
คุมกิจการ 'ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน' กรมอนามัย สธ. ร่วมจับมือ กทม. ลุยสร้างมาตรฐานความปลอดภัย กำกับดูแลบริการ 'Home Care'1 กุมภาพันธ์ 2566
กรมอนามัย สธ. จับมือ กทม. ควบคุมกิจการส่งคนไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้านในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามประกาศกระทรวงฯ เพื่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุ
นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการเป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการควบคุมกำกับดูแลการประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของผู้รับบริการ พ.ศ.2564 ในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2566 ตอนหนึ่งว่า การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) ของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปี 2548 ตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่กำหนดสัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 10% ของจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศ
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2562) ระบุในปี 2566 จะมีผู้สูงอายุสูงถึง 20.66% ของจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศ และคาดว่าในปี 2578 จะมีประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 28.55% นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว และอยู่กับผู้สูงอายุด้วยกันลำพังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ชี้ให้เห็นถึงความต้องการบริการด้านการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านและในชุมชนเพิ่มมากขึ้น
นพ.เอกชัย กล่าวต่อไปว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เผยแพร่รายงานธุรกิจดูแลผู้สูงอายุไทย พบว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่ทำงานนอกบ้าน ทำให้ไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ด้วยตนเอง ดังนั้นหลายครอบครัวจึงเลือกใช้บริการการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจบริการส่งผู้ดูแลไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (Home care)
สำหรับข้อมูลจากสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย พบว่า กิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน มีจำนวน 91 แห่ง กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย มีบทบาทและภารกิจหลักในการดูแลส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้สูงอายุในทุกระดับ และเข้าถึงระบบบริการที่มีมาตรฐานถูกต้องตามหลักกฎหมาย จึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการควบคุมกำกับดูแลการประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของผู้รับบริการ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา
ในส่วนของประกาศฯ ดังกล่าว ใช้บังคับกับสถานประกอบกิจการประเภทที่ราชการส่วนท้องถิ่นได้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นควบคุมไว้แล้ว ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อ 1. ควบคุมมาตรฐานของผู้ดำเนินกิจการและผู้ให้บริการ 2. คุ้มครองผู้รับบริการที่เป็นผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุได้รับการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมายมีมาตรการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูงอายุได้รับผลกระทบทางสุขภาพและมีความปลอดภัยจากการรับบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน
3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหลักเกณฑ์ มาตรการในการควบคุมกำกับดูแลและติดตามการประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านในเขตพื้นที่รวมทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานของสถานประกอบกิจการให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน โดยให้การดำเนินงานครอบคลุมทั้ง 4 กลุ่ม คือ 1) ผู้ดำเนินกิจการ 2) ผู้ให้บริการ 3) ผู้รับบริการหรือผู้สูงอายุ และ 4) ราชการส่วนท้องถิ่น
“สำหรับกรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ การบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุม กำกับ ดูแลกิจการในเขตพื้นที่ให้ปฏิบัติถูกต้องต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ซึ่งการประชุมฯ ในวันนี้ เพื่อชี้แจงและสนับสนุนการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ รวมทั้งรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน ทั้งจากผู้บริหาร ผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุจากกระทรวงสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านเป็นไปตามมาตรฐาน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว