จะให้ ‘คนจนเมือง’ ไปอยู่ที่ไหน ? ในเมื่อเขาต้องทำงานอยู่ใน ‘เมือง’ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเข้าใจบริบท พัฒนา ‘ที่อยู่อาศัย’ โดยไม่ไล่รื้อ
แม้ “ที่อยู่อาศัย” จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญ และจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากแต่นับวันการเข้าถึงสิ่งนี้กลับเป็นไปได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ความเจริญของประเทศถูกไหลมารวมกัน ณ พื้นที่จุดศูนย์กลางแห่งนี้
เมื่อความต้องการของที่อยู่อาศัยพุ่งทะยานไปตามทิศทางการพัฒนาของเมือง สิ่งนี้ได้บีบคั้นให้ผู้ที่มีกำลังน้อยอย่างกลุ่ม “คนจนเมือง” ต้องระเห็จระเหเร่ร่อนออกไปอยู่ในที่ห่างไกลจากใจกลางเมืองออกไปทุกที ทั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้ก็ต้องพึ่งพิงกับการเติบโตของเมืองไม่แพ้กัน
เมื่อครั้งสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 เมื่อปี 2559 ในครั้งนั้นที่ประชุมได้มีฉันทมติเรื่อง “การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ” ที่เห็นร่วมกันว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน และทุกระดับ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการวางแผนป้องกันในอนาคตอย่างยั่งยืน พร้อมมีข้อเสนอถึงหน่วยงานต่างๆ ในการร่วมกันขับเคลื่อนแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในทุกระดับ
ในวาระของการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้า กทม. ใหม่ อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าราชการซึ่งมีทีท่าว่าจะใกล้เข้ามาในทุกขณะ "Health Station" มีโอกาสได้พูดคุยกับ "วรรณา แก้วชาติ" ผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อสะท้อนภาพและสถานการณ์จริงรวมถึงข้อเสนอที่จะแก้ไขในสิ่งเหล่านี้ได้ชัดเจนมากขึ้น
คนจน ‘อาศัยในเมือง’ เพราะต้อง ‘ทำงานในเมือง’
เธออธิบายว่า สถานการณ์ด้านที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนเมืองที่มีความรุนแรง เนื่องด้วย “ราคาที่ดิน” ในเมืองที่ค่อนข้างแพง ทำให้ “เจ้าของที่ดิน” อยากได้ที่ดินที่ชุมชนอยู่อาศัยไปพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของรัฐหรือเอกชนก็ตาม เช่นในกรณีของที่ดินบริเวณทางรถไฟ ซึ่งในขณะนี้กำลังมีโครงการรถไฟเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการทำงานของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมกับเครือข่ายชุมชนคนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟ (ชมฟ.) และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนทางรถไฟของ กทม. จำนวน 15 ชุมชน พบว่ามีผลกระทบของชาวบ้านที่อาศัยในที่ดินบริเวณดังกล่าวถูกไล่รื้อเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับในที่ดินอื่นๆ ของภาคเอกชน ที่มีรถไฟฟ้าปรับเส้นทางผ่าน ซึ่งทำให้หลายชุมชนต้องถูกไล่รื้อเช่นกัน
“สิ่งสำคัญคืออาชีพหลักของคนที่อยู่ในชุมชนแออัด ส่วนใหญ่ก็คือแรงงานเมือง ฉะนั้นแม้จะมีการให้ชาวบ้านรวมกลุ่มรวมตัวกันทำออมทรัพย์เพื่อที่จะไปหาซื้อที่ดิน แต่มันก็ไกล และแพง นอกจากนี้เมื่อชาวบ้านไปอยู่แล้วก็ไม่สามารถอยู่ได้จริง เพราะไม่มีอาชีพ และยังต้องอาศัยเมืองในการทำงาน” วรรณา สะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
