ฟังแนวทาง ‘ก้าวไกล’ สร้างสวัสดิการถ้วนหน้า เปิดที่มาของงบ 4 แสนล้าน จัดทำ ‘ระบบบำนาญแห่งชาติ’

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ในเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน สู่นโยบายพรรคการเมืองด้านระบบความคุ้มครองทางสังคมในผู้สูงอายุ ที่จัดขึ้นโดย คณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 23 มี.. 2566


ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล ได้ร่วมอภิปรายถึงความเป็นไปได้ในการสร้างระบบบำนาญผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยกล่าวถึงตัวเลขที่เหมาะสมของระบบบำนาญแห่งชาติ ซึ่งมีการมองเอาไว้ที่ 3,000 บาทต่อคน ต่อเดือน


ดร.เดชรัต กล่าวว่า เหตุผลที่ตัวเลข 3,000 บาทมีความเหมาะสม เนื่องจากผลการวิจัยเมื่อใช้ตัวเลขเส้นความยากจนของผู้สูงอายุเป็นตัวเทียบ พบว่าจากเบี้ยยังชีพอัตรา 600 บาทในปัจจุบัน จะมีผู้สูงอายุที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน 6% แต่หากเพิ่มเป็น 2,000 บาท จะลดลงเหลือ 2% และ 3,000 บาท ลดลงเหลือ 1% จึงเป็นเหตุผลของการนำเสนอตัวเลขดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอีก 1% ที่เหลือของผู้สูงอายุที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน จะยังคงอยู่ด้วย 2 สาเหตุหลัก คือ 1. การเป็นหนี้สินที่ตกค้าง โดยเฉพาะมาจากภาคการเกษตร 2. มีอาการป่วยติดบ้านติดเตียง ที่ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้นในส่วนนี้จึงเป็นสาเหตุที่พรรคก้าวไกลเสนอว่าควรมีกองทุนที่มาช่วยดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง โดยคำนวณเป็นตัวเลขที่จ่ายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200 บาทต่อคน ซึ่งจ่ายไว้ก่อนให้กับผู้สูงอายุทุกคนไม่ว่าจะป่วยแล้วหรือยังก็ตาม จึงรวมเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณปีละ 3 หมื่นล้านบาท


การดูแลผู้ป่วยติดบ้านเตียง ไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะกับตัวผู้ป่วย แต่ยังส่งผลไปถึงคนที่เป็นกำลังในวัยแรงงานด้วย เพราะถ้าบ้านไหนมีพ่อ แม่ ญาติ ผู้ใหญ่ ที่ติดบ้านเตียง ไม่มีคนดูแล สุดท้ายก็ต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแล ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นอีกสิ่งที่เราอยากฝากทุกพรรค รวมถึงภาคประชาชน ช่วยกันผลักดันให้มีสิ่งนี้เกิดขึ้นด้วยดร.เดชรัต กล่าว


ทั้งนี้ ดร.เดชรัต ยังระบุต่อถึงส่วนของระบบบำนาญแห่งชาติ 3,000 บาท ซึ่งพบว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นกว่า 4.2 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อมีการนำมาคำนวณตัวเลขว่าจะสามารถทำได้จริงในแง่การเงินการคลังหรือไม่ ปรากฏว่าจะไม่สามารถทำได้ภายใน 1-2 ปีแรก จึงเป็นเหตุผลให้พรรคก้าวไกลมีจุดยืนว่าตัวเลข 3,000 บาท จะเกิดขึ้นได้ภายในปี 2570


จากการคำนวณเราพบว่าปีแรกอาจเพิ่มได้จาก 600 บาท ขึ้นมาเป็น 1,500 บาท ซึ่งก็ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมากในการดำรงชีพของประชาชน แต่ก็มีพรรคการเมืองที่เสนอตัวว่าจะทำให้เป็น 3,000 บาททันที จึงเชื่อว่าจุดสำคัญจึงต้องเป็นการทำความเข้าใจกับประชาชน ด้วยข้อมูลที่ดีพอว่าเหตุใดเราจึงต้องค่อยๆไปสู่จุดนั้น ซึ่งเราก็พบว่าประชาชนส่วนหนึ่งเข้าใจได้หากมีเหตุผลดร.เดชรัต ระบุ


