
สช.จับมือ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช รุกงาน 'สื่อสารนโยบายสาธารณะ' เล็งผุดหลักสูตรนักสื่อสารสุขภาวะ ร่วมขับเคลื่อนประเด็น-เปลี่ยนสังคม15 กุมภาพันธ์ 2566
สช.สานพลัง "นิเทศศาสตร์ มสธ." ร่วมมือลุยงานสื่อสารนโยบายสาธารณะ ตีกรอบ 5 ด้านสร้างองค์ความรู้ในสังคม ส่งผลสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมเน้นสื่อสารให้ถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจ ดันนโยบายให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำโดยสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ (สนพ.) และกลุ่มงานสื่อสารทางสังคม (กส.) ร่วมปรึกษาหารือถึงแนวทาง "การสื่อสารนโยบายสาธารณะ" กับภาคสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) โดยจะเป็นความร่วมมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมระดับพื้นที่ และการสื่อสารนโยบายสาธาณธารณะ และการสื่อสารทางการเมือง
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า สช.เป็นพื้นที่กลางการพัฒนานโยบายสาธารณะ มีเครื่องมือสำคัญ คือ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) และสิทธิหน้าที่ด้านสุขภาพ ซึ่งการทำงานต้องอาศัยการสื่อสารกับผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหารท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการรับรู้ และสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาวะในสังคม ที่จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ
ขณะที่ ดร.กานต์ บุญศิริ ประธานกรรมการประจำสาขาวิชา และคณบดีสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มสธ. กล่าวว่า การสื่อสารต่อสังคมเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่จะส่งผลให้นโยบายที่ดีประสบความสำเร็จได้ อีกทั้งการศึกษาสภาพปัญหาในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน เพราะจะเป็นการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร
สำหรับวงของการหารือในครั้งนี้ ได้มีการพูดคุยถึงการสื่อสารในหลากหลายช่องทางตามที่กลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจ รวมไปถึงนโยบายสาธารณะที่ สช. ได้นำขับเคลื่อนมีความหลากหลาย โดย ดร.หฤทัย ปัญญาวุธตระกูล รองประธานกรรมการประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มสธ. เสริมความเห็นว่า สช. มีประเด็นนโยบายสาธารณะที่หลากหลายตามบริบทพื้นที่ เรียกว่ามีของเยอะ ปัญหาคือไม่รู้จะเลือกอะไรมาสื่อสาร หากนำทุกอย่างมาสื่อสารจะไม่ได้ผล จึงควรต้องเลือกประเด็นสำคัญมาสื่อสาร พร้อมทั้งได้เสนอแนะแนวทางการสร้างเครือข่ายแบบมีส่วนร่วม
ด้าน นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ (สนพ.) สรุปแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยระยะแรกจะมี 5 แนวทางที่สอดคล้องระหว่าง สช. และ มสธ. คือ 1. การสื่อสารเพื่อการขับเคลื่อนประเด็นรองรับสังคมสูงวัย 2. การเสริมสร้างศักยภาพนักสื่อสารสุขภาวะและการออกแบบหลักสูตรการสื่อสารร่วมกัน 3. การให้มุมมองและข้อเสนอแนะต่อการสื่อสารและการขับเคลื่อนงานของ สช. 4. การสื่อสารเรื่องพินัยกรรมชีวิต หรือหนังสือแสดงเจตจำนงตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ และ 5. การใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการสื่อสารเพื่อการขับเคลื่อนสังคมเปลี่ยนแปลงสังคม
พร้อมกันนี้ วงหารือยังเห็นตรงกันว่าปัจจุบันสังคมต้องการการสื่อสารที่เข้าใจง่าย มีความรวดเร็ว และต้องมีความสร้างสรรค์ อีกทั้งยังต้องตรงกับกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คน ขณะเดียวกันยังมีภาคีเครือข่ายจากหลายภาคส่วนที่เข้ามาร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะกันมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างเครือข่ายที่ชัดเจน และขับเคลื่อนงานสื่อสารให้ไปถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจในนโยบาย เช่น ผู้บริหารองค์กรรัฐ-เอกชน นักการเมืองท้องถิ่นถึงระดับชาติ เพื่อให้นโนบายนั้นมีการสื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมาย และจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากนโยบายนั้นๆ