กทม.ต้องมีพื้นที่ ‘ผลิตอาหาร’ ลดการเป็นผู้บริโภคที่คอยพึ่งพิง ข้อเสนอสู่ทางรอดในภาวะวิกฤต คนเมืองต้อง ‘ปลูกผัก’ ให้เป็น

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.




"อาหาร" คือปัจจัยสำคัญของมนุษย์ และ "ปัญหาด้านอาหาร" ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหญ่ซึ่งมักมีบทบาทเป็น "ผู้บริโภค" มากกว่าการเป็น "ผู้ผลิต" อาหารด้วยตนเอง ซึ่งปัญหานี้จะสะท้อนออกมาอย่างเด่นชัดเมื่อใดก็ตามที่เมืองต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤตโควิด-19 ที่เราเผชิญกันล่าสุดอยู่ในขณะนี้

 

ความสำคัญของเรื่องนี้มีการพูดถึงอย่างชัดเจน ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 13 พ.ศ.2563 เรื่อง "ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต" ที่ภาคีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่างร่วมกันมีฉันทมติ ในการรับทราบถึงสถานการณ์ปัญหา ทั้งการเข้าถึงและการกระจายอาหาร ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่นำมาซึ่งความไม่มั่นคงทางอาหารปรากฎเด่นชัดมากขึ้น จึงร่วมกันมีข้อเสนอนโยบายสาธารณะต่อประเด็นนี้

 

พื้นที่หนึ่งซึ่งสะท้อนภาพปัญหาเหล่านี้ได้อย่างแจ่มแจ้ง คือกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เป็นเมืองหลวง สถานที่อยู่อาศัยและทำงานของผู้คนมากมายหลายระดับ "Health Station" มีโอกาสได้พูดคุยกับ "วรางคนางค์ นิ้มหัตถา" ผู้รับผิดชอบโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อสะท้อนภาพให้เราเห็นถึงสถานการณ์ รวมถึงหนทางที่จะแก้ไขในสิ่งเหล่านี้ได้ชัดเจนมากขึ้น

 

โควิดสะท้อนปัญหา 'ระบบจัดการอาหาร' กทม.

 

สำหรับโควิด-19 ในระลอกแรก วรางคนางค์ มองว่าปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าคนที่อยู่ในเมืองไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะขาดแคลนอาหาร หรือตระหนักเรื่องความพอเพียง รวมถึงการเข้าถึงอาหาร เพราะว่าที่ผ่านมาคนเมืองสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างสะดวกตลอดเวลา อันเป็นผลจากในภาวะปกติมีความมั่นใจพื้นฐานว่าตัวเองสามารถเข้าถึงอาหารได้ตลอด เช่น จากตลาดสด รถพุ่มพวง ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ

 

ขณะเดียวกันหากพิจารณาจริงๆ แล้ว สถานการณ์การขาดแคลนอาหารของเมืองจะกระทบกับคนสองกลุ่มหลักๆ กลุ่มแรก คือคนที่มีงานประจำ มีเงินเดือน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะยังมีรายได้อย่างสม่ำเสมอแม้ในสถานการณ์วิกฤต ทำให้สิ่งที่เขาได้รับผลกระทบจะเป็นเชิงจิตใจมากกว่า เช่น เกิดการตั้งคำถามว่าอาหารจะพอไหม เนื่องจากมีการจำกัดการเดินทาง และระยะเวลาในการเปิดปิดตลาดหรือร้านค้าเร็วกว่าภาวะปกติ ทำให้คนหลายกลุ่มกักตุนอาหาร

 

ขณะที่อีกกลุ่ม คือคนที่มีความเปราะบาง ทั้งในมิติเชิงสุขภาพและทางเศรษฐกิจ หรือเรียกอีกอย่างนึงว่า "คนจนเมือง" หรือผู้มีรายได้น้อย เพราะเมื่อโควิด-19 เกิดขึ้นแล้วก็กระทบกับรายได้ของพวกเขาโดยตรง เนื่องจากแหล่งอาชีพที่เป็นรายได้รายวันหลายแห่งปิด

 

