
เผยความก้าวหน้า ‘ขจัดความยากจน’ รัฐบาลยันช่วยไปแล้ว 6.5 แสนครัวเรือน ชี้สำรวจแบบมุ่งเป้า-ลงลึกต้นตอปัญหา มุ่งเพิ่มรายได้-พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก4 มกราคม 2566
รัฐบาลเผยผลสำเร็จแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้า หลังผ่าน 2 ปี ช่วยคนไทย 6.5 แสนครัวเรือนผ่านความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมเดินหน้าต่อวางระบบแก้หนี้-เพิ่มทุน ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพิ่มสภาพคล่องการประกอบอาชีพ-ดำรงชีวิต ไม่เข้าสู่วงจรการกู้เงินนอกระบบ
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2566 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 เพื่อเป็นกลไกแก้ปัญหาความยากจน โดยใช้ข้อมูลคนจน 5 มิติจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนจนแบบชี้เป้า ได้แก่ มิติด้านสุขภาพ มิติด้านความเป็นอยู่ มิติด้านการศึกษา มิติด้านรายได้ และมิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งนี้ ผลดำเนินการจากข้อมูลของกรมพัฒนาชุมชน พบว่า ได้ดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP ไปแล้ว 653,524 ครัวเรือน ซึ่งเป็นคนจนใน 5 มิติ ในปี 2565 อย่างครบถ้วน และถือเป็นความก้าวหน้าที่รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ และเข้มข้น
น.ส.ทิพานัน กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังมุ่งเป้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สะสมมาอย่างจริงจัง โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการสินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ผ่านธนาคารออมสิน ด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวมทั้งหมด 2,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือประชาชนไม่น้อยกว่า 1 แสนราย ให้มีสภาพคล่องสำหรับประกอบอาชีพ ดำรงชีวิต และเพื่อไม่ให้ไปกู้เงินนอกระบบ
“รัฐบาลลงลึกถึงต้นตอของปัญหาความยากจน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และยังหาแนวทางเพิ่มเติมรายได้ เช่น แนวทางสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และยังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตไปพร้อมกับภาพรวมของประเทศ และเพื่อให้ประชาชนพ้นความยากจน” น.ส.ทิพานัน กล่าว
อนึ่ง ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565 ภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพได้ร่วมกันเห็นชอบในมติ “การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG: การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน” ซึ่งมุ่งหวังให้คนในทุกระดับของสังคมมีความรู้เท่าทัน และมีส่วนร่วมแก้ปัญหาความยากจน ผ่านการใช้แนวคิดแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว และนำองค์ความรู้ นวัตกรรม เสริมความสามารถด้านบริการการเงิน โดยการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย อันสอดคล้องกับเป้าหมายการแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาล