สธ.นำทัพ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ‘คลัง’ คลอดเกณฑ์ Fast Track จัดซื้อวัสดุเป็นมิตร สวล.
2 ธันวาคม 2564
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สช.จัดเสวนากระตุ้นความตระหนักต่อผลกระทบจาก “แร่ใยหิน” ผ่านมุมมองการใช้กฎหมาย พบกลไกหลายหน่วยงานมีส่วนเดินหน้าเป้าหมายลดการใช้ภายในประเทศ “อนุทิน” ย้ำหลายประเทศอาเซียนยกเลิกแล้ว พร้อมผลักดัน สธ.เป็นต้นแบบหน่วยงานไทย ใช้วัสดุทดแทนในงานก่อสร้าง-ต่อเติมอาคาร

 

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ และภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนา เปิดกฎหมาย! สังคมไทย ‘ไร้แร่ใยหิน’ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Side Event) ของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ปรับปรุงใหม่เกี่ยวกับมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน เพื่อที่จะให้มีแนวทางการนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า เป็นที่ยอมรับทางวิชาการทั่วโลกว่าแร่ใยหินเป็นสารก่อมะเร็ง ที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปอดและทางเดินหายใจ อันก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนเองก็ได้เกิดเครือข่ายเรียกร้องการยกเลิกแร่ใยหิน และหลายประเทศได้มีการประกาศยกเลิกไปแล้ว เช่น สิงคโปร์ บูรไน ลาว ขณะที่เวียดนามก็เตรียมประกาศยกเลิกในปี 2566

นายอนุทิน กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีการนำเข้าและใช้แร่ใยหินมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 70 ปี ติด 1 ใน 10 ประเทศที่มีการนำเข้าสูงที่สุดในโลก ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการใช้เครื่องมือสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมการพัฒนาและขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะ คือ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาแก้ไขปัญหาผ่านมติสมัชชาฯ เรื่อง มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการรับทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการในส่วนต่างๆ แล้ว

“จากประสบการณ์ด้านวิศวกรรม การก่อสร้างต่างๆ ผมตระหนักดีถึงอันตรายและพิษภัยของวัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ และในฐานะ รมว.สาธารณสุข ก็พร้อมสนับสนุนนโยบายให้ สธ. เป็นหน่วยงานรัฐต้นแบบนำร่องที่จะประกาศให้หน่วยงานและสถานพยาบาลต่างๆ ในสังกัดทุกแห่งทั่วประเทศ ยกเลิกการใช้วัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบในการก่อสร้างอาคาร ต่อเติมหรือซ่อมแซม แต่ให้ใช้วัสดุทดแทนที่ปลอดแร่ใยหินแทน เป็นแบบอย่างให้ภาคส่วนอื่นๆ เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ต่อไป” นายอนุทิน กล่าว

นางสุดฤทัย เลิศเกษม รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า การรณรงค์และสร้างความตื่นรู้ต่อวิกฤตสุขภาพที่เกิดจากแร่ใยหิน เป็นภารกิจที่อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ให้ความสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่จำนวนผู้เสียชีวิตที่สูง แต่ยังเป็นผลกระทบในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งหน่วยงานด้านสาธารณสุขก็ต้องเผชิญกับภารกิจหนักช่วงโควิด-19 และอ่อนล้าไปมากแล้ว ขณะนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ทุกภาคส่วนจะมาร่วมกันผลักดันให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน เพื่อที่อนาคตลูกหลานไม่ต้องเผชิญกับผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตจากสิ่งที่ป้องกันได้

“ปัจจุบันมีวัสดุทดแทนที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ รวมถึงมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาแล้ว ดังนั้นวันนี้เราจึงมาร่วมกันจุดประกายความคิดและความตระหนัก ไม่เพียงให้คนเลิกใช้ แต่ให้เลิกมีการผลิตด้วย เพราะสิ่งนี้สร้างผลกระทบต่อสุขภาพทุกคน โดยกรมประชาสัมพันธ์ยินดีที่จะขยายผลภารกิจนี้ผ่านเครื่องมือการสื่อสาร ช่องทางต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ส่วนกลาง และภูมิภาคอีก 4 สถานี ตลอดจนวิทยุกระจายเสียงอีก 104 คลื่นทั่วประเทศ ที่เชื่อว่าจะเป็นพลังหนึ่งในการลดจำนวนผู้ป่วยต่อไปในอนาคต” นางสุดฤทัย กล่าว

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สธ.เป็นหน่วยงานปลายน้ำในการรองรับผู้เจ็บป่วย พร้อมกับทำระบบการเฝ้าระวังและรายงานตัวเลขจำนวนผู้ป่วยเพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดีโรคนี้เป็นปัญหาที่เราต้องช่วยกันป้องกันแก้ไข โดยสิ่งสำคัญคือข้อกฎหมายที่สังคมไทยจะต้องรับรู้และปฏิบัติตาม รวมทั้งช่วยกันเฝ้าระวังหากมีการละเมิด นำไปสู่การให้สังคมไทยปลอดแร่ใยหินต่อไป

