เปิดฉันทมติ! เพื่อสุขภาวะชาว กทม. นำร่องใช้ประโยชน์ ‘พื้นที่สาธารณะ’พัฒนา ‘ ระบบสุขภาพปฐมภูมิ’ รองรับทุกกลุ่มคน3 ธันวาคม 2564
เปิดเนื้อหามติ 2 ระเบียบวาระ “สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2” หลังภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกว่า 500 ชีวิต ร่วมให้ฉันทมติ เคาะ! เป็นนโยบายสาธารณะเพื่อคนกรุง เตรียมนำร่องปั้นพื้นที่สาธารณะต้นแบบเขตละ 1 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ เชื่อม รพ.ใหญ่
เมื่อวันที่ 25
พ.ย. 2564 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
(สช.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย
จัดการประชุม สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ.2564 ภายใต้แนวคิด “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส
ร่วมสร้างมหานครสุขภาวะ วิถีใหม่” ซึ่งเป็นการร่วมกันพิจารณาและให้การรับรองมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร
ครั้งที่ 2 โดยมีเครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพ คณะทำงาน
รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมทั้งในสถานที่ และผ่านระบบออนไลน์ รวมกว่า 500 คน
สำหรับการประชุมในครั้งนี้
สมาชิกสมัชชาสุขภาพได้ร่วมกันให้ฉันทมติ 2 ระเบียบวาระ อันได้แก่
“การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะชุมชน”
และ “การพัฒนาระบบสุขภาพบริการปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับภาวะวิกฤติ”
เพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาพและสุขภาวะ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาของคน
กทม. โดยภายหลังการรับรองเป็นฉันทมติ ก็ได้ร่วมกันส่งมอบมติฯ ให้กับปลัดกรุงเทพมหานคร
เพื่อแปรผลไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป
ในส่วนของระเบียบวาระ
“การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะชุมชน” มีมติประกอบด้วย 1. การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะจะเป็นส่วนหนึ่งของการเกิด “เมืองแห่งสุขภาวะ”
(healthy city) ที่สนับสนุนการดำรงชีวิตที่เอื้อต่อสุขภาพของผู้คนทุกกลุ่ม
โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนแออัด 2. ให้ กทม. จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนและกระบวนการสำรวจข้อมูลพื้นที่สาธารณะ
เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการจัดทำแผนปฏิบัติการ การขับเคลื่อนและประเมินความก้าวหน้า
3. ให้ กทม.
จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดกระบวนการมีส่วนร่วม ในการจัดทำแผนปฏิบัติการที่เชื่อมโยงแผนงาน
โครงการ หน่วยงาน ชุมชนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะพร้อมติดตามผล
4. ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ กทม. จัดทำแผนและส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรม
แนวทางการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ หรือมาตรการเพื่อนำไปสู่การจัดการแหล่งทุน
การตั้งกองทุน หรือการจัดหารายได้เพื่อสนับสนุน
5. ให้ กทม.
จัดตั้งคณะทำงานคัดเลือกและดำเนินการพื้นที่ชุมชนนำร่อง (Sand Box) กำหนดเป้าหมายอย่างน้อย 1 เขต 1 พื้นที่นำร่อง เพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะต้นแบบให้เป็นรูปธรรม
รวมทั้งการขยายผล พร้อมกับมีการติดตามผลในปี 2566 และ 6.
ให้คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 13 กทม. เป็นกลไกสนับสนุนและติดตาม ประสานงาน และขับเคลื่อนมติฯ และให้รายงานความคืบหน้าในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร
ตั้งแต่ปี 2565-2567
ขณะที่ระเบียบวาระ “การพัฒนาระบบสุขภาพบริการปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับภาวะวิกฤติ”
มีมติ ประกอบด้วย 1. วิกฤติโควิดได้สร้างโอกาสความร่วมมือ
เพื่อเร่งรัดจัดการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในเขต กทม. 2. ให้มีการร่วมมือกันพัฒนาการจัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิใน กทม. ให้เป็นองค์รวม
เข้าถึงได้ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลาย รวมทั้งเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลในระดับต่างๆ
ให้มีการบริการที่ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
3. ให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการบริหารจัดการ
และอภิบาลระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ให้ตอบสนองต่อภาวะวิกฤติ
และสอดคล้องตามแนววิถีชีวิตใหม่ เช่น จัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร จัดการศูนย์ปฏิบัติการเพื่อตอบสนองต่อภาวะวิกฤติ
4. ให้มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เป็นเครือข่าย
เพื่อนำไปสู่การวางแผนงานและจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. ให้มีการพัฒนาศักยภาพประชาชน
แกนนำ อาสาสมัคร รวมทั้งกลไกที่เกี่ยวข้องกับการหนุนเสริมศักยภาพประชาชน
สนับสนุนให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีความสามารถในการดูแลตนเอง 6. ให้มีกลไกการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนานวัตกรรมทางสังคมและเทคโนโลยี
รูปแบบการจัดเครือข่ายบริการสุขภาพปฐมภูมิที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ใน กทม. และ 7. ให้คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 13 กทม.
เป็นกลไกติดตาม ประสานงาน และขับเคลื่อนมติฯ และให้รายงานความคืบหน้าในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร
ตั้งแต่ปี 2565-2567
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร
(คจ.สก.) เปิดเผยว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งนี้
แสดงให้เห็นถึงพลังของความสามัคคี และการร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย
ที่ต้องการให้เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของชาว กทม.
ที่ทุกฝ่ายมาร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ ร่วมกันปฏิบัติ และรับผิดชอบเรื่องต่างๆ
ที่มีผลกระทบต่อประชาชนใน กทม.
ด้าน นพ.ประทีป
ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า
ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะมีความสลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย
นั่นจึงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง โดยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละราย
แต่ละหน่วยงาน หรือแต่ละองค์กร ต่างมีจุดแข็งและมีข้อจำกัดของตัวเอง
ฉะนั้นการสานพลังประสานความร่วมมือและการใช้ข้อมูลทางวิชาการ
จึงมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาหรือขับเคลื่อนโยบายให้บรรลุผล โดยเฉพาะ
กทม.ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกเข้ามาช่วยหนุนเสริม
อนึ่ง
ภายในการประชุมครั้งนี้ ยังได้มีการรายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร
ครั้งที่ 1 ได้แก่ “การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร”
และ “ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร” พร้อมกับกิจกรรมสานพลังเสวนา
“พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ร่วมสร้างมหานครสุขภาวะ วิถีใหม่” ตลอดจนเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นนโยบายสาธารณะ
และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ อีกด้วย