ฟังมุมมองวิเคราะห์จากภาควิชาการ ‘สวัสดิการคนไทย’ ในนโยบายเลือกตั้ง ยัง ‘หยาบ’ กระจัดกระจาย-ไม่สอดคล้อง ยืนยันต้องมี ‘หลักประกันยามชราภาพ’

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สังคมไทยในปัจจุบันกำลังพูดคุยและถกเถียงในประเด็นนโยบายสาธารณะกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ที่บรรดาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งต่างนำเสนอนโยบายด้านต่างๆ แก่ประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมระบอบประชาธิปไตย

 

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เผยแพร่บทความ aBRIDGEd ฉบับพิเศษ ช่วงเดือนเมษายน 2566 นี้ โดยได้เลือกประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญต่างๆ 16 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของคนไทย และได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาสรุป

 

เริ่มตั้งแต่สิ่งที่เป็นในปัจจุบันจากข้อมูลและผลการศึกษาทางวิชาการ เพื่อสะท้อนปัญหาที่เห็นซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมายาวนานที่ต้องการการแก้ไขเร่งด่วน และนำเสนอประเด็นชวนคิดที่สาธารณชน สื่อมวลชน ผู้ดำเนินนโยบาย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำไปประกอบการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ต่อไป

 



สวัสดิการคนไทย: แค่ไหนใช่ แค่ไหนพอ


หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจหัวข้อ "สวัสดิการคนไทย: แค่ไหนใช่ แค่ไหนพอ" เป็นการวิเคราะห์ของ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

 

สำหรับประเด็นนี้ ดร.สมชัย มองว่า สิ่งที่เป็นคือ นโยบายด้านสวัสดิการ (ทางวิชาการเรียกว่านโยบายความคุ้มครองทางสังคม) สำหรับคนไทยเร่งตัวขึ้นมากในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะสังคมไทยสูงอายุอย่างรวดเร็ว และเป็นการแก่ก่อนรวยบวกแก่ก่อนเก่ง” (หมายถึงคนใกล้สูงวัยมีการศึกษาค่อนข้างน้อย) ทำให้คนไทยจำนวนมากไม่สามารถดูแลตัวเองและใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี

 

ทั้งนี้ เมื่อการเมืองเปิดกว้างขึ้น เสียงเรียกร้องและการตอบสนองของพรรคการเมืองจึงเป็นไปอย่างกว้างขวางและแข่งขันกันสูงในลักษณะเกทับกัน จนหลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าทำได้จริงหรือไม่ หรือถ้าฝืนทำจริงจะเป็นภาระการเงินการคลังของประเทศจนรับไม่ไหวหรือเปล่า

 

ดังนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคืออาจทำให้หลายคนมีศรัทธาน้อยลงต่อระบบการเลือกตั้งและประชาธิปไตยโดยรวม ว่าไม่ได้เป็นวิธีการที่นำไปสู่การแก้ปัญหาประเทศอย่างเหมาะควร เน้นการหาเสียงแบบประชานิยมเป็นหลัก ศรัทธาที่น้อยลงนี้เป็นอันตรายต่อแนวคิดการพัฒนาประเทศโดยเน้นคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นสาระหลักของนโยบายความคุ้มครองทางสังคมที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ สังคมสูงวัย กับดักประเทศรายได้ปานกลาง หรือกระทั่งยกระดับคุณภาพของระบบการเมืองเอง

 

เมื่อมาสู่ ปัญหาที่เห็น คือ พรรคการเมืองส่วนใหญ่มีข้อเสนอสวัสดิการในลักษณะเป็นชิ้นๆ และกระจัดกระจาย กลุ่มเป้าหมายก็มีความหยาบระดับหนึ่ง เช่น แม้จะระบุกลุ่มเด็ก คนวัยทำงาน คนแก่ ผู้พิการ แต่ข้อเสนอขาดความแตกต่างกันตามลักษณะเฉพาะของกลุ่มเป้าหมาย เช่น การให้เงินแม้จะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่มีหลายปัญหาที่เงินช่วยไม่ได้ ต้องการบริการภาครัฐอื่นในการดูแล ติดตาม วิเคราะห์ปัญหาเฉพาะราย เฉพาะครอบครัว

 

ที่สำคัญ ข้อเสนอมีความไม่สอดคล้องกับหลักคิดระบบสวัสดิการที่เหมาะกับสังคมไทย หลักคิดเหล่านี้ได้แก่

 

1. หลักคิดเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ไม่ใช่เพียงการรอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น การปรับปรุงระบบประกันสังคมเพื่อให้ครอบคลุมประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งระบบนี้ประชาชนร่วมจ่ายด้วยตามกำลังความสามารถ

2. หลักคิดพอเพียง เลี้ยงตัวได้ สวัสดิการที่ให้ควรพอดี ไม่น้อยไปจนไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตผู้รับ แต่ไม่มากไปจนเสพติดและไม่คิดจะยืนบนลำแข้งตัวเอง การได้รับความช่วยเหลือต้องไม่บั่นทอนแรงจูงใจในการทำงานแต่ควรนำไปสู่การเพิ่มทักษะในโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะด้วยตัวเองหรือผ่านกลไกรัฐ

3. หลักคิดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นเรื่องที่เร่งด่วนมากสำหรับประเทศไทย เพราะเราจะมีคนน้อยลง และคนไทยจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการภาครัฐ การพัฒนาคนไทยทุกคนอย่างเต็มศักยภาพโดยไม่ตกหล่นแม้คนเดียวจะช่วยพัฒนาประเทศในภาพรวมที่ดีที่สุด

4. หลักคิดหุ้นส่วนสวัสดิการ ภาคส่วนอื่นนอกเหนือภาครัฐควรมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการออกเงิน การบริหาร หรือการตรวจสอบ

5. หลักคิดความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ซึ่งหมายถึงการให้สวัสดิการไม่ควรมากเกินความต้องการผู้รับตามหลักพอเพียงข้างต้น และมีแนวทางในการหาแหล่งรายได้เช่นการปรับเพิ่มภาษี โดยควรปรับภาษีในลักษณะที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำไปในตัวด้วย

6. หลักคิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เช่น การปรับปรุงคุณภาพฐานข้อมูลคนจน การเชื่อมโยงข้อมูลผู้รับสวัสดิการระหว่างหน่วยงาน เพื่อลดความซ้ำซ้อนและป้องกันปัญหาคนจนตกหล่นไปพร้อม กัน

 

ทั้งหมดนี้นำมาสู่ ประเด็นชวนคิด ว่าปัญหาข้างต้นนำไปสู่คำถามที่สังคมไทยควรใคร่ครวญมากมาย ตัวอย่างเช่น

 

จะเปลี่ยนทัศนคติสังคมเรื่องระบบความคุ้มครองทางสังคมจากแนวคิดสงเคราะห์มาเป็นเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขและเลี้ยงตัวเองได้อย่างไร

ข้อเสนอพรรคการเมืองเรื่องใดมากไป เรื่องใดน้อยไป เรื่องไหนยังขาด

จะสร้างความยั่งยืนของระบบความคุ้มครองทางสังคมได้อย่างไรบ้าง (เช่นเพิ่มภาษี เกลี่ยงบประมาณใหม่ ทำให้ผู้รับสวัสดิการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ด้วยตนเอง) วิธีไหนควรทำเป็นลำดับแรก

จะแก้ปัญหาการตกหล่นของคนจน และกลุ่มเปราะบางตัวจริงที่ไม่ได้รับสวัสดิการอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง

ควรมีระบบการส่งผ่านความต้องการที่แท้จริงของประชาชนกลุ่มต่าง ไปสู่นักการเมืองอย่างเหมาะสมอย่างไร โดยคำนึงว่าหากช่วยคนกลุ่มนึง กลุ่มอื่นก็อาจได้รับสวัสดิการน้อยลง เพราะต้องคำนึงถึงต้นทุนการเงินการคลังประกอบด้วย

 


สังคมสูงวัย: ประเทศไทยต้องสร้างหลักประกันยามชราภาพฯ


ในอีกหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจหัวข้อ สังคมสูงวัย: ประเทศไทยต้องสร้างหลักประกันยามชราภาพที่ก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างรุ่น เป็นการวิเคราะห์ของ .ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ในประเด็นนี้ .ดร.วรเวศม์ ได้ระบุถึง สิ่งที่เป็น คือ ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”6 โดยเมื่อสิ้นปี .. 2565 ประเทศไทยมีประชากร 66.09 ล้านคน จำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ผู้สูงอายุ) 12.52 ล้านคน หรือคิดเป็น 18.9% ของประชากรทั้งหมด มีการคาดการณ์ว่าในปี .. 2583 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นประมาณ 20.51 ล้านคน หรือเกือบหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด

 

สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากรเช่นนี้ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอายุคาดเฉลี่ยอย่างต่อเนื่องของคนไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 77 ปี และอัตราภาวะเจริญพันธุ์รวมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนเด็กเกิดใหม่ที่เคยมีมากกว่าปีละ 1 ล้านคนในช่วงปี .. 2506–2526 ลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือปีละประมาณ 5 แสนกว่าคน

 

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ประเด็นหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพจึงทวีความสำคัญมากขึ้น จากผลการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย .. 2564 พบว่า 32.2% ของผู้สูงอายุในปัจจุบันมีแหล่งรายได้หลักจากบุตร 32.4% จากการทำงาน 19.2% จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 7.5% จากบำเหน็จบำนาญ 4.5% จากคู่สมรส 2.7% จากแหล่งอื่น และมีเพียงแค่ 1.5% เท่านั้นมีแหล่งรายได้หลักจากดอกเบี้ย/เงินออม