"ดังนั้นจะพบว่าความมั่นคงทางอาหารของคนเมืองไม่ได้ขาดแคลน หรือมีปัญหาร้ายแรง แต่อยู่ที่การจัดการอาหารต่างหากที่เป็นปัญหา ซึ่งอาจเป็นผลจากการไม่มีประสบการณ์หรือบทเรียนในการวางแผนรับมือเพื่อให้คนเข้าถึงแหล่งอาหาร กล่าวคือทางภาครัฐไม่ได้มีกระบวนการหรือกลไกที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงอาหารให้กับคนที่ขาดแคลน" วรางคนางค์ วิพากษ์

 

ทั้งนี้ หากมองดูเส้นทางอาหารที่ผ่านมาโดยเฉพาะคนจนโดยทั่วไป จะสามารถแบ่งปัญหาที่เกิดขึ้นได้ คือ 1. วิธีการบริโภคของคนเมืองโดยปกติ จะเป็นรูปแบบอาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง ฟาสต์ฟู้ด ซึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมการทำงาน ความเร่งรีบในแต่ละวัน ขณะที่อาหารในกลุ่มอินทรีย์ปลอดสารพิษ หากไม่ได้ผลิตเองก็จะถือว่ามีราคาค่อนข้างสูง และทำให้คนมีรายได้น้อยเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ยาก

 

2. คนในสังคมไม่ค่อยตระหนักถึงเรื่องคุณภาพของอาหารและความปลอดภัยเท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อย ที่มักจะตอบสนองเพียงแค่ความอิ่มท้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากอยู่แล้วสำหรับคนกลุ่มนี้ และหากต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของอาหาร ก็จะยิ่งทำให้เขาต้องแบกรับภาระค่าอาหารที่สูงยิ่งขึ้น

 

"ค่าอาหารของเมืองที่เป็นผู้บริโภคอย่างเดียว ไม่ใช่ผู้ผลิต ทำให้ไม่สามารถควบคุมอะไรได้ ไม่ว่าจะเป็นราคา เสถียรภาพ รวมถึงการเข้าถึงอาหาร ซึ่งที่ผ่านมา กทม. ได้รับผลกระทบทางด้านอาหารมาตลอด เพราะวิกฤตในหลายๆ ครั้งก็ส่งผลมาถึง กทม. แต่วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมานี้สะท้อนให้เราเห็นภาพชัดว่ามันเกิดปัญหาชัดเจนในด้านอาหาร" เธอ ระบุ

 

หากไม่แก้จริงจัง อาการป่วยไข้ของเมืองด้านอาหารจะยิ่งรุนแรง

 

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในด้านอาหาร วรางคนางค์ มองต่ออีกว่า หาก กทม.ไม่ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา วางยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนเพื่อแก้ไขในระยะสั้นและในระยะยาว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ  1. เมื่อเมืองขยายตัวมากขึ้น พื้นที่ของการผลิตอาหารจะถูกรุกล้ำ การผลิตก็จะลดลง

 

2. ปัญหาในด้านความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมักมองข้าม และขาดการเชื่อมโยงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่าส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างไร เช่น น้ำแข็งละลาย น้ำทะเลหนุนสูง สภาพอากาศผันผวน เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อกระบวนการผลิตทั้งสิ้น ซึ่งก็จะกระทบต่อมายังเรื่องของอาหาร ทำให้ในอนาคตอาจเกิดความผันผวนของราคาอาหาร ความหลากหลายของอาหารที่ลดน้อยลง

 

3. การผูกขาดทางด้านการค้าอาหารและสินค้าเกษตร ทำให้คนเมืองไม่สามารถควบคุมหรือกำกับดูแลได้ 4. วิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ จะทำให้สุขภาพและวิถีการบริโภคของผู้มีรายได้น้อยแย่ลงอย่างแน่นอน

 

"การที่เมืองเติบโตขึ้นแล้วไม่ได้กลับมาสนใจ หรือไม่กลับมาให้ความสำคัญเรื่องที่มาของอาหาร หรือการเตรียมตัวรับมือกับวิกฤตทางด้านอาหารในอนาคต ก็จะทำให้ปัญหายิ่งแย่ลงเรื่อยๆ" วรางคนางค์ ระบุ