ดร.สุวัฒน์ รามจันทร์ วิศวกรโยธาชำนาญการ กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า แร่ใยหินมีอยู่ในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เช่น กระเบื้องหลังคา ฝ้าเพดาน ท่อน้ำ ซีเมนต์ ฯลฯ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องของกรมโยธาธิการฯ มีใน 2 ลักษณะ คือกฎกระทรวงที่กำหนดให้วัสดุก่อสร้างที่ใช้ภายในอาคาร ต้องไม่ก่อให้เกิดสารแขวนลอยในอากาศอันก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมไปถึงการห้ามใช้วัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน แต่มีข้อยกเว้นหากวัสดุนั้นมีการฉาบหรือหุ้มไว้ไม่ทำให้เกิดการฟุ้งกระจาย ที่จะยังสามารถใช้ได้อยู่

ดร.สุวัฒน์ กล่าวว่า อีกด้านหนึ่งคือกฎกระทรวงที่กำหนดให้การรื้อถอนอาคาร จะต้องจัดให้มีการป้องกันฝุ่นละอองที่จะก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งจะรวมถึงแร่ใยหิน นอกจากนี้ยังมีกฎกระทรวงที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนของการเสนอ ครม. ให้เห็นชอบหลักการ ที่จะช่วยครอบคลุมถึงผลกระทบจากแร่ใยหินเพิ่มเติมตามออกมาอีก

นางอัมพวรรณ พุกดำ กองการพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในส่วนของกรมบัญชีกลางมีกฎหมายที่กำกับหน่วยงานของรัฐ คือ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่ครอบคลุมทุกหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น ตลอดจนมหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชน ซึ่งสนับสนุนให้การจัดซื้อพัสดุที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถจัดซื้อได้ง่ายกว่ารูปแบบอื่นๆ เหมือนเป็นทางพิเศษ หรือ Fast Track

“หน่วยงานรัฐที่จะทำการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคาร สามารถกำหนดคุณสมบัติของวัสดุให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการส่งเสริมให้ภาครัฐใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม ทั้งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการผลิตออกมาเพื่อขายให้กับภาครัฐ ซึ่งนี่ยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น เพราะต่อไปในอนาคตเราอาจกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ เป็นสัดส่วนที่หน่วยงานจะใช้ต่อไป” นางอัมพวรรณ กล่าว

นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า หนึ่งในเครื่องมือเพื่อปกป้องและคุ้มครองผลกระทบจากแร่ใยหิน คือ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 ซึ่งจะคุ้มครองผู้ประกอบอาชีพ ลูกจ้าง หรือคนทำงาน ที่จะต้องได้รับการตรวจสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งหากพบความผิดปกติก็จะต้องได้รับการวินิจฉัย รักษา และรายงานเป็นข้อมูลในภาพรวมของประเทศ เพื่อที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและออกมาตรการต่างๆ ต่อไป

“กรณีที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือสงสัยว่าจะเป็นโรค นายจ้างก็ต้องแจ้ง สธ. เพื่อให้มีการสอบสวนโรค และนำไปสู่การเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันและควบคุมโรคให้กับลูกจ้าง รวมทั้งประชาชนคนอื่นๆ ที่อาจได้รับความเสี่ยงด้วยต่อไป ส่วนความท้าทายต่อไปคือการมีระบบติดตาม เพราะลูกจ้างแต่ละคนอาจไม่ได้ทำงานอยู่ที่เดิมตลอด ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะติดตามสุขภาพเขาได้ตั้งแต่เริ่มทำงาน ตลอดจนไม่ว่าจะย้ายไปที่ไหน” นพ.สมเกียรติ กล่าว

ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า อันตรายจากแร่ใยหินเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม ซึ่งการพูดคุยในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนร่วมกันตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 เมื่อปี 2562 ที่มีมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน และจะมีการรายงานความก้าวหน้าในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ที่เตรียมจะจัดขึ้นในวันที่ 15-16 ธ.ค. 2564

“ขณะนี้เราจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ Side Event กว่าเวที 20 ทั่วประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้รวมถึงแลกเปลี่ยนในประเด็นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม เช่นเดียวกับเรื่องของแร่ใยหิน ที่ขณะนี้เราจะสร้างการรับรู้ต่อกฎหมาย แนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้เกิดแนวทางการนำกฎหมายเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมถึงการรวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายเพิ่มเติม เพื่อนำมาสู่การขับเคลื่อนให้ประเทศไทยไร้แร่ใยหินในที่สุด” นพ.ปรีดา กล่าว