‘ระบบบำนาญ’ จะเป็นจริงได้ ต้องเป็นสวัสดิการ - มี กม. รองรับ ‘พรรคการเมือง’ ที่เสนอต้องแจง ด้วยว่าเอา ‘งบประมาณ’ มาจากไหน

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ในเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน สู่นโยบายพรรคการเมืองด้านระบบความคุ้มครองทางสังคมในผู้สูงอายุ ที่จัดขึ้นโดย คณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 23 มี.. 2566


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมอภิปรายถึงความเป็นไปได้ในการสร้างระบบบำนาญผู้สูงอายุในประเทศไทย


นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การจะทำให้ระบบบำนาญสำหรับผู้สูงอายุเป็นจริงได้ ต้องมีการทำให้เป็นระบบสวัสดิการที่แท้จริงโดยมีกฎหมายรองรับ และพรรคการเมืองที่ได้นำเสนอนโยบายในเรื่องนี้ควรบอกด้วยว่าจะเอางบประมาณในการใช้เป็นบำนาญจำนวน 4-5 แสนล้านมาจากวิธีใดบ้าง 


นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ในหลักการของระบบบำนาญที่ทุกคนกำลังพยายามช่วยกันสร้างในตอนนี้ ต้องบอกว่าตนเคยพยายามทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2552 โดยได้ตั้งหมุดหมายไว้ว่าประเทศไทยต้องการที่จะมี 2 ระบบที่สำคัญ ได้แก่ 1. ระบบประกันรายได้ขั้นพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ ดังนั้นในสมัยที่ตนเป็นรัฐบาลจึงเปลี่ยนระบบจากการให้เพื่อสงเคราะห์เป็นเบี้ยยังชีพอย่างถ้วนหน้าครั้งแรก เพื่อให้ผู้สูงอายุในสังคมได้รู้ว่าตนเองมีสิทธิที่จะได้รับ โดยยกเว้นส่วนที่เป็นข้าราชการเกษียณเพราะมีบำนาญจากระบบข้าราชการอยู่แล้ว


2. การส่งเสริมระบบการออมเพื่อรองรับการชราภาพ ผ่านการออกกฎหมายการออมแห่งชาติ เพื่อเปิดช่องทางให้คนได้ออมโดยสมัครใจ เนื่องจากเห็นว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สุงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผู้ที่มีบำนาฐในตอนนั้นมีแต่เพียงข้าราชการเท่านั้น


นอกจากนี้ ยังได้ทำควบคู่กับการให้ผู้ที่อยู่ในระบบแรงงานที่ไม่มีนายจ้าง มีแรงจูงใจที่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่อที่จะให้คนกลุ่มนี้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในระบบประกันสังคม รวมถึงมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการให้ภาครัฐและท้องถิ่นสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนต่างๆ ที่ประชาชนในชุมชนออมกันเองแต่น่าเสียดายที่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับการสานต่อตามเจตนารมณ์ที่วางไว้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทเรียนว่าถึงแม้จะมีกฎหมายบังคับใช้ระบบก็ยังมีความไม่มั่นคง


อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุอีกว่า อีกกรณีซึ่งอาจนำมาเป็นบทเรียนได้ก็คือสมัยรัฐบาลไทยรักไทยตัดสินใจทำนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่ปัจจุบันเรียกกันว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ต้องยอมรับว่าการตัดสินใจครั้งนั้นเป็นไปเพื่อให้นโยบายและหลักการเดินต่อไปได้ เพราะหลังจากนั้นระบบก็ต้องประสบกับปัญหาไม่น้อย แม้จะมีกฎหมายและได้เริ่มต้นแล้วก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ซึ่งกว่าจะสามารถจัดสรรงบประมาณได้เพียงพอจนบรรลุเป้าหมายก็ราวปี 2550


ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นของระบบบัตรทอง รุนแรงขึ้นเนื่องจากได้กำหนดอัตราเหมาจ่ายรายหัวในช่วงเริ่มแรกไว้ประมาณ 1,200 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งแม้จะสามารถบริหารจัดการได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่องบประมาณไม่พอก็มีการส่งเสียงสะท้อนถึงผลกระทบด้านคุณภาพการรักษา และที่สำคัญที่สุดคือทำให้พบว่าโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศมีเงินเก็บนอกงบประมาณจำนวนมาก เพราะถูกนำออกมาใช้จนเริ่มหมด 