เธอมองว่าปัญหานี้ ภาครัฐเองก็ยังไม่มีแผนในการแก้ไขหรือรองรับในเรื่องที่อยู่อาศัยของชุมชน และยังคงให้น้ำหนักไปที่เรื่องของการลงทุน จึงทำให้ชุมชนต้องรวมกลุ่มกันเพื่อต่อรองหรือเจรจากับทางการรถไฟเอง และเมื่อภาครัฐไม่มีนโยบายที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ก็ทำให้ชุมชนอยู่ในเมืองได้ยาก สุดท้ายก็ต้องถูกบีบให้ขึ้นไปอยู่ในอาคารชุด 8 ชั้นกลางเมือง ที่มีมูลค่าก่อสร้างประมาณ 7-8 แสนบาท
“ชาวบ้านจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย แม้จะบอกว่าผ่อนได้ชั่วลูกชั่วหลาน แต่ค่าดอกจะเท่าไร อันนี้ไม่มีแผนเลยว่าจะมาอุดหนุนชาวบ้านเพื่อแก้ไขได้อย่างไร คือไม่ใช่ว่าทุกคนก็เดือดร้อนกันหมด แต่ต้องดูบริบทของแต่ละกลุ่มว่ามีศักยภาพมากพอที่จะแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองไหม” วรรณา ระบุ
เธอขยายความต่อว่า การที่ชุมชนต้องไปกดดันเพื่อขอเงินมาก่อสร้างในส่วนที่เป็นสาธารณูปโภค หรือส่วนอื่นๆ ก็ไม่ได้มาโดยง่าย เพราะไม่ใช่นโยบายของภาครัฐ ดังนั้นหากเป็นในส่วนของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภาครัฐ รัฐก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนให้เขามีที่อยู่อาศัย ไม่ใช่การให้ไปบุกรุกพื้นที่อื่นๆ หรือทำให้คนในชุมชนต้องกระจัดกระจาย ซึ่งเมื่อหลายคนไม่สามารถรับได้ ก็ต้องกลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด
ขณะที่กรณีของคนไร้บ้าน ก็ต้องพบกับผลกระทบภายหลังการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งบีบให้คนไร้บ้านต้องออกไปหาห้องเช่าหรือบ้านเช่าในชุมชน ขณะที่คนไร้บ้านเองก็ไม่มีรายได้ที่แน่นอน นั่นจึงกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่คนไร้บ้านต้องแบกรับ
ผู้ว่าฯ คนใหม่ต้องเข้าใจ เพื่อแก้ไข ‘ที่อยู่อาศัย’
สำหรับว่าที่ผู้ว่าราชการ กทม. คนใหม่ วรรณา มองว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกคือเขาจะต้องเข้าใจบริบทชุมชน เข้าใจบริบทเมือง และต้องเข้าใจว่าทำไมชุมชนแออัดหลักๆ จึงต้องอยู่ในเมือง
“ถ้าเข้าใจตรงนี้ได้ว่าคนในเมือง ทำมาหากินในเมือง จะให้เขาอยู่ที่อื่นก็ไม่ได้ เพราะสุดท้ายเขาก็จะกลับมาอยู่เหมือนเดิม อาจจะกลับมาอยู่ห้องเช่า บ้านเช่า หรือหากมีที่ว่างตรงไหนก็อาจไปอยู่สร้างปัญหาเหมือนเดิม” เธอ อธิบาย
วรรณา ระบุว่า ฉะนั้นแล้วหากต้องการที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองทั้งหมด ก็จะต้องเข้ามามีการสื่อสารและวางแผนร่วมกัน เพื่อดูว่าความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชนคืออะไร เพราะบางคนอาจไม่ได้ต้องการบ้านมั่นคง แต่ต้องการเพียงห้องเช่าราคาถูก ที่อยู่อาศัยระยะสั้น เพื่อใช้เป็นที่หลับนอนหลังการทำงาน ในขณะที่คนบางกลุ่มอาจต้องการความมั่นคงในที่อยู่อาศัย แต่ละส่วนนี้จึงต้องมาดูว่ารูปแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับรูปแบบบริบทอาชีพนั้นเป็นอย่างไร
