รพ.สงฆ์ เผยผลสำรวจสุขภาพพระ พบพระสงฆ์มีความเสี่ยง 'โรคต้อหิน' ชี้ปัจจัยเสี่ยงจากเบาหวาน-ความดัน แนะหากมีอาการรีบพบจักษุแพทย์
23 มกราคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

โรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์ ห่วงใยสุขภาพดวงตาของพระสงฆ์ แนะพระสงฆ์ควรหมั่นตรวจสุขภาพดวงตา หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาโดยทันที


นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจสุขภาพพระสงฆ์ ของโรงพยาบาลสงฆ์ พบพระสงฆ์มีความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหินเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากพระสงฆ์พบอาการผิดปกติของดวงตา ควรรีบเข้ารับการดูแลรักษาโดยจักษุแพทย์ทันที เพื่อลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหิน ป้องกันภาวะตาบอดและเพื่อการมีสุขภาพตาที่ดี

สำหรับโรคต้อหิน คือ ภาวะที่มีการทำลายประสาทตา ซึ่งสัมพันธ์กับความดันลูกตาสูง ลานสายตาหรือความกว้างในการมองเห็นจะสูญเสียไปเรื่อยๆ ทำให้ลานสายตาแคบลงและสายตาจะมัวลง ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่อาจพบได้ในคนที่มีอายุต่ำกว่านี้หรือเป็นมาตั้งแต่กำเนิดและมักเป็นกับตาทั้งสองข้าง

ด้าน นพ.อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลสงฆ์ได้เล็งเห็นปัญหาสุขภาพดวงตาของพระสงฆ์ โดยเฉพาะโรคต้อหิน เนื่องจากโรคต้อหินในระยะเริ่มแรกส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการให้ผู้ป่วยสังเกตได้ จนกว่าจะเริ่มมีอาการตามัว ซึ่งเป็นระยะที่โรคเป็นมากแล้ว โดยจักษุแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโรค ได้แก่ การตรวจโรคต้อหิน ทำการวัดสายตา การตรวจดูขั้วประสาทตา การตรวจวัดมุมตา การตรวจจอประสาทตา และการตรวจลานสายตา

ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน มีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงและโรคต่อมไทรอยด์ เป็นต้น ซึ่งจากสถิติโรคต้อหินในผู้ป่วยรายใหม่ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 148 รูป และที่พบจากโครงการถวายการตรวจสุขภาพพระสงฆ์ที่เอื้อต่อพระธรรมวินัย 12 เขตสุขภาพ จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 3 รูป อีกทั้งยังพบพระสงฆ์ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคต้อหิน จำนวน 12 รูป ที่ต้องมารับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

นพ.อภิชัย กล่าวว่า โรคต้อหินมีวิธีการรักษา 3 วิธี ได้แก่ 1. การใช้ยา 2. การยิงเลเซอร์ 3. การผ่าตัด ซึ่งการเลือกวิธีรักษาวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค โดยอยู่ในดุลยพินิจของจักษุแพทย์ผู้รักษา