ปากคำ 5 ผู้แทน 'พรรคการเมือง' พันธสัญญาก่อนเลือกตั้งใหญ่ สู่การสร้าง 'หลักประกันรายได้' คุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่สูงวัย

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นหนึ่งในระเบียบวาระที่ได้รับฉันทมติภายในงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 และขณะนี้กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในฐานะวาระสาธารณะที่เกี่ยวพันกับทุกชีวิตบนผืนแผ่นดินไทย

แน่นอนหลักประกันรายได้ฯ เป็นเรื่องของทุกคน และมีความสำคัญระดับโครงสร้าง จึงจำเป็นต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยวและความกล้าหาญเชิงจริยธรรมของ ฝ่ายการเมืองในการตัดสินใจ


เมื่อช่วงกลางเดือน .. 2566 มีการจัดเวทีใหญ่เพื่อพูดคุยกันในประเด็นนี้แบบถึงลูกถึงคน ผ่านวงเสวนา นโยบายบำนาญแห่งชาติ จากผู้แทนพรรคการเมือง ภายในงานรำลึก 15 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิมิตรภาพบำบัด ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย 


ในงานนี้ ได้เชิญผู้แทนจาก 5 พรรคการเมืองมาแสดงวิสัยทัศน์ และยังถือเป็นการให้พันธะสัญญาต่อสาธารณะในประเด็น การสร้างหลักประกันรายได้ฯเป็นครั้งแรก




พรรคเพื่อไทย: มุ่งเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย


นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าเห็นด้วยที่จะต้องมีการสร้างหลักประกันรายได้ หรือบำนาญประชาชน แต่จำเป็นต้องมีการศึกษารายละเอียดว่าสิ่งใดจะทำได้ก่อนหรือหลังอย่างไร


ขณะเดียวกันก็จะดูเฉพาะเรื่องเงินบำนาญอย่างเดียวไม่ได้ เพราะจากที่ทราบว่ามีการเสนอบำนาญฯ 3,000 บาท/คน/เดือน ตรงนี้คือปีละ 4.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 11-12% ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเขาเชื่อว่าหากทำจริงก็คงไม่ต้องทำอย่างอื่น เพราะเอาเงินมาใช้จ่ายแก่คนชราทั้งหลายแทน


เขาให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จากอัตราการเกิดของประชาชนคนไทยเริ่มลดน้อยลง รวมถึงอายุเฉลี่ยของเราที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาล อย่างไรก็ตามการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ที่เจริญแล้ว พบว่าสหรัฐอเมริกาใช้เวลา 72 ปี อังกฤษใช้เวลา 46 ปี ญี่ปุ่นใช้เวลา 24 ปี ส่วนประเทศไทยใช้เวลา 17 ปี ในขณะเดียวกันพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันยังทำงานอยู่ โดย 63% อยู่ในภาคเกษตรกรรม และอีก 17% เป็นแรงงานนอกระบบ


ความท้าทายคือจะมีเงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำอย่างไรถึงจะอยู่อย่างมีความสุข สิ่งสำคัญคือทำไมต้องให้สวัสดิการผู้สูงอายุ เพราะเขาดำรงชีพไม่เพียงพอใช่หรือไม่ รัฐจึงมีหน้าที่นำเงินส่วนเกินมาเจียดจ่ายให้คนที่ยังขาดอยู่ นั่นคือหน้าที่ของรัฐ แต่ต้นเหตุการให้สวัสดิการคือคนสูงวัยรายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีเงินออม พูดง่ายๆ คือแก่ก่อนรวย ดังนั้นทำอย่างไรจึงทำให้รายได้เขาเพียงพอ โดยเฉพาะคนสูงวัยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร รัฐจึงต้องมีนโยบายสนับสนุนทางเกษตร รวมถึงการท่องเที่ยวเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น มาสนับสนุนในส่วนนี้นพ.พรหมินทร์ ให้หลักคิด


ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย ระบุว่า นโยบายของพรรคคือการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้กับผู้สูงอายุ ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องทำคือการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยมีนโยบายเพิ่มรายได้ให้กับทุกภาคส่วนรวมถึงผู้สูงอายุ ทำให้พวกเขามีความสุข เพราะการเพิ่มรายได้ การเพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นการแก้ปัญหา ลดภาระ และยังมีโครงการที่เรียกว่า “1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ เพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนด้วย