มากไปกว่านั้น เธอยังมองว่าผู้ว่าฯ กทม. จะต้องมีวิสัยทัศน์ในการทำงานเชิงรุก คิดให้รอบด้านและรอบคอบว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร ทั้งในเรื่องของระบบสาธารณสุข ระบบขนส่งมวลชน หรือเรื่องของเด็กและคนชรา เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ควรจะต้องมีการคิดให้ครบทั้งวงจร ไม่ใช่การคิดไปทีละเรื่อง
นอกเหนือจากการมีวิสัยทัศน์ และเข้าใจบริบทของคนในแต่ละกลุ่มแล้ว ทีมงานของผู้ว่าฯ กทม. เองก็จะต้องมีความเข้าใจที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงข้าราชการประจำที่จะต้องเห็นด้วยกับแนวทางที่ผู้ว่าฯ กทม. จะดำเนินการไปด้วย ไม่ใช่ไปกันคนละทาง
ในระยะสั้น สิ่งที่เธออยากเห็นจากการทำงานของว่าที่ผู้ว่า กทม. คือการแก้ไขปัญหาในเรื่องของปากท้องและรายได้ โดยทำอย่างไรที่จะสามารถสร้างงานให้กับคนในเมืองได้ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ต้องทำให้คนในชุมชนมีรายได้ก่อน พร้อมดูว่ามีงานตัวใดที่จะสามารถเชื่อมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน หรือภาครัฐกับภาคประชาสังคมเข้าไปได้
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงระบบขนส่งสาธารณที่เอื้อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ตลอดจนการรับมือด้านสุขภาพ ซึ่งต้องมีแผนรับมือที่ชัดเจนและปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ วรรณา ต้องการจะเห็น คือการแก้ไขปัญหาในเรื่องของที่อยู่อาศัย ที่จะพัฒนาชีวิตของคนเมืองและคนจนเมืองให้มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด หรือหากมีการไล่รื้อ นำพื้นที่ไปพัฒนาที่อยู่อาศัย ภาครัฐเองก็จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการรองรับ โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดและจัดทำข้อเสนอ เพื่อดูว่าปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในชุมชนนี้จะแก้ไขร่วมกันได้อย่างไร
ขณะเดียวกันปัญหาของคนไร้บ้าน ก็ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการให้เข้าไปอยู่ตามศูนย์ต่างๆ เพราะที่ผ่านมามีบทเรียนแล้วว่าไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ แต่จำเป็นจะต้องเข้าใจจริงๆ ว่าเขาเหล่านั้นมีความเป็นอยู่หรืออาชีพเป็นแบบใด
ท้ายที่สุดแล้ว วรรณา จึงฝากว่ารัฐจะต้องทำหน้าที่ในสิ่งที่ควรทำ และสิ่งที่ทำนั้นจะต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม การแก้ไขปัญหาจึงจะมีความยั่งยืนไปได้ในระยะยาว ขณะเดียวกันไม่ว่า “ผู้ว่าฯ กทม.” จะเป็นใครก็ตาม เมื่ออาสาเข้ามาทำหน้าที่แล้ว คือต้องมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา รับฟังเสียงจากแต่ละภาคส่วนให้มาก รวมทั้งคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม ว่าเสียงที่เขามีอันน้อยนิดนั้นต้องการจะสื่ออะไร
“คุณต้องรับฟังทุกภาคส่วน และต้องลงมือทำด้วย ไม่ใช่แค่รับเป็นนโยบาย สุดท้ายคุณก็ต้องสนับสนุนด้วย ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ หรือกระบวนการต่างๆ ที่จะเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชน แต่ไม่ใช่ลดทอนความเข้มแข็งของชุมชน คือคุณไม่ต้องไปทำแทนเขา เพียงเปิดโอกาสให้เขาทำก็พอ” วรรณา ทิ้งท้าย