อย่างไรก็ตาม การจะทำเรื่องบำนาญในตอนนี้ไม่เหมือนกันกับระบบบัตรทอง กล่าวคือ เมื่อมีการกำหนดเป็นหลักการแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีงบประมาณเพื่อดำเนินการต่อ เพราะถ้างบประมาณไม่มีก็จะจ่ายบำนาญไม่ได้ และก็จะยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น จนอาจนำไปสู่ความล้มเหลวของโครงการได้ 


ประเด็นสำคัญสำหรับผมในขณะนี้มองว่าสังคมไม่ได้มีปัญหาและยังเรียกร้องเสียงดังมากด้วย ทางฝ่ายการเมืองก็รับลูกในส่วนนี้แล้ว ส่วนตัวเลขถ้าพูดในทางการเมืองก็ยากมากแล้วที่จะพูดต่ำกว่า 3,000 บาท ดังนั้นเรามีโจทย์ทางการเงินชัดเจนแล้วว่าอยากได้ 3,000 บาท รวมถึงเรามีตัวเลขคาดประมาณที่ค่อนข้างแม่นยำว่าคนมีสิทธิจะได้รับมีจำนวนเท่าไหร่ จุดหลักจึงหมุนมายังนโยบายการคลังที่จะมาตอบโจทย์นี้นายอภิสิทธิ์ ระบุ


นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อพูดถึงนโยบายการคลังที่จะนำมาใช้ หลายฝ่ายก็คาดไว้ว่าพรรคการเมืองไม่ควรพูดถึงการปรับเปลี่ยนระบบจัดเก็บภาษีโดยเด็ดขาด แต่เมื่อการเลือกตั้งในปี 2562 เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในการพูดคุยเรื่องนี้มากขึ้น เพราะหลายพรรคการเมืองถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่าการเก็บภาษีที่เป็นอยู่เพียงพอแล้วหรือไม่ โดยปัจจุบันไทยเก็บภาษีได้ 13% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ซึ่งตนไม่เคยเห็นประเทศไหนที่จะมีสวัสดิการและเก็บภาษีในอัตราเท่านี้มาก่อน


นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าจะหาเงินสำหรับใช้ในส่วนนี้แบบง่ายที่สุดจะทางคลังคงนึกถึงการเพิ่มอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทว่า ต้องตระหนักด้วยว่าการเพิ่มภาษีส่วนนี้จะเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจถดถอย เพิ่มความเหลื่อมล้ำ และทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย แต่ถ้ามีการกำหนดจุดประสงค์ที่ชัดเจนในส่วนที่เก็บเพิ่ม (Earmarked Tax) อาจจะเป็นที่ยอมรับจากประชาชนได้มากขึ้น


ส่วนจะขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนเท่าไหร่ จริงๆ ต้องเข้าใจก่อนว่าอัตราภาษีปัจจุบันของไทยอยู่ที่ 10% แต่ในสมัยรัฐบาลของตนหรือเมื่อ 21 ปีที่แล้ว ได้ลดชั่วคราวให้เป็น 7% ซึ่งยังคงอัตราดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้ แต่จะสมเหตุสมผลมากถ้าตอนนี้จะเพิ่มกลับไปที่ 10% และเอาส่วนต่างจาก 3% เปลี่ยนเงินออมของทุกคน โดยคาดว่าจะได้เงินมาประมาณ 2 แสนล้าน


ผมเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านวินัยการเงินการคลังที่บอกไม่ให้ทำเอียร์มาร์ค ผมมองว่าสังคมในยุคปัจจุบันประชาชนไม่อยากจ่ายภาษีเพิ่ม เพราะไม่พอใจการใช้จ่ายภาษีในปัจจุบัน แต่ถ้าปัจจุบันมีความชัดเจนว่า 1 บาทที่เติมเข้าไปจะกลายเป็น 1 บาทที่อยู่ในบัญชีเงินออมของเขา ผมว่าอันนี้มีความเป็นไปได้


ตอนสมัยผมทำเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า ถูกวิจารณ์ว่าคนที่มีฐานะทางการเงินดีเป็นเศรษฐฐีก็ได้เหมือนกัน ซึ่งขณะนั้นทางรัฐบาลก็มีการรณรงค์ว่าคนรวยอย่าพึ่งรับเบี้ยยังชีพในส่วนนี้เลย แต่ได้ผลเพียงไม่กี่เดือน หลังจากนั้นทุกคนก็ไปรับเหมือนเดิม ซึ่งก็เคยทำการสำรวจว่าทำไมคนกลุ่มนี้ถึงยังมารับก็ได้คำตอบว่า เขาเอาเงินส่วนนี้ทำบุญดีกว่าให้รัฐบาลเอาไปใช้อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริม

 28 มีนาคม 2566