ในส่วนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทางพรรคเพื่อไทยยังจะเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น ดูแลกลุ่มเปราะบางให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยเคยคิดนโยบายเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา เรื่องหวยบำเหน็จ แทนที่จะเล่นหวยแล้วเงินหายไป เปลี่ยนเป็นนำเงินที่ซื้อไปฝากไว้ ลักษณะเดียวกับสลากออมสิน แต่จ่ายทุกงวด เก็บให้เขา จนอายุ 60 ปีจ่ายคืนมา มีเงินเหลือเก็บ เป็นต้น




พรรคประชาธิปัตย์: เล็งขยับทั้งหลักประกันรายได้-สุขภาพ

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ให้ภาพว่า แม้ทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุเช่นเดียวกัน แต่ความแตกต่างคือประเทศอื่นในโลก เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือยุโรป ได้เข้าสู่สังคมสูงอายุโดยที่ประเทศรวยแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุทั้งที่ประเทศจนอยู่ ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา


เขาเล่าย้อนไปว่าในสมัยที่ตนเองเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เคยเสนอนโยบายเรื่องการออมเพื่อคนชรา ซึ่งเป็นการบังคับการออมเพื่อให้คนไทยมีใช้เมื่อยามชรา แต่ผลปรากฎว่าล้มเหลวเพราะรัฐบาลชุดต่อมาไม่ได้ทำต่อ เขาจึงเชื่อว่าหากระบบดังกล่าวเกิดขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันน่าจะดีกว่านี้อีกมาก


ขณะเดียวกันในปี 2565 พรรคประชาธิปัตย์ยังได้เสนอกฎหมายเข้าสภา เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการนำเงินออมในกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ (กบข.) มาซื้อบ้านได้ เพราะมองว่าบ้านเป็นทรัพย์สิน ไม่ใช่การใช้จ่ายแล้วหมดไป แต่กลับถูกวุฒิสภาตีตก


อย่างไรก็ตาม ทางพรรคก็ยังมีข้อเสนอเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่พนักงานต่างๆ ออมเงินไว้ ควรเปิดโอกาสให้เขานำเงินตรงนี้ไปซื้อบ้าน หรือสินทรัพย์ไว้ได้เช่นกัน ซึ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์จะทำ เพื่อให้เกิดการออมภาคบังคับขึ้นมา


พร้อมกันนี้ ดร.พิสิฐ ยังพูดถึงการเสนอให้มีการขยายอายุเกษียณเพิ่มขึ้นไปอีกจาก 60 ปี เพราะเชื่อว่าหลายคนยังสามารถทำงานได้ ขณะที่บางคนยังไม่มีเงินออมเลี้ยงดูตัวเองได้ รวมถึงการจัดระบบให้คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป นำความรู้ความสามารถมาใช้ประโยชน์ในสังคมมากขึ้น


ทุกวันนี้ระบบประกันสุขภาพของเรานั้นแยกแยะหลายระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบข้าราชการ ระบบประกันสังคม หรือบัตรทอง แต่ละระบบก็มีมาตรฐานแตกต่างกัน ทำอย่างไรที่จะนำสิ่งเรานี้มาจูนอัพกัน ให้มาตรฐานใกล้เคียงหรือเหมือนกัน เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น ไม่เหลื่อมล้ำกันประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ให้มุมมอง


เขาระบุเพิ่มเติมว่า ระบบประกันสุขภาพของเราทุกวันนี้มุ่งแต่การรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่การป้องกันเบิกไม่ได้ เช่น ข้าราชการอยากไปออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก แต่ขอเบิกไม่ได้ ฉะนั้นทำอย่างไรถึงจะเปิดช่องให้คนเบิกเงินไปเพื่อดูแลสุขภาพตัวเองได้ รวมถึงเรื่องการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งถ้าเราตรวจพบโรคเร็ว ความเสียหายก็จะลดน้อยลง ฉะนั้นเราต้องเปิดทางให้ทุกคนมีสิทธิที่จะเบิกค่าตรวจสุขภาพประจำปีได้


ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้มีนโยบายบำนาญเพื่อผู้สูงอายุ โดยเป็นการให้เงินสวัสดิการอุดหนุนรายเดือน ซึ่งมีตัวเลขที่เหมาะสมอยู่ในใจแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ หากแต่ความท้าทายคือต้องหางบประมาณปีละ 4.5 แสนล้านบาทมาดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งต้องมีมาตรการทางภาษีตามมา และการตัดลบงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกไป




พรรคก้าวไกล: ปรับระบบงบประมาณ-ปฏิรูปภาษี


ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล มองว่าประเด็นบำนาญแห่งชาติ ทุกพรรคมีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน เพราะนอกเหนือจากหลายระบบในการออมแล้ว ยังต้องพูดถึงกลุ่มช่วงอายุ ที่ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงที่เข้าสู่ผู้สูงวัยแล้วกับช่วงที่ยังไม่เข้าสู่ผู้สูงวัยจึงต้องแยกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนเป็นอันดับแรก


สำหรับกลุ่มที่น่ากังวลมากที่สุด คือกลุ่มผู้ที่เข้าสู่ผู้สูงวัยแล้ว โดยตัวเลขปัจจุบันมีประมาณ 12 ล้านคน แต่พบว่าในจำนวนนี้มีการออมเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ส่วนคนที่เหลือไม่ได้มีการออม จึงมองว่าหากจะให้เริ่มออมตอนนี้คงช้าไป ดังนั้นสิ่งที่พรรคก้าวไกลคิด คือต้องเติมสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุในทันที


ทั้งนี้ ทางพรรคเสนอให้อยู่ที่ 1% ของเส้นความยากจน คือตกเดือนละ 3,000 บาท แต่หากเป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ต้องดูแลระยะยาว อาจตกเดือนละ 9,000 บาท/คน/เดือน ซึ่งส่วนหลังถือว่ามีความจำเป็นต้องตั้งกองทุนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว และทราบว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มีการดำเนินการเรื่องนี้อยู่ แต่งบประมาณที่มีอาจไม่เพียงพอ


ในขณะที่อีกกลุ่มถัดมา คือกลุ่มที่ยังไม่เป็นผู้สูงอายุ จะต้องเติมในเรื่องของการออม เพราะจากการศึกษาตัวเลขพบว่า รายได้ต่อเดือนที่ผู้สูงอายุควรมีคือราว 5,000-6,000 บาท ดังนั้นเมื่อมีนโยบายให้เดือนละ 3,000 บาทแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือหารายได้มาช่วยในส่วนที่ขาดไปอีกราว 3,000 บาท โดยจะมีการทำการออมภาคบังคับ


ในส่วนนี้ ดร.เดชรัต ให้ข้อมูลว่าจะเป็นเสมือนที่ภาคประชาชนใช้คำว่าปิ่นโตสามชั้นคือชั้นแรกเป็นสวัสดิการที่ได้จากภาครัฐ ชั้นที่สองเป็นส่วนเติมที่ได้มาจากการออมแบบภาคบังคับ ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เสนอนโยบายการประกันสังคมแบบถ้วนหน้า คือทุกคนเข้าสู่ระบบประกันสังคม จากนั้นก็เพิ่มมากขึ้นในชั้นสุดท้าย คือ การออมตามความสมัครใจ เป็นต้น


เขาวิเคราะห์ว่าทั้งหมดนี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งแหล่งที่มาของงบประมาณนั้น ทางพรรคก้าวไกลได้ศึกษาแล้วว่าจะดำเนินการปรับลดงบประมาณไม่จำเป็น เช่น ลดขนาดกองทัพ ธุรกิจกองทัพ โครงการไม่จำเป็นต่างๆ ราว 5% จาก ...งบประมาณฯ


ขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ การเก็บภาษีอีก 10% และเพิ่มแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น เก็บภาษีความมั่งคั่ง ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้ภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 16% ของจีดีพีประเทศ แต่เขาเชื่อว่าเป็นตัวเลขที่ทุกคนรับได้ และเมื่อรวมทั้งหมดจะได้ราว 6.5 แสนล้านบาท ตามเป้าที่ตั้งไว้


แต่เราไม่สามารถทำได้ทันที เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการปรับลดงบประมาณ การออกกฎหมายต่างๆ อีกทั้งการจัดระบบสำหรับสวัสดิการอื่นๆ ให้ครอบคลุมทุกช่วงวัยยังคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่เชื่อได้ว่าในระยะ 4 ปีจะเห็นรูปธรรม และเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล ให้ข้อมูล