 

อย่างไรก็ตาม แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุในอนาคตคงจะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ เนื่องจากผู้สูงอายุในปัจจุบันกับผู้สูงอายุในอนาคตมีลักษณะทางประชากรบางประการที่แตกต่างกัน ผู้สูงอายุในอนาคตจะมีการครองโสดถาวรเพิ่มขึ้น มีจำนวนบุตรที่มีชีวิตโดยเฉลี่ยลดลง มีสัดส่วนผู้ที่ไม่มีบุตรเพิ่มขึ้น (Suwanrada et al., 2022) ผู้สูงอายุในอนาคตจำนวนหนึ่งจะไม่มีแหล่งรายได้จากคู่สมรสและ/หรือจากบุตร ถ้าระบบบำนาญและการออมเพื่อเป็นหลักประกันยามชราภาพสามารถทำหน้าที่เสมือนเป็นคู่สมรสหรือบุตรที่ดีได้ ก็จะไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

 

สำหรับ ปัญหาที่เห็น คือ ประเทศไทยมีระบบบำนาญฯ หลากหลายระบบที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ของวิธีการทางการเงินการคลัง (รัฐจัดสรร การประกันสังคม การออม) หน่วยงานรับผิดชอบ แหล่งที่มาของเงิน (งบประมาณแผ่นดิน เงินสมทบ เงินออม) รวมถึงระดับของสิทธิประโยชน์ ระบบที่มีอยู่ได้แก่

 

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

บำเหน็จบำนาญข้าราชการ

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น

บำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร

สิทธิประโยชน์ชราภาพภายใต้กองทุนประกันสังคม

กองทุนการออมแห่งชาติ

กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

เมื่อพิจารณาโดยยึดคนเป็นศูนย์กลาง ระบบบำนาญฯ ที่เป็นอยู่มีลักษณะคล้ายปิ่นโตประชาชนคนหนึ่งมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากหลายระบบพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น ข้าราชการบำนาญอาจจะได้รับบำเหน็จบำนาญกับเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ลูกจ้างบริษัทเอกชนได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและสิทธิประโยชน์ชราภาพจากกองทุนประกันสังคม

 

ขณะเดียวกัน ลูกจ้างบางคนอาจได้รับเงินเพิ่มเติมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเนื่องจากนายจ้างได้จัดตั้งขึ้น ประชากรกลุ่มแรงงานนอกระบบได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และหากสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติหรือกองทุนประกันสังคมภาคสมัครใจ ก็จะมีหลักประกันเพิ่มเติม นอกจากนี้ ผู้สูงอายุบางคนอาจได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุรายได้น้อย

 

เมื่อมาถึง ประเด็นชวนคิด คือ ประเทศไทยมีระบบบำนาญฯ ต่าง มากมายก็จริง เมื่อประชาชนเข้าสู่วัยชราภาพและนำจิ๊กซอว์เหล่านี้มาประกอบกัน คำถามคือ ระบบบำนาญฯ ที่มีอยู่ได้สร้างหลักประกันที่มั่นคงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุไทยได้จริงหรือไม่ สังคมไทยขาดกลไกบูรณาการที่ดูภาพรวมของระบบและให้คำตอบกับเรื่องนี้

 

ข้อเสนอที่มีอยู่ในปัจจุบันกำลังให้น้ำหนักไปที่การให้มีบำนาญเพื่อผู้สูงอายุในปัจจุบันโดยรัฐจัดสรรแต่ต้องไม่ลืมว่า สังคมไทยยังมีผู้สูงอายุในอนาคตที่ต้องให้ความสำคัญด้วย บางคนกำลังจะเรียนจบ บางคนเริ่มทำงาน บางคนเริ่มสร้างครอบครัว บางคนอยู่ในวัยกลางคน ฯลฯ ถ้าตอนนี้เขามีอายุ 20 ปี เขามีเวลาถึง 45 ปีเพื่อสร้างหลักประกัน

 

.ดร.วรเวศม์ ได้สรุปเอาไว้ว่า บัดนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสังคมไทยในการค้นหาแนวทางอื่น เพิ่มเติมเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง ระหว่างผู้สูงอายุในปัจจุบัน กับผู้สูงอายุในอนาคตโดยการประนีประนอมเชิงนโยบาย ระหว่างการสร้างหลักประกันยามชราภาพเพื่อผู้สูงอายุในปัจจุบันที่เน้นวิธีการแบบรัฐจัดสรร กับการผลักดันให้เกิดระบบบำนาญฯ แบบมีส่วนร่วมเพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคงให้กับผู้สูงอายุในอนาคต ข้อเสนอที่ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุทั้งสองกลุ่มไปพร้อมกันนับเป็นความท้าทายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

 

ที่มา: https://www.pier.or.th/abridged/2023/09/

 18 เมษายน 2566