 

เธอมองว่ากระบวนทัศน์ของเมือง ถูกวางบทบาทหรือออกแบบว่าเมืองจะขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ กล่าวคือ ด้วยบริการ การมีรายได้ มีงานทำ และนำเงินที่ได้ไปซื้ออาหาร เหล่านี้เองจึงฝังรากลึกทำให้คนไม่ตระหนักในการเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคไปในตัว ซึ่งเมื่อวิกฤตเกิดขึ้น เมืองจะมีปัญหามากที่สุด เพราะต้องพึ่งการผลิตจากภายนอกเพียงอย่างเดียว

 

ข้อเสนอถึงผู้ว่าฯ กทม.ต้องมียุทธศาสตร์ด้านอาหารที่ชัดเจน

 

สำหรับข้อเสนอถึงว่าที่ผู้ว่าราชการ กทม. คนต่อไป เธอมองว่าในปัจจุบัน กทม. มีนโยบายหลายอย่างมากมาย เช่น นโยบายสร้างพื้นที่สีเขียว นโยบายด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะนโยบายการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งหากไปอ่านข้อมูลอย่างละเอียดจะพบว่าไม่มีข้อใดที่เกี่ยวข้องกับด้านอาหารที่ดีของประชาชนเลย

 

"ทั้งที่อาหารเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของการมีชีวิต แต่กลับถูกละเลย ซึ่งถ้าหากมีการส่งเสริมในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางของนโยบายด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องคุณภาพชีวิตของคนใน กทม. ก็จะมีปัญหาน้อยลง" เธอให้มุมมอง

 

ดังนั้นข้อเสนอเชิงนโยบายที่ผู้ว่าฯ กทม. ควรจะทำ คือต้องตั้งต้นว่าเมืองจะต้องมีอาหารที่ดีให้ประชาชนเข้าถึงได้ โดยแนวทาง 1. ควรมีการกำหนดพื้นที่ในเมืองให้เป็นพื้นที่ผลิตอาหารของตัวเองให้ได้ เพื่อบริการให้กับคนในเมืองได้ระดับนึง หรือเป็นแหล่งผลิตอาหารสำรองในยามวิกฤต

 

2. ควรส่งเสริมให้คนเมืองมีความรู้และทักษะในการเป็นผู้ผลิตอาหาร เช่น การส่งเสริมให้องค์กรหรือหน่วยงานมีการปลูกผัก เพื่อสร้างเสริมให้เป็นทั้งพื้นที่เรียนรู้ และการผลิตอาหารอินทรีย์ให้ผู้คนเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยได้ 3. ควรมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับซื้อขาย โดยอาจเป็นในรูปแบบตลาดชุมชน ตลาดหน่วยงาน หรือตลาดทางเลือก เพื่อเป็นพื้นที่เชื่อมโยงให้คนที่เพาะปลูก และคนที่ไม่มีศักยภาพหรือทรัพยากรในการเพาะปลูก ได้มาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

 

4. การจัดทำระบบฐานข้อมูลใน กทม. ซึ่งต้องรวบรวมข้อมูลพื้นที่ผลิตอาหารของเมือง เช่น มีพื้นที่เท่าไร ใครเป็นผู้ผลิต สามารถผลิตให้คนบริโภคได้เท่าไหร่ คนในเมืองมีพฤติกรรมการบริโภคหลากหลายมากขนาดไหน กลุ่มคนเปราะบางมีการขาดแคลนอาหารเท่าไร เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการทำให้ผู้คนรับรู้ถึงกระบวนการผลิตอาหารและบริโภคในเมืองของตัวเอง เพื่อพัฒนาไปสู่การพึ่งพาเมืองตัวเองได้ในด้านการผลิตอาหารในอนาคต

 

"เรื่องอาหารที่ดีควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่หน่วยงานรัฐทุกระดับต้องมากำกับดูแลให้กับประชาชนในเมืองเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม" เธอย้ำในตอนท้าย

 11 กุมภาพันธ์ 2565