พรรคไทยสร้างไทย: ดูแลตั้งแต่แรกเกิด-สูงวัย

รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า เรื่องภราดรภาพแก่ผู้สูงอายุ การอยู่แบบเป็นพี่เป็นน้อง ถูกระบุในรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นสิทธิที่ผู้สูงอายุควรได้รับ ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ หากแต่ประเด็นสำคัญคือจะพูดแค่เรื่องของผู้สูงอายุอย่างเดียวไม่ได้ เพราะต้องดูทั้งระบบ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย ว่าเราจะทำอย่างไร ดูแลอย่างไร เพื่อให้พ่อแม่วัยหนุ่มสาวอยากมีบุตร ให้คิดว่าการมีบุตรไม่ได้เป็นภาระ ซึ่งหากไม่มีการปรับปรุงเรื่องนี้ทั้งวงจร เชื่อว่าจะไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวัง


เขาระบุว่า จากการศึกษาของพรรคไทยสร้างไทย จะนำเสนอนโยบายแบบดูแลทั้งวงจร ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงสูงวัย โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษา ที่อาจปรับลดเพดานให้มีการเรียนจบปริญญาตรีตั้งแต่อายุ 18 ปี ซึ่งเมื่อลดเวลาเรียนได้ถึง 2 ปี ก็จะช่วยเพิ่มคนเข้าสู่กำลังการผลิต ทำให้คนเข้าสู่วัยทำงานได้เร็วขึ้น และส่งผลให้เขามีรายได้มากขึ้น มีโอกาสในการสร้างตัวได้เร็วขึ้นด้วย


ทุกวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กู้เงินเรียนจนจบปริญญาตรี จบมาเพื่อตกงานและใช้หนี้ พ่อแม่ก็ไม่มีเงิน ทำให้ทุกคนเครียด มีแต่เรื่องหนี้รอบตัว ทำให้เป็นเหยื่อหนี้นอกระบบ เหยื่อการพนัน เหยื่อการค้ามนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นต้องแก้ให้ครบทั้งวงจรประธานยุทธศาสตร์ฯ พรรคไทยสร้างไทย ระบุ


รศ.ดร.โภคิน วิเคราะห์ว่า ในปีงบประมาณ 2565 มีการจัดสรรงบเพื่อจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600-1,000 บาท ซึ่งใช้งบอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และหากมีการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพในตัวเลขที่เพิ่มเป็น 3,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 แสนล้านบาท เขามองว่าในช่วงแรกอาจต้องมุ่งเน้นไปที่ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตก่อน ส่วนการให้อย่างถ้วนหน้าทุกคนนั้นอาจเป็นเรื่องในอนาคต


ดังนั้น ในส่วนของพรรคพรรคไทยสร้างไทย จึงกำลังพูดถึงคนสูงวัยที่ไม่มีเงินออม ซึ่งตอนนี้ต้องดูแลคนที่รายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพก่อน เพราะถือว่าเป็นสิทธิในรัฐธรรมนูญ ส่วนผู้สูงวัยที่รายได้เพียงพออยู่แล้วให้ตัดไป และต้องมีการปรับปรุงระบบการจัดเก็บรายได้ต่างๆ การจัดเก็บภาษี เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายเรื่องเหล่านี้


ขณะที่งบประมาณก็จะต้องมีการปฏิวัติระบบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในส่วนการลงทุนที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับตัวบุคคล มากกว่าโครงสร้างต่างๆ รวมถึงต้องตัดลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น งบประมาณกองทัพ งบประมาณสร้างถนน ที่จัดสรรอย่างไม่เป็นธรรม และการจัดการทางภาษี เป็นต้น ซึ่งจะทำให้มีงบประมาณประมาณเพียงพอต่อการบริหารเพื่อดูแลประชาชนอย่างถ้วนหน้า


ทั้งนี้ เขาเชื่อว่าการเพิ่มรายได้ จะต้องคำนวณว่ารายได้เท่าไรจึงจะเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ไม่ใช่ประกาศตัวเลขออกมา เพราะอีกหลายปีข้างหน้าอาจไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการพักใช้กฎหมายเกี่ยวกับการอนุมัติหรืออนุญาตเรื่องต่างๆ เอาไว้ก่อน เพื่อให้คนสามารถทำมาหากิน ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ก็ให้มีการรวมกลุ่มกัน เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยง่าย


