
'สามเณร' 1 ใน 4 เจอปัญหาความ 'อ้วน' เหตุ 'ขาดกิจกรรมทางกาย' ที่เหมาะสม กรมอนามัยผนึกภาคี ส่งเสริมความรอบรู้ สร้างพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์22 กุมภาพันธ์ 2566
กรมอนามัย ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ "สามเณร" ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ให้มีความรอบรู้-ทักษะด้านสุขภาพ พร้อมทักษะชีวิต พฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ และมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม-เพียงพอ ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานรณรงค์ส่งเสริมกิจกรรมทางกายของสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ณ วัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ระบุว่า สามเณรถือเป็นกลุ่มวัยเรียนวัยรุ่น ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักจนรู้สึกเหนื่อย อย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป)
อย่างไรก็ตาม จากรายงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนา ปีการศึกษา 2564 พบว่า สามเณรขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมและเพียงพอ มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 24.89%
ในขณะที่การศึกษาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของสามเณร พบว่า สามเณรส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์การทดสอบสมรรถภาพทางกาย ในด้านความแข็งแรงและความอดทนของกล้ามเนื้อ และมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพอยู่ในระดับควรปรับปรุง ประกอบกับการฉันอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น เช่น ไม่มีสมาธิในการเรียน ส่งผลกระทบต่อผลการเรียน และในระยะยาวอาจเกิดโรคอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้
นพ.มณเฑียร กล่าวว่า กรมอนามัยจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขับเคลื่อนธรรมนูญแม่บทในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ.2565
พร้อมกันนี้ยังขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมสุขภาพสามเณร ทั้งในระดับเชิงนโยบาย ระดับเขต และระดับโรงเรียน เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ระดับเขตการศึกษา จำนวน 14 เขต และโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จำนวน 407 โรงเรียน พร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินงานโดยสำนักงานเขตสุขภาพที่ 1-13 เพื่อติดตาม รับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสุขภาพของสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา นำไปสู่องค์กรสร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน ตามหลัก “บวร” อย่างต่อเนื่อง
สำหรับในปี 2566 นี้ กรมอนามัยได้กำหนดเป้าหมายให้เกิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมและเพียงพอในสามเณรให้ครอบคลุมโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาทั่วประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ กรมอนามัย ยังได้ประกาศนโยบายการส่งเสริมสุขภาพของสามเณรไทยนำไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีร่วมกับชุมชนและสังคม พร้อมทั้งเผยแพร่แนวทางการสร้างสุขภาวะในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนธรรมนูญแม่บทโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ.2565 ร่วมกับภาคีเครือข่าย
"เราจะสนับสนุนชุดความรู้การส่งเสริมสุขภาพ พัฒนาศักยภาพของสามเณรให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ทักษะสุขภาพ ทักษะชีวิต และพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ และส่งมอบคู่มือการบริหารกายของสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการมีสุขภาวะที่ดี ตามหลักวิถีพุทธต่อไป" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว