือภัยออนไลน์ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน

เธอระบุว่า นอกจากเกมแล้วยังมีชุดหนังสั้น Be Strong, Be Kind, Be There ที่จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักทั้งในกลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้ปกครองในวงกว้างถึงความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกัน เสริมพลังบวก และสานสัมพันธ์เยาวชนและครอบครัวพร้อมรับมือกับการใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์ของเด็กๆ ได้อย่างถูกต้อง

"เพราะอินเทอร์เน็ตนั้นมีประโยชน์ถ้าเราเข้าใจและใช้มันอย่างถูกต้อง และเราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันสังคมออนไลน์ให้เป็นสังคมสีขาวที่ปลอดภัย ภายใต้การทำธุรกิจของบริษัท และพันธกิจของกรมสุขภาพจิตต่อไปในอนาคต" มณีรัตน์ ยืนยัน

ด้าน วัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สธ.ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและส่งเสริมเยาวชนมาโดยตลอด พร้อมกับต้องการให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีพื้นที่ปลอดภัยให้สามารถเติบโตทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงสามารถรู้เท่าทันความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ได้

สำหรับความเสี่ยงที่ว่านั้น คือ “3C” อันประกอบด้วย Content – เยาวชนรับรู้เนื้อหาอันตราย ข้อความรุนแรง เกลียดชัง Contact - เยาวชนเสี่ยงจากการเชื่อมต่อบุคคลที่ปฏิบัติต่อเราไม่ดี หาผลประโยชน์ หรือหลอกลวงเรา และ Conduct – เยาวชนเองอาจเผลอใช้ช่องทางนี้ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือเผลอโพสท์ไม่ดีต่อคนอื่นอย่างไม่ตั้งใจ

"การที่กรมสุขภาพจิต ร่วมมือกับบริษัทการีนา ออนไลน์ ในครั้งนี้ จึงเป็นความร่วมมือสำคัญระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการสร้างสังคมออนไลน์ เพื่อพัฒนาส่งเสริมขีดความสามารถให้เด็กและเยาวชน รวมไปถึงส่งเสริมการกระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้พร้อมรับมือผลกระทบบนโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ" เลขานุการ รมว.สธ. ระบุ

การดำเนินงานนี้ถือเป็นรูปแบบหนึ่งที่สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 เรื่อง ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก (E-Sports: Social Responsibility for Child Health) ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบร่วมทางสังคม ด้วยการร่วมสร้างความเข้าใจเพื่อสื่อสารถึงอีสปอร์ต หรือกิจกรรมการแข่งขันวิดีโอเกมออนไลน์ชิงรางวัล อย่างถูกต้องและครบถ้วนในทุกมิติ ตลอดจนร่วมสร้างความเข้าใจและรู้เท่าทันอีสปอร์ต ให้เป็นไปอย่างทั่วถึง เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