
เพิ่มประสิทธิภาพจ่าย ‘เบี้ยยังชีพ’ ผู้สูงอายุ ปรับอัตราจ่ายแบบ ‘ขั้นบันได’ ‘ย้ายภูมิลำเนา’ รับเงินในเดือนถัดไปได้เลย29 มีนาคม 2566
ครม.รับทราบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพจ่าย ‘เบี้ยยังชีพ’ ผู้สูงอายุ โดยปรับอัตราจ่ายแบบ ‘ขั้นบันได’ และหากมีการ ‘ย้ายภูมิลำเนา’ ก็สามารถรับเงินได้ในเดือนถัดไปทันที
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติรับทราบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจ่าย ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ สอดรับกับข้อห่วงใยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการใน 4 ประเด็น
ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. กรณีการย้ายภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุให้ได้รับสิทธิในเดือนถัดไปทันที เพื่อไม่ให้เสียสิทธิการรับเงิน และกรมการปกครองจัดทำระบบที่สามารถตรวจสอบการย้ายภูมิลำเนาของผู้สูงอายุได้ รวมทั้งให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมบัญชีกลางตรวจสอบข้อมูลและคำนวณงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นในแต่ละปี เพื่อส่งข้อมูลให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นได้อย่างถูกต้อง
2. การปรับอัตราการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ให้ปรับอัตราการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ณ วันที่ผู้สูงอายุมีอายุครบในเดือนนั้นทันที ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุระหว่างปีงบประมาณ ทำให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 70, 80 และ 90 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพในอัตราเดิมตลอดปีงบประมาณ จึงทำให้ผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าวเสียสิทธิ
3. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหลักเกณฑ์แนวทางการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พร้อมทั้งปรับปรุงระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพ เพื่อให้สามารถคำนวณการใช้จ่ายงบประมาณในการปรับอัตราการจ่ายเงินได้
4. คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) เร่งรัดการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและนำเข้าที่ประชุม กผส. และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนำมาพิจารณาเพื่อประกอบการแก้ไขระเบียบดังกล่าวด้วย