ดร.เดชรัต กล่าวต่อไปถึงที่มาของแหล่งรายได้ โดยอันดับแรกที่พรรคจะเสนอคือเริ่มจากการปรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งไม่ได้หมายถึงการปรับขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความหมายของการปรับขั้นบันไดซึ่งขณะนี้แคบอยู่ โดยจะเสนอให้ปรับในส่วนของรายได้ 3 แสน - 3 ล้านบาท ลดภาษีลงจาก 15% เป็น 10% ขณะที่รายได้ 3-30 ล้านบาท ลดภาษีลงจาก 20% เหลือ 15% แต่สำหรับส่วนที่รายได้เกิน 300 ล้านบาทขึ้นไป จะขึ้นภาษีเป็น 23% ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้เกิดความแตกต่างกันมากขึ้น ระหว่างผู้ประกอบการรายเล็กกับรายใหญ่


ในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ดึงคนให้อยู่ในระบบ รวมถึงปรับปรุงเรื่องของการลดหย่อนภาษีให้มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะนำมาสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 9 หมื่นล้านบาท


ขณะเดียวกันยังจะเสนอการเพิ่มภาษีที่ดินใหม่สองตัว คือภาษีที่ดินแบบรวมแปลงโดยแทนที่จะให้ประชาชนกับนายทุน/เจ้าสัว เสียภาษีเท่ากันในแต่ละแปลง ซึ่งคิดตามการใช้ประโยชน์ แต่จากนี้จะให้เอาที่ดินที่มีทั้งหมดทั้งประเทศมารวมกัน และเริ่มจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า โดยเริ่มจากที่ดินที่มีราคาประเมิน 300 ล้านบาทขึ้นไป ในขณะที่ภาษีที่ดินแบบรายแปลงก็จะมีการจัดเก็บที่ดีขึ้น ซึ่งเป้าหมายนี้รวมกันคาดว่าจะได้งบประมาณเพิ่มราว 1.5 แสนล้านบาท


นอกจากนี้ยังจะมีการเสนอภาษีความมั่งคั่งโดยวัดจากความมั่งคั่งสุทธิ ซึ่งมีทรัพย์สินสุทธิหักลบกับหนี้สินแล้วเกินกว่า 300 ล้านบาท ก็จะเริ่มเสียภาษีในอัตรา 0.5% เช่นถ้ามีทรัพย์สิน 300 ล้านบาท ก็จะเสียประมาณ 1.5 ล้าน ซึ่งเบื้่องต้นคาดว่าน่าจะได้เพิ่มอีกกว่า 6 หมื่นล้านบาท


ดร.เดชรัต สรุปเป็นตัวเลขจากการปรับปรุงประสิทธิภาพภาษีเดิมประมาณ 2 แสนล้านบาท การจัดเก็บภาษีใหม่อีกประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่อีกส่วนคือการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เช่น ลดงบประมาณกองทัพ ควบรวมธุรกิจการทหารเข้ามาสู่ระบบ รวมไปถึงโครงการอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น ซึ่งพบว่าก็จะลดได้อีกประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยเป็นการลดลงไม่ถึง 7% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี จากความตั้งใจเดิมที่คาดว่าจะลดลงราว 10%


จากทั้งหมด 3 ก้อน ปรับลดงบประมาณลง 2 แสนล้าน ปรับภาษีใหม่ 2 แสนล้าน ปรับปรุงประสิทธิภาพภาษีเดิมอีก 2 แสนล้าน ทั้งหมดก็หวังว่าจะมีเงินเพียงพอประมาณ 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งเราไม่ได้เอามาใช้เฉพาะสวัสดิการผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เรายังมีในส่วนของสวัสดิการเด็กเล็ก และวัยทำงาน โดยตรงนี้เองเราก็อยากขอเชิญชวนคนไทยมาร่วมกันให้ความคิดเห็น ว่าถ้ามีการขึ้นภาษีแบบนี้จะเห็นด้วยหรือไม่ มีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไรดร.เดชรัต กล่าว


ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ซึ่งเป็นที่พูดถึงของหลายฝ่ายนั้น ดร.เดชรัต ระบุว่าจากการเข้าไปสอบถามความคิดเห็นของประชาชน โดยคำนวณว่าหากแต่ละบ้านจะได้รับสวัสดิการถ้วนหน้า ครอบคลุมตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุจะได้เป็นเงินประมาณเท่าไร และการเสีย VAT เพิ่มจะต้องจ่ายเพิ่มเป็นเท่าไร เมื่อเทียบระหว่างส่วนที่ต้องเพิ่มกับส่วนที่ได้รับกลับมานี้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สบายใจ และไม่พร้อมกับการขึ้น VAT เท่าไรนัก


เราหวังว่าหากเกิดกฎหมายที่ยืนยันสวัสดิการพื้นฐานของเขาอย่างแท้จริงแล้ว คำตอบน่าจะเปลี่ยนไป และเข้าใจกันมากขึ้น เพราะมันไม่ใช่เม็ดเงินจำนวนใหญ่อะไร เพียงแต่ถ้าคนไทยได้เห็นว่าภาษีที่ตนเองจ่ายไปนั้นจะกลับมาหาเขาอย่างไร ก็อาจเสียภาษีกันด้วยความภูมิใจมากขึ้น เรื่องนี้คือสิ่งที่เราจะพยายามทำต่อไป คือเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสังคมที่เราไม่ค่อยอยากเสียภาษีแต่เก็บเงินไปทำบุญ เราอยากเปลี่ยนให้มองการเสียภาษีว่าเป็นการทำบุญ ที่มีความเสมอภาคและมีประสิทธิภาพที่สุดด้วยดร.เดชรัต ระบุ


พร้อมกันนี้ ดร.เดชรัต ยังกล่าวถึงงบประมาณ 4 แสนล้านบาทสำหรับระบบบำนาญแห่งชาติ ซึ่งเป็นตัวเลขที่คำนวณไปถึงปี 2570 เท่านั้น หากแต่ตัวเลขนี้จะขยายและมีขนาดมหึมามากขึ้น นั่นจึงหนีไม่พ้นความสำคัญของการร่วมจ่ายซึ่งเป็นเป้าหมายที่มองลำดับถัดไป ในการให้คนที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปีลงมา เปลี่ยนจากความสมัครใจเป็นการมีความพร้อมในการร่วมจ่ายออมด้วย


อย่างไรก็ตาม อิฐก้อนแรกของการสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้า คือความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน ดร.เดชรัต จึงเชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะพยายามวางอิฐก้อนแรกไว้ ด้วยการทำระบบประกันสังคมถ้วนหน้าซึ่งเป็นระบบที่เราคุ้นเคยกับการร่วมจ่ายสมทบและได้รับประโยชน์จากสวัสดิการ อันจะเป็นบันไดก้าวแรกที่สำคัญ ของการนำไปสู่ระบบที่เกิดการบังคับออมในทุกคนได้อย่างแท้จริง


โดยสรุปแล้วเราเข้าใจโจทย์ดี และเราพยายามเสนอรูปธรรม หรือแบบจำลอง ของการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาสร้างระบบสวัสดิการ ให้ทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแนวทางเช่นนี้ได้มองภาพอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และไม่เพียงเป็นความรู้สึก แต่อยากให้ทุกคนได้มีโอกาสมาร่วมกันตรวจสอบ เพิ่มเติม ให้ข้อแนะนำ อันจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคตผู้อำนวยการ Think Forward Center ทิ้งท้าย

 30 มีนาคม 2566