ท้องถิ่นหนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต 'มหาวิชชาลัย' จาก ต.ดอนแก้ว สร้างองค์ความรู้สู่ทุกกลุ่มวัย พัฒนาคุณภาพชีวิตใหม่-ลดพึ่งพิง

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.


การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงบางช่วงวัย นี่เป็นโจทย์ใหญ่ข้อหนึ่งที่ท้องถิ่นอย่าง องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว (อบต.ดอนแก้ว) อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ สามารถไขคำตอบ และใช้เป็นหนทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ตลอดช่วงระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา

"นพดล ณ เชียงใหม่" นายก อบต.ดอนแก้ว บอกเล่ากับ "HealthStation" ว่า เมื่อประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ซึ่งประชาชนวัยทำงานมีจำนวนลดลง ขณะที่กลุ่มวัยพึ่งพิงอันได้แก่ประชาชนวัยเด็กและผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ท้องถิ่นเองจึงจำเป็นที่จะต้องมีแผนรับมือใหม่ เพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์

สำหรับสิ่งที่ อบต.ดอนแก้ว มุ่งให้ความสำคัญคือเรื่องของ "สุขภาพ" มาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะเชื่อว่าประชาชนต้องเริ่มจากสุขภาพที่ดี จึงจะสามารถมีชีวิตที่ดีได้ ถัดมาคือเรื่องของ "สิ่งแวดล้อม" ในการอยู่อาศัยของประชาชน ไม่เพียงเฉพาะเรื่องของมลพิษแสงหรือเสียงเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องทางสังคมที่จะส่งผลต่อสุขภาพ และสุดท้ายคือ "การศึกษา" ที่จะต้องเข้ามาเป็นส่วนเสริม

นพดล อธิบายว่า การแก้ปัญหาในด้านต่างๆ เช่น การจะดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ให้ล้ม ไม่เป็นอัมพาต หรือการดูแลเด็กอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่ให้จมน้ำ หรือเรื่องของขยะครัวเรือน จะต้องจัดการอย่างไร นำไปทำอะไร มีการคัดแยกอย่างไร เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จะต้องมีการให้ความรู้ทั้งสิ้น

ดังนั้นทาง อบต. จึงได้มีการปรับให้ ต.ดอนแก้ว สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ในทุกพื้นที่ผ่าน "มหาวิชชาลัยดอนแก้ว" ซึ่งเป็นฐานการเรียนรู้ที่กระจายไปในแต่ละชุมชน เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มวัยได้เข้ามาศึกษาในเรื่องต่างๆ รวมปัจจุบันมีประมาณกว่า 20 แห่งทั่วตำบล ที่ประชาชนสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ในทุกเรื่อง ซึ่งมีการเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2551 ด้วยความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นายก อบต.ดอนแก้ว อธิบายเพิ่มเติมว่ามหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข จะมีการเปิดสอนหลักสูตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการสุขภาพชุมชน การจัดการขยะ การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน หรือการดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนการดูแลช่วยเหลือชีวิต สอนเด็กไม่ให้จมน้ำ สอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การทำ CPR เป็นต้น โดยมีผู้รับผิดชอบในการให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จากแต่ละกองงานของ อบต. หรือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

"ปกติแล้วผู้ที่สนใจก็จะประสานมาทาง อบต. ก่อน แล้วนัดวันที่จะเข้าไปศึกษาในแต่ละจุด ซึ่งมีทั้งคนในพื้นที่ รวมถึงท้องถิ่นอื่นๆ ที่พาชาวบ้านของเขามาศึกษาด้วย ก็จะได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น การหมั่นดูแลผู้สูงอายุไม่ให้อยู่ติดบ้านเฉยๆ จนสุดท้ายเดินไม่ได้ การทำ CPR ที่ทุกครัวเรือนจะต้องทำเป็นและหมั่นฝึกฝนไม่ให้ลืม หรือการช่วยเหลือเด็กจมน้ำ ที่จะต้องหาสิ่งของอะไรโยนลงไป ไม่ใช่กระโดดลงไปอย่างเดียว" นพดล อธิบาย

ทั้งนี้ เขาระบุว่าแม้ในแง่หนึ่งจะมีผู้เข้ารับการเรียนรู้ รวมถึงหลักสูตรฝึกอบรมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้วมากกว่า 1,000 คน แต่สุดท้ายโครงการนี้อาจไม่สามารถบอกได้ว่าสำเร็จ เพราะเมื่อไรก็ตามที่บอกว่าสำเร็จ โครงการก็อาจหยุดลงและจบไป หากแต่งานในลักษณะนี้จะต้องอยู่ด้วยความยั่งยืน และต่อยอดทำต่อไปได้อีกเรื่อยๆ

"การเรียนรู้ไปตลอดชีวิตมันต้องไม่มีที่สิ้นสุด และสามารถต่อไปได้เรื่อยๆ และหลักสูตรเหล่านี้ก็จะไม่เอาเราเป็นตัวตั้ง เพราะจะเดินยาก หากแต่ต้องนำเอาความต้องการประชาชนหรือชุมชนเป็นตัวตั้ง จึงจะไม่ตายตัวและมีเรื่องใหม่ที่ทำต่อไปได้เรื่อยๆ" นายก อบต.ดอนแก้ว ระบุ

 14 กุมภาพันธ์ 2565