สรุปคือเรื่องบำนาญทำได้ 100% แต่ต้องทำให้ครบวงจร ตั้งแต่ในครรภ์ถึงผู้สูงวัย เพราะทุกคนมีกำลังการผลิต ทำให้เสมอภาคทุกคน ประเทศนี้ต้องปฏิวัติระบบงบประมาณ ถ้ายังเป็นแบบนี้ ก็ไปไม่ได้ เพราะปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ประชาชน จังหวัดใครจังหวัดมัน ใครมีอิทธิพลก็ไปลงจังหวัดตัวเอง แทนที่จะต้องลงทั้งประเทศรศ.ดร.โภคิน ให้แนวคิด




พรรคภูมิใจไทย: เชื่อต้องบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ


พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้แทนพรรคภูมิใจไทย ให้ข้อมูลว่าในปี 2583 คาดว่าผู้สูงอายุประเทศไทยจะเพิ่มถึง 20.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 31% ซึ่งอนาคตคนไทยจะมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 79 ปี ในขณะที่มีแนวโน้มอยู่คนเดียวตามลำพังมากขึ้น ส่วนเด็กก็เกิดน้อยลง ประชากรวัยทำงานน้อยลง แต่ผู้สูงอายุมากขึ้น จึงเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองย่อมตระหนักดีถึงปัญหาโครงสร้างประชากรไทย


เธอระบุว่า แม้พรรคภูมิใจไทยอาจยังไม่มีนโยบายโดยเฉพาะเกี่ยวกับผู้สูงอายุหรือบำนาญ แต่พรรคเองสนับสนุนระบบบำนาญแห่งชาติ มากไปกว่านั้นยังสนับสนุนการสร้างหลักประกันรายได้ถ้วนหน้า เพื่อให้กับประชาชนทุนคนอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อทำให้คุณค่าของคนทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ให้เป็นรูปแบบสงเคราะห์เหมือนปัจจุบัน ที่ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพคนชราไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต


ทั้งนี้ เบื้องต้นมองว่าต้องมีงบประมาณที่จะเข้ามาสนับสนุนระบบสวัสดิการของรัฐให้เกิดรูปธรรม ซึ่งระบบงบประมาณจะต้องมีการปฏิรูป โดยลดงบประมาณที่ไม่คุ้มค่าออกไป และเพิ่มงบประมาณที่ลงทุนกับคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยชรา รวมทั้งควรต้องมีบริการสุขภาพไปหาประชาชนให้มากขึ้นด้วย


พญ.เพชรดาว ให้ข้อมูลเสริมว่า ที่ผ่านมาได้มีการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 23 .. 2564 เพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเห็นด้วยในประเด็นที่ต้องดูแลประชาชนให้ครบวงจร ตั้งแต่ในครรภ์ถึงสูงวัย โดยพรรคภูมิใจไทยเล็งเห็นความสำคัญเรื่องเด็กแรกเกิด และได้ทำหนังสือถึง พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้รัฐบาลจัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า พร้อมกับตั้งคณะทำงานสนับสนุนและขับเคลื่อนเรื่องนี้มาโดยตลอด


ในส่วนของการจัดทำระบบบำนาญ เธอเห็นด้วยว่าต้องเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ที่ไม่ใช่การสงเคราะห์แบบปัจจุบัน ที่ได้เดือนละ 600 บาท หรือเฉลี่ยวันละ 20 บาท ซึ่งเป็นอย่างนี้มานาน ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่พอ แม้ว่าจะเพิ่มตามอายุอีก 100-200 บาทก็ตาม ก็ทำไม่ได้ระยะยาว


ดังนั้นพรรคภูมิใจไทยจึงเล็งเห็นว่า การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะหากทำนโยบาย เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่หากบรรจุในรัฐธรรมนูญ ทุกพรรคที่มาเป็นรัฐบาลจะต้องดำเนินการ


สุดท้ายนี้พรรคภูมิใจไทยจะมีการรวบรวมความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นจากภาคประชาสังคม นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน ฯลฯ ว่าเราจะหารูปแบบอย่างไรที่ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด และเติมเต็มให้สมบูรณ์ ก่อนที่เราจะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งในอนาคต เรามั่นใจว่าเข้าไปในสมัยหน้าเราน่าจะได้เป็นรัฐบาล แต่ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะเลือกเราได้มากน้อยแค่ไหน พญ.เพชรดาว กล่าว


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร "สานพลัง" ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2566

 21 กุมภาพันธ์ 2566