
กรุงเทพฯ น่าอยู่ ต้องนับหนึ่งที่ ‘กำจัดขยะ’ ภาค ปชช. เสนอ ‘ว่าที่พ่อเมือง’ สางปัญหา มูลฝอย-น้ำเสีย10 กุมภาพันธ์ 2565
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ย้ำความสำคัญการแก้ไขปัญหา “ขยะ-น้ำเสีย” ถึงผู้ลงสมัครผู้ว่าราชการ กทม. วอนขอให้ยกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับหนึ่งในการหาเสียง เพราะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงสุขภาพประชาชน ทั้งในเมืองหลวงและพื้นที่ข้างเคียง
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวกับ “Health Station” ว่า การจะทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเมืองที่น่าอยู่ จำเป็นจะต้องมีการแก้ไขปัญหาเรื่องของขยะ รวมถึงน้ำเสียในลำคลองเป็นลำดับแรก จึงอยากให้ผู้ที่ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ทั้งในนามพรรคการเมืองหรือส่วนบุคคล ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และเป็นอันดับหนึ่งในการหาเสียง ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีนั้นจะต้องเริ่มจากการจัดการขยะ โดยการส่งเสริมหรือมีมาตรการที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นมาตรการเชิงกลไกหรือบังคับ เพื่อให้คนคัดแยกขยะอย่างจริงจังตั้งแต่ในระดับครัวเรือน เพื่อลดปริมาณขยะลงให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสถานที่กำจัดขยะ ไม่ว่าจะเป็นหลุมฝังกลบหรือโรงไฟฟ้าพลังงานขยะต่างๆ ที่อยากให้มีการเพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรการควบคุมมลพิษ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในชุมชน หรือต่อประชาชนที่อาศัยทั้งพื้นที่ใกล้เคียงและที่อยู่ห่างออกไป เพราะหากสถานที่กำจัดขยะเหล่านี้ไม่มีการจัดการที่ดี ก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ กทม. ต้องพบกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ต่อไป
น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวว่า ในส่วนของปัญหาน้ำเสียนั้น พบว่าระบบน้ำเสียตามคูคลองสายย่อยและสายหลักใน กทม. จะไหลรวมสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทยในท้ายที่สุด และด้วยระบบนิเวศของคลองที่เน่าเหม็นหรือมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ก็จะทำให้มีสารพิษที่สะสมจากสารเคมี หรือจากเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทำให้ระบบนิเวศของลำคลอง แม่น้ำ ไปจนถึงทะเลอ่าวไทย ได้รับผลกระทบจากสารพิษเหล่านี้ ที่ยังมีผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพและห่วงโซ่อาหารอีกด้วย
“เรื่องน้ำเสียในคลองต่างๆ อยากให้ กทม. มีการวางแผนจริงจัง ให้มีระบบบำบัดน้ำเสียทั้งระบบย่อยและระบบกลาง ที่มีประสิทธิภาพและสามารถใช้งานได้จริง เพื่อให้คลองทั้งสายหลัก สายรอง ใน กทม. สะอาดมากขึ้น จะได้พลิกโฉมเป็นเมืองที่สะอาดและน้ำใส มากไปกว่านั้นหากคลองใน กทม. สะอาดขึ้น ก็จะส่งผลต่อภาพรวมของคุณภาพน้ำในแม่น้ำและทะเล ที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยต่อห่วงโซ่อาหารและสุขภาพของคนได้” น.ส.เพ็ญโฉม ระบุ
ขณะที่การจัดการผังเมืองในบางจุดของ กทม. หากสามารถทำได้ก็ยังอยากจะให้มีการปรับปรุงทั้งในเขตใจกลาง กทม. และปริมณฑล เพื่อทำให้การเติบโตของ กทม. ขยายไปได้อย่างยั่งยืน โดยมีการจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม มีการแยกโรงงานหรือสถานประกอบการที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น
น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวอีกว่า อย่างไงก็ตามปัญหาขยะและน้ำเสียใน กทม. นั้นอยู่ในภาวะวิกฤตมานาน ซึ่งเรื่องของขยะนั้นยังสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพไปยังเขตรอบนอก กทม. ที่ถูกใช้เป็นที่ฝังกลบขยะ แต่ที่ผ่านมาต้องบอกว่ายังไม่มีการแก้ปัญหา เพราะยังไม่มีการตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่มีอยู่ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง และนำผลการศึกษานั้นมาใช้พิจารณาว่า กทม. อยู่ภายใต้ความเสี่ยงของปัญหาสิ่งแวดล้อมใดบ้าง
“ถ้าหากมีการศึกษาและนำมาพิจารณาจริงๆ จะเห็นว่าประชาชนที่อาศัยในเมืองใหญ่ลักษณะแบบนี้ อยู่ภายใต้ความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพรอบตัว ฉะนั้นอยากให้ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ให้ความตระหนักถึงเรื่องของความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพเป็นอันดับหนึ่ง” น.ส.เพ็ญโฉม กล่าว