ผลพวง ‘เด็กเกิดน้อย’ ‘วัยแรงงาน’ เตรียมหืดขึ้นคอ ในฐานะ ‘ตัวแบก’ ประเทศไทย ‘ลงทุนในเด็ก’ คือคำตอบ !!?
15 กุมภาพันธ์ 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

จากข้อจำกัดทางสังคมและค่านิยมของคนไทยในปัจจุบัน พบว่ามีวิธีคิดต่อการมีบุตรแตกต่างออกไปจากเดิม ทุกวันนี้คนมีลูกน้อย ส่งผลให้กราฟ “อัตราการเกิด” ของเด็กในปัจจุบันดิ่งลงสวนทางกับ “อัตราการตาย” สิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้ก็คือ จำนวนของประชากรไทยจะลดลงเรื่อยๆ

 ข้อมูลจาก รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีตัวเลขการเกิดสูงเกือบ 8.5 แสนคน ในขณะที่ 10 ปีผ่านไป ตัวเลขการเกิดต่ำกว่า 5.5 แสนคน ซึ่งลดลงมากกว่า 1 ใน 3 โดยใช้เวลาเพียงแค่ 10 ปีเท่านั้น

 แน่นอนว่าเมื่ออัตราการเกิดของเด็กต่ำลงสวนทางกับประชากรที่กำลังเข้าสู่วัยผู้สูงอายุก็อาจจะทำให้ประเทศไทยมี “ประชากรวัยแรงงาน” น้อยลงตามไปด้วย

 หากไม่มีมาตรการการแก้ไขปัญหา-ส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ ประเทศไทยในอนาคตอาจจะเต็มไปด้วยคนที่อยู่ในภาวะพึ่งพึง โดยไม่มีแรงงานในการขับเคลื่อนประเทศ

 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดน้อยผ่านงานแถลงข่าว “ทางออกประเทศไทย ในยุคเด็กเกิดน้อย” เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ตอนหนึ่งว่า สำหรับเหตุผลสำคัญที่ทำให้เด็กเกิดน้อยเป็นเพราะวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่เรียนสูงขึ้น แต่งงานช้า มีค่านิยมอยู่เป็นโสด รักความอิสระ มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงความต้องการที่จะมีบุตร และจำนวนบุตรที่ต้องการจะมีเปลี่ยนแปลงไป

 ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เนื่องจากสัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดลง ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

 “ทุกวันนี้คนมองว่าการมีบุตรเป็นภาระเพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตรสูงเกินไป ขณะที่มาตรการจูงใจให้คนต้องการมีบุตรก็น้อย เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ประชาชนชะลอการมีบุตร บางส่วนประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากและไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษาได้” ดร.สาธิต ขยายความ

 หากนับจากการประกาศใช้นโยบายวางแผนครอบครัวแห่งชาติมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2513 พบว่าในปี 2562 จำนวนการเกิดลดต่ำลงกว่า 6 แสนคน เป็นครั้งแรก

 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย อธิบายในงานแถลงข่าวเดียวกันว่า จวบจนถึงปัจจุบัน จำนวนการเกิดเหลือเพียง 544,570 คน ซึ่งเป็นการลดลงต่ำที่สุดนับจากการประกาศนโยบายวางแผนครอบครัวอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับอัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR ) ในปี 2564 ที่ลดต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ 1.3

 มากไปกว่านั้น จำนวนการเกิดที่ลดต่ำลงจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร ทำให้ฐานแคบลง ไม่มั่นคงหากไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหา

 อย่างไรก็ดี จากข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่าในปี 2583 สัดส่วนวัยเด็กจะเหลือเพียงร้อยละ 12.8 ขณะที่วัยทำงานจะอยู่ที่ร้อยละ 56.0 และผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 31.2

 นั่นทำให้ภาระพึ่งพิงวัยแรงงานเพิ่มขึ้น โดยวัยแรงงาน 1.7 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน

 จากข้อมูลข้างต้น นับเป็นภาระที่หนักของวัยแรงงาน ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเอง ครอบครัว หรือบุตร นอกจากนี้จำนวนวัยแรงงานที่ลดลง จะส่งผลให้จำนวนผู้เสียภาษีน้อยลง งบประมาณในการดูแลประชาชนไม่เพียงพอ ขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ

 “โดยรวมแล้วจำนวนการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อประเทศในอนาคต ทั้งด้านโครงสร้างประชากร โครงสร้างครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนความมั่นคงของประเทศอย่างรุนแรง” นพ.สุวรรณชัย ระบุ

 อย่างไรก็ตาม สำหรับความพยายามในการแก้ไขปัญหาเด็กเกิดน้อย ล่าสุด สธ. ได้ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผลักดันมาตรการสำคัญเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ เช่น การให้สิทธิการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมครอบคลุมหญิงตั้งครรภ์ในทุกกลุ่มอายุ และทุกการตั้งครรภ์

 การสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคในช่องปากแก่หญิงตั้งครรภ์คนไทยทุกคน-ทุกสิทธิ การคัดกรองธาลัสซีเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ การตรวจเลือดคัดกรองเบาหวานในกลุ่มอายุ 25 - 59 ปี การเพิ่มสิทธิการตรวจคัดกรองซิฟิลิส ตลอดจนการตรวจยืนยันในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย

 มากไปกว่านั้น ยังมีมาตรการที่อยู่ระหว่างการผลักดัน ได้แก่ การผลักดันให้การรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ การส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อลดภาระ และความกังวลใจให้กับพ่อแม่ระหว่างทำงาน

 มากไปกว่านั้น ยังมีข้อเสนอให้รัฐบาลหันมาลงทุนในมนุษย์ โดยเฉพาะ “การลงทุนในเด็ก” ที่นับว่ามีความคุ้มค่าสูงสุดแทนการมุ่งเน้นเรื่องการบริโภคของประชากรแต่ละครอบครัว เพื่อลดความกังวลใจในการเลี้ยงดูบุตร-ลดภาระค่าใช้จ่าย-ค่าครองชีพให้กับประชาชน

 ตลอดจนการส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่ต้องการมีบุตร โดยไม่เลือกปฏิบัติ เข้าใจความหลากหลายทางเพศ-สิทธิมนุษยชน ตลอดจนลงทุนในระบบการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการหลุดจากระบบการศึกษา ภายใต้การประกาศนโยบายประชากร โดยให้คุณค่ากับเด็กทุกคน “เป็นลูกของรัฐบาล” ภายใต้หลักการสำคัญ 2 ประการ คือ การมีส่วนร่วม และ การเป็นเจ้าของร่